ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนเต็ม นับจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งนักบริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย (ระดับ 10) จำนวน 25 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาด้วย
ทว่าหลังจากนั้นเพียงวันเดียว ในพื้นที่ จ.สงขลา ก็พบการแขวนป้ายผ้าปริศนา มีข้อความโจมตี นายโชตินรินทร์
แต่ก็น่าแปลกที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวแล้วก็เงียบหายไป แถมจับมือใครดมไม่ได้ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบที่มาที่ไปของการแขวนป้ายผ้าโจมตีว่าเป็นฝีมือของใคร ยังคงเป็นความลับดำมืดอยู่จนทุกวันนี้
ขณะที่ นายโชตินรินทร์ ปัจจุปันยังคงดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับแต่งตั้งให้ไปรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายด้วย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 เพื่อทำหน้าที่ผู้นำในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจาก “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ไม่พอใจการทำงานของผู้ว่าฯคนเก่า ซึ่งขณะเกิดเหตุกำลังจะเกษียณอายุราชการ
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่าที่ผู้ว่าราชการสงขลาคนใหม่ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะป้ายผ้าต้อนรับในแนวลบ และเหตุใดจึงยังไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่พ่อเมืองสงขลาเสียที
@@ การจัดการกับสถานการณ์ในพื้นที่ จ.เชียงราย ขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ในส่วนของการจัดการในภาวะฉุกเฉินซึ่งเป็นแผนเร่งด่วน ผมได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1-21 ต.ค.67 ซึ่งเป็นแผนที่ผมเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ท่านรองฯภูมิธรรม (นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) และท่านรองฯอนุทิน อันนี้เราปฏิบัติการเรียบร้อยหมดแล้วในแผนระยะที่ 1 ในเรื่องการจัดการเร่งด่วนฉุกเฉินที่เราเรียกว่า “Quick Win”
ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูพวกสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ แล้วก็ระบบประปาภูเขา รวมทั้งสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยในระยะที่ 2 เราได้เสนอโครงการไปยังรัฐบาล เพื่อที่จะขอใช้งบประมาณเร่งด่วนมาฟื้นฟูคืนสู่สภาพปกติให้กับพื้นที่จังหวัดเชียงราย
สำหรับสถานการณ์ในการคืนสภาพพื้นที่ในระยะแรก เราใช้คำว่า “ฟื้นฟูกู้พื้นที่” นิยามก็คือ ต้องทำให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าไปดำรงชีพปกติในสถานที่บ้านเรือนเคหสถานได้ โดยส่วนนี้เราดำเนินการไป 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
@@ จะได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตามมติ ครม.เมื่อไหร่?
ในส่วนของการไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ต้องรอทางกระทรวงมหาดไทย เพราะอันนี้เป็นไปตามขั้นตอนปกติตามระเบียบอยู่แล้ว อันนี้ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะแจ้งมา โดยปกติก็ประมาณสักเดือนกว่าๆ หลังจากมีมติ ครม.
@@ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่?
อันนี้เป็นไปตามมติ ครม.อยู่แล้ว แต่ต้องรออีกระยะหนึ่ง เพราะเป็นขั้นตอนปกติที่ทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องดำเนินการ
@@ กรณีเรื่องป้ายผ้าที่มีข้อความโจมตีท่านในพื้นที่สงขลา...
ผมไม่ทราบเรื่องพวกนี้เลย เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยทำงานในพื้นที่ จ.สงขลา แต่ที่สำคัญผมเคยเรียนหนังสือที่หาดใหญ่ (อำเภอเศรษฐกิจสำคัญของสงขลา และภาคใต้ตอนล่าง) เพราะฉะนั้นการทำข้อมูลพวกนี้มันก็ควรจะมีข้อมูลเชิงลึก ไม่ใช่รับงานมาทำ ก็อยากจะบอกคนที่อยู่ในพื้นที่ว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เป็นการรับงานใครมาทำหรือไม่ ก็อยากจะให้สื่อมวลชนได้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย
จ.สงขลา ผมไม่เคยอยู่ ไม่เคยทำงาน แต่พื้นที่ที่ผมอยู่มันติดกับ จ.สงขลา เพราะว่าพื้นที่ จ.สงขลา อยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
โดยสงขลา 16 อำเภอ อยู่ในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาถึง 12 อำเภอเชื่อมโยงกับบ้านผมอยู่แล้ว เพราะบ้านผมอยู่ในลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในฝั่งอ่าวไทย เพราะเทศบาลเมืองปากพนังมีก่อนเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชด้วยซ้ำ ก็น่าจะรู้ในเรื่องอารยธรรมของลุ่มน้ำและความเจริญของแถบฝั่งอ่าวไทยเหล่านี้
การกระทำแบบนี้ (แขวนป้ายผ้าโจมตี) ผมมองว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่รู้เรื่องในการพัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรือง ผมไม่ทราบว่ามันเป็นอย่างไรกับข้อมูลตรงนี้
@@ ท่านมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ จ.สงขลา อย่างไรบ้าง?
