กางรัฐธรรมนูญ ม.125 วรรคท้าย เปิดช่องดำเนินคดี สส.-สว.ได้ แม้อยู่ในสมัยประชุมสภา “พ.ต.อ.ทวี” เล่นบทเข้ม ประกาศกร้าวคดีตากใบ ศาลออกหมายจับแล้ว ตำรวจจับกุมได้เลย แม้จำเลยเป็น สส. ไม่ต้องขออนุญาตสภา แค่ไม่ให้ขัดขวางการประชุม ให้ประกันตัวก็จบ ย้ำอายุความนับหนึ่งใหม่
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 125 วรรคท้าย อาจทำให้คดีตากใบเดินหน้าได้ เพราะมีการมองกันว่าเปิดช่องให้เจ้าพนักงานติดตามจับกุมตัวสมาชิกรัฐสภาที่ถูกฟ้องร้อง ไปดำเนินคดีได้ แม้อยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภา กฎหมายมีเงื่อนไขเพียงแค่ไม่ให้ส่งผลขัดขวางการประชุมเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับจำเลยในคดีตากใบ 6 คน ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 และออกหมายเรียก พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากทั้งหมดไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลในวันสอบคำให้การ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 แต่กรณีของ พล.อ.พิศาล มีเอกสิทธิ์ สส. ระหว่างอยู่ในสมัยประชุม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าคดีอาจขาดอายุความ เพราะใกล้จะครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ นับจากวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งเป็นวันเกิดโศกนาฏกรรมตากใบ
@@ เปิด รธน.มาตรา 125 วรรคท้าย
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่ถูกมองว่าน่าจะสามารถนำมาใช้ปลดล็อกปัญหานี้ บัญญัติว่า
“ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด
ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และเพื่อประโยชน์ในการประชุมสภา ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับเพื่อให้มาประชุมสภาได้
ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ โดยศาลจะสั่งให้มีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา”
มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคท้าย มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากที่เคยบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ กล่าวคือ แม้เอกสิทธิ์ในการไม่ต้องถูกจับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกรัฐสภาไปดำเนินคดีอาญาระหว่างสมัยประชุมจะยังคงอยู่ แต่รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้ หากศาลใช้อำนาจในการดำเนินคดี แม้ในระหวางสมัยประชุม เพียงแต่ต้องไม่ขัดขวางการประชุมของสมาชิกรัฐสภารายนั้นเท่านั้นเอง
@@ “ทวี” ไขปม “จับกุมได้ ไม่ต้องขอสภา”
ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาขยายความในเรื่องนี้ โดยบอกว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีข้อแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยระบุว่าอำนาจของศาล หากจะจับกุมใครเพื่อไปดำเนินคดี ไม่ต้องขออนุญาตรัฐสภา ซึ่งกรณีที่ประชาชนฟ้องเอง ไม่ว่าผู้ถูกฟ้องจะ สส. หรือ สว. ศาลมีอำนาจออกหมายจับดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภา แต่มีเขียนไว้อยู่ช่วงหนึ่งในเรื่องของการประสานงาน ว่าต้องไม่เป็นการขัดขวางการประชุมสภา ดังนั้นคดีตากใบ ถ้าศาลออกหมายจับมา ซึ่งปกติศาลต้องส่งไปให้ตำรวจจับกุม
ส่วนปัจจุบันที่ยังเป็นช่วงเปิดสมัยประชุมนั้น ถือว่าไม่เกี่ยวกัน ตำรวจมีอำนาจเต็ม ดังนั้นอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุชัดว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตสภา แต่ศาลจะมีการประสานงานว่าตรงกับสมัยประชุมหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ขัดขวางการประชุม หากพูดทำนองนี้ก็คือการให้ประกัน
เมื่อถามว่า หากตำรวจไม่จับกุมก่อนที่คดีจะหมดอายุความ คดีก็จะสิ้นสภาพไปอัตโนมัติใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ศาลต้องทำ ซึ่งปัจจุบันได้ออกหมายจับมาแล้ว
@@ เงื่อนไขแค่ไม่ขัดขวางการประชุม - แนะให้ประกัน
เมื่อถามว่าวันไหนที่ไม่มีประชุมสภา สามารถจับกุมได้เลยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถ้ามีหมายจับก็ต้องจับกุม เพียงแต่ว่าต้องมีการประสานงานไม่ให้ขัดขวางการประชุม เช่น ไปปรากฏตัวต่อศาล ก็จะให้ประกันตัว
“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทุกองค์กรต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมายและการปฏิบัติจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจศาลเด็ดขาด สามารถดำเนินคดีได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว แต่ก็ย้ำว่า สำหรับผู้ที่ถูกยื่นฟ้องตกเป็นจำเลย หากศาลยังไม่ตัดสิน ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
@@ อายุความนับหนึ่งใหม่ - ลั่นติดตามใกล้ชิด
สำหรับคดีตากใบ เมื่อคดีไปถึงศาล การนับอายุความก็เลิกแล้ว เท่ากับเป็นการนับหนึ่งใหม่ แต่ต้องได้ตัวจำเลยไปฟ้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้มีอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็น สส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยที่ 1 มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแสดงความรับผิดชอบในการไปสู้คดี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในขณะเกิดเหตุเขาไม่ได้เป็น สส. แต่ตอนนี้หากมีหมายศาลให้จับกุม ไม่ว่าเป็นใคร ตำรวจก็ต้องจับกุม ซึ่งรัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ต้องติดตาม
@@ รธน.แบ่งเขตอำนาจชัด “นิติบัญญัติ - ตุลาการ”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีตากใบมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 แบ่งอำนาจชัดเจนระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ กับตุลาการ ในมาตรา 125 วรรคท้าย ระบุไว้ชัด ถ้าเป็นจำเลยที่ศาลรับฟ้องแล้ว ย่อมเป็นอำนาจศาลที่จะสามารถดำเนินคดีได้อย่างอิสระ แต่ก็มีข้อแม้ไม่ให้ขัดขวางการประชุมสภาเท่านั้น เงื่อนไขมีเท่านี้