“พ.ต.อ.ทวี” แถลงใหญ่ บูรณาการความร่วมมือ “ยธ.-กยศ.-ศอ.บต.” ระดมจัด ”มหกรรมแก้หนี้ 4 จังหวัดชายแดนใต้” หลังลูกหนี้รอคิวกว่า 2 แสนราย เพิ่งปรับโครงสร้างหนี้ได้สูงสุดแค่จังหวัดละ 2,000 คน ทั้งๆ ที่มี “นาทีทอง” ปลดผู้ค้ำ คำนวณยอดหนี้ใหม่ แถมมีสิทธิได้เงินคืน
เมื่อวันอังคารที่ 13 ส.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรี, นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมคณะผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม (สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี ร่วมกับ กยศ. ได้จัดงาน "มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม" ไปแล้วมากกว่า 50 จังหวัด พบอุปสรรคปัญหาหนี้ในแต่ละจังหวัดมีจำนวนลูกหนี้ กยศ.ลงทะเบียนเกินคาด จากเดิมเฉลี่ย 800 คน ทยอยