ฝุ่นตลบการเมืองภายในของไทย ทำให้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราไม่ได้ให้ความสนใจกับปัญหาในเมียนมา เพื่อนบ้านสนิทชิดใกล้มากที่สุด และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนานที่สุดของเรา
ทั้งๆ ที่ปัญหาในเมียนมา และปลายทางของปัญหา กระทบกับไทยแบบสุดๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข่าวคราว “พม่าเสียเมือง - ชนกลุ่มน้อยแข็งเมือง - จีนแผ่อิทธิพลค้ำ” เงียบหายไปบ้าง
แต่ รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเกาะติดความเคลื่อนไหวในเมียนมาอย่างใกล้ชิด นำเสนออีกหนึ่งมิติของปัญหาผ่านบทความชิ้นนี้ เพื่อสะท้อนว่า ดับไฟสงครามกลางเมืองเมียนมา...ไม่ง่ายจริงๆ
@@ การทูตเชิงภัยพิบัติกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในสงครามกลางเมืองเมียนมา?
สภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นหลากหลายในโลกปัจจุบัน ทั้งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาวต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์แล้ว หากปรับเปลี่ยนวิธีคิดในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็สามารถที่จะพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสได้
โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางด้านการทูตเพื่อทำให้วิกฤตและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา กลายเป็นสิ่งบรรเทาความเสียหาย รวมตลอดถึงสิ่งที่อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
ประเด็นการทูตเชิงภัยพิบัติ ซึ่งมี lan Kelman เป็นผู้จุดประกายคนสำคัญผ่านงานเขียนที่มีชื่อว่า Disaster Diplomacy: How Disasters Affect Peace and Conflict สาระสำคัญที่งานดังกล่าวต้องการนำเสนอนั่นก็คือ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์นั้น มีอิทธิพลสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จนกระทั่งอาจกลายเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญที่ทำให้ทุกตัวละครในความขัดแย้งหันมาร่วมมือ แก้ไขปัญหา และอาจจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
หากพูดให้เข้าใจสาระนัยสำคัญอย่างง่ายก็คือ ในขณะเกิดภัยพิบัติ จะกลายเป็นโอกาสสำคัญในเชิงการทูต โดยเฉพาะการทำให้กลุ่มประเทศหรือกลุ่มในความขัดแย้งหันมาร่วมมือกันแทนที่จะใช้กลไกทางด้านสงครามประหัตประหารซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟูบูรณะ สาธารณูปโภค รวมตลอดถึงการพยายามสร้างกลไกในการพูดคุยการเจรจา ซึ่งก่อนการเกิดภัยพิบัติอาจจะหาโอกาสหรือจังหวะที่จะพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ยาก
คำถามที่น่าสนใจนั่นก็คือ วิธีคิดหรือการนำเสนอในรูปแบบดังกล่าวนี้ สามารถนำมาพิจารณาสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้หรือไม่ หรือหากทำได้ มีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด?
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แม้ว่าในห้วงปี 2008 ที่เมียนมายังถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร เกิดภัยพิบัติจากพายุ ความพยายามของนานาประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นไปได้อย่างจำกัด ซึ่งรัฐบาลทหารได้ปฏิเสธความช่วยเหลือ และยังได้สร้างข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ด้วย
อาจจะกล่าวได้ว่า ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น กลับไม่ได้มีผลกระทบ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้นานาอารยประเทศเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเอง หรือแม้กระทั่งพยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทุกตัวละคร
กรณีดังกล่าวนี้ ยังพบได้อีกในกรณีของวิกฤตโรฮิงญา ในห้วงปี 2017 ซึ่งเกิดการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จนส่งผลให้เกิดการบีบบังคับให้พลเรือนหลบหนีและเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศเป็นจำนวนกว่า 700,000 คน
การให้ความช่วยเหลือในเชิงการทูตในพื้นที่ของโรฮิงญาในรัฐอาระกัน กลับเป็นไปได้อย่างจำกัด ในทางตรงกันข้าม การใช้ข้ออ้างเรื่องกิจการภายในกลับกลายเป็นกำแพงขวางกั้นในเชิงการทูตที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
และหากเทียบเคียงกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะใกล้นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ภายหลังที่เกิดจากการรัฐประหาร การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ภัยพิบัติอันเกิดจากสงครามปฏิวัติทั้งประเทศ กลับกลายเป็นช่องว่างทำให้การใช้เครื่องมือทางด้านมนุษยธรรมตอบโจทย์ความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยเฉพาะ เปิดโอกาสให้มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่เป็นฝ่ายมวลชนของกองทัพ
แม้ว่ากรณีประเทศไทยเอง จะพยายามเปิดช่องทางชายแดนให้มีความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งจะต้องยอมรับเช่นกันว่า ในขณะที่มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมนั้น ก็ยังมีการช่วงชิงความได้เปรียบในการเข้าถึงเขตควบคุมพื้นที่ทางด้านยุทธศาสตร์โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ในห้วงระยะเวลากรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพายุฝนและก่อให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในหลากหลายพื้นที่ กลับไม่พบข้อมูลที่มีความชัดเจนมากนักว่า การให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนในของประเทศเมียนมา ซึ่งกำลังประสบสภาวะสงคราม แต่ในบริเวณชายแดนก็ยังพบเห็นบทบาทของภาคประชาสังคม แม้ว่าจะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก แต่ยังคงทำงานให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง
คำว่า “การทูตในเชิงภัยพิบัติ” นั้นจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยการทำให้ภัยพิบัติกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง และการกลายเป็นช่องทางในการแสวงหาโอกาสที่หลากหลาย อาจจะกล่าวได้ว่า หากใช้ในแง่มุมกุศโลบายด้านบวก ก็สามารถที่จะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความไว้วางใจหรือการเจรจาในการแก้ไขปัญหาในอนาคต
แต่ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองเมียนมาในปัจจุบัน การทูตเชิงภัยพิบัติก็ถูกใช้ในเชิงลบ โดยเฉพาะการช่วงชิงความได้เปรียบ/เสียเปรียบต่อยุทธศาสตร์ทางด้านการทหาร
กล่าวได้ว่า ข้อจำกัดประการหนึ่งของเมียนมาในปัจจุบัน ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม นอกจากที่จะต้องกล่าวถึงปัญหาของกองทัพเองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของ “ลัทธิขยายดินแดน” จากทุกตัวละครและกองกำลัง รวมทั้งการขับเคลื่อนอิทธิพลดังกล่าวด้วย “อุดมการณ์ชาตินิยมแบบคับแคบ” โดยเฉพาะการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า “หนึ่งพื้นที่จะต้องถูกควบคุมโดยหนึ่งเชื้อชาติและหนึ่งกองกำลัง”เท่านั้น
การใช้หนทางหรือจังหวะโอกาสในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองซึ่งถือว่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในกรณีของเมียนมานั้น จึงมีโอกาสน้อยหรือเป็นไปแทบไม่ได้เลย หากไม่ก้าวข้ามกำแพงที่มนุษย์เป็นปัญหาเสียเอง!