นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ยังคงยืนยันเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญครบทั้ง 3 จังหวัด ในวันพฤหัสบดีที่ 16 ม.ค.68
ถือเป็นการลงสัมผัสดินแดนปลายด้ามขวานเป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำประเทศ
ตามข่าวจะเป็นการลงพื้นที่พร้อมกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
การลงพื้นที่หนนี้ถูกจับตามากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะนายกฯแพทองธาร ยังไม่เคยแวะชายแดนใต้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ไปมาเลเซียมาแล้ว ทว่าสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงนี้ กำลังดุเดือดร้อนแรง
เฉพาะสัปดาห์เดียวกับที่นายกฯจะลงพื้นที่ (วันพฤหัสฯ) ในวันจันทร์ มีเหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์ ใกล้กับโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี, วันอังคาร ระเบิดและยิงซ้ำครู ตชด.สองพ่อลูก ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเร่งก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในห้วงก่อนนายกฯลงพื้นที่หรือไม่
@@ โลกพลิกตัว กระแสอิสลามอ่อนแรง BRN อ่อนตาม
ครูประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า ความเคลื่อนไหวของผู้นำไทย มีผลน้อยมากต่อการเร่งก่อเหตุของ BRN
แต่อาจารย์ให้น้ำหนักไปที่สถานการณ์โลกที่ไม่เกื้อหนุนกับเป้าหมายสุดท้ายเรื่องการปลดปล่อยปัตตานีของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากกว่า
“สถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายปัจจัย ทั้งสถานการณ์ในระดับสากล สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มว่ารัฐเซียจะได้รับชัยชนะ ยูเครนอาจจะถูกลอยแพในยุคทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะยุโรปเกือบทุกประเทศไม่มีศักยภาพพอที่จะหนุนยูเครนต่อไป บทบาทชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีไม่มากและไม่โดดเด่น”
“อีกปัจจัยคือสงครามในตะวันออกกลาง ศักยภาพของโลกมุสลิมอ่อนลงมาก ไม่อาจหนุนบทบาท BRN ในประเทศได้มากนัก โอกาสยกระดับสู่สากลของ BRN จึงชะงักและลดน้อยลง”
“ส่วนปัจจัยในประเทศ รัฐบาลนี้อาจอยู่ได้ตลอดสมัย กำลังของกลุ่มต้านเดิมๆ ล้วนอยู่ในช่วงขาลง ประเด็นที่นำเสนอต่อสังคมไม่แหลมคม ปลุกม๊อบไม่ได้ ประกอบกับเศรษฐกิจในปี 2568 ทำท่าจะกระเตื้องขึ้นจากการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกดูจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงส่งผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน่าสนใจ”
@@ ไทย-มาเลยจับมือแน่น BRN ส่อต้องยุติบทบาท
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ ครูประสิทธิ์ ให้น้ำหนัก คือ ท่าทีของรัฐบาลไทยกับมาเลเซียที่ร่วมมือกันกระชับแน่น ในยุคนายกฯอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลย์
“รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียมีสัญญาณร่วมมือกันมากขึ้นในการคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ปฏิบัติโยนหินถามทาง ผู้นำ BRN มีแนวโน้มยอมรับโดยวิธีการเมืองและยุติบทบาท ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแนวแก้ปัญหาแบบนโยบาย 66/23 สมัยพลเอกเปรม และพลเอกชวลิต ที่ใช้แก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ผลมาแล้ว”
ส่วนสถานการณ์ที่ดูรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ ครูประสิทธิ์ มองว่า อาจเกิดขึ้นแบบพอเป็นพิธี ไม่ได้มีนัยหรือเงื่อนไขใหม่เพิ่ม ระเบิดลงจึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยนายกฯแพทองธาร
@@ ชาวบ้าน-ทหาร เชื่อไม่เกี่ยว “แพทองธาร” ลงพื้นที่
นางสาว ตอฮีหมะ อาแซ ชาวจังหวัดนราธิวาส แสดงทัศนะจากที่อยู่ในพื้นที่มาตลอดว่า เหตุร้ายช่วงนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่นายกฯจะลงพื้นที่ เพราะกลุ่มที่ก่อเหตุมีเป้าหมายของตนชัดเจน แน่นอนว่าชาวบ้านทุกอยากให้สงบ แต่เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว ทำให้ปัญหาไม่จบ
ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง มองว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง อาจกระทบกับขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติ อาจทำให้เจ้าหน้าที่หมดกำลังใจ และหย่อนยานลงบางส่วน ทำให้เกิดช่องว่างให้คนร้ายก่อหตุได้ ฉะนั้นเหตุผลของสถานการณ์จึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่นายกฯแพทองธาร จะลงพื้นที่