เรื่องการทำงานขณะนี้ในรายละเอียด ผมคงจะไม่พูดถึงว่าจะทำอะไร แต่ผมขอพูดในฐานะที่ผมเป็นรองปลัดกระทรวง และผมเป็นคนในพื้นที่ภาคใต้ ผมมองว่าพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 20–30 ปีที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่ามีการพัฒนามาตลอด
เรื่องแรกก็คือ ด้านเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จริงๆ แล้ว จ.สงขลาในอดีตก็เป็นเมืองท่าที่สำคัญในการค้าขายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทุกวันนี้มันเพิ่มกิจกรรมขึ้นมาในเรื่องของการท่องเที่ยวและการผลิตขึ้นมาด้วย
ดังนั้น จ.สงขลา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 เป็นเมืองที่รุ่งเรืองในทางการค้าและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับสยามมายาวนานอยู่แล้ว
เรื่องที่ 2 ที่ผมมองคือ เรื่องสังคมคุณภาพ คนพื้นที่ลุ่มน้ำเขามีความรุ่งเรืองและมีอารยธรรมอยู่แล้ว ฉะนั้นสังคมจะต้องพัฒนาให้มีศักยภาพต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่จะต้องทำใน จ.สงขลา
เรื่องที่ 3 ก็คือความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการพัฒนา อย่างที่บอกว่าสงขลามีพื้นที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำถึง 12 อำเภอจาก 16 อำเภอ ถือว่ามีฐานทรัพยากรที่สำคัญ
นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่มีพื้นที่ทั้งในส่วนของทะเลสาบและทะเลหลวง น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีฐานทรัพยากรที่แข็งแกร่ง สามารถทำในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวให้เกิดความแตกต่างได้
เรื่องสุดท้ายที่เราจะขาดไม่ได้ ก็คือเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำ ความเจริญของลุ่มน้ำในอดีตจะต้องควบคู่ไปกับเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน อันนี้คือสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งผมมองว่า น่าจะมี 4 เรื่องหลักๆ
@@ อยากให้ท่านเล่าถึงการบริหารงานของในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนหน้านี้
อย่างพื้นที่ จ.ชุมพร ซึ่งมีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตรประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ การท่องเที่ยว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ และการค้าและการบริการอีกประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีใครรู้ว่า จ.ชุมพร เป็นจังหวัดที่ส่งออกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย เพราะว่าเราบรรจุทุเรียนกันที่ชุมพร ทั้งหมดอยู่ที่ 600,000 ตัน โดยมาจากพื้นที่ 15 จังหวัด (14 จังหวัดภาคใต้ + ประจวบคีรีขันธ์) ใน 600,000 ตันนี้ก็จะเป็นทุเรียนของชุมพร อยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน ก็คือครึ่งหนึ่ง
ในช่วงที่ปี 64-65 ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในภาคใต้ อยู่ที่ประมาณ 2.7 แสนต่อหัวต่อปี อันนี้คือรายได้ของประชาชน แล้วก็เป็นโชคดีเพราะว่าช่วงนั้นเป็นปีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ของจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เราเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่อปีสูงที่สุด
ภาคการเกษตรในพื้นที่สำคัญของชุมพร มีไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ จะเห็นว่าพืชหลักของเรา 4 ตัวเรามีรายได้สูงทั้งหมดเลย แต่สิ่งที่เราขับเคลื่อนให้ จ.ชุมพรดำเนินการก็คือ “1 ลด 2 เพิ่ม”
1 ลดคือลดการใช้สารเคมีทั้งหมดที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร, 2 เพิ่มก็คือให้พี่น้องประชาชนเพิ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และก็เพิ่มในเรื่องของพื้นที่ปลอดภัยของสินค้าเกษตร ก็คือ “1 ครัวเรือน 1 เกษตรกร” ที่มีแปลงเกษตรที่เป็นเกษตรปลอดภัย คือเกษตรปลอดสารพิษ อันนี้เป็นตัวอย่าง
จากการดำเนินการ ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าเกษตร จากที่ขายเป็นสินค้าทั่วไปก็จะการเป็นการขายสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะว่าเราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและมีความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะกาแฟที่ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงใน จ.ชุมพร แต่ว่ารายได้จากการขายกาแฟ แค่ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ทุเรียนที่คนแทบจะไม่รู้จักเลยว่ามีใน จ.ชุมพร กลับสร้างรายได้ปีหนึ่งประมาณ 56,000 ล้านบาท ซึ่งต่างกันมาก แต่ทุเรียนทั้งหมดเป็นการส่งขายต่างประเทศถึง 99 เปอร์เซ็นต์
@@ ท่านอยากฝากอะไรถึงประชาชนในพื้นที่ จ.สงขลา บ้าง?
ตอนนี้คงยัง เพราะตามธรรมเนียมของกระทรวงมหาดไทย หากยังไม่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ยังไม่มีประเด็นใดที่จะขับเคลื่อน แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือว่า ระบบราชการมีระเบียบในการบริหารอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่ง แต่ว่ามีผู้รักษาการ ก็ขอฝากไว้แค่นั้น เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนตามระบบราชการ แต่ถ้าได้เดินทางเข้าไปทำงานเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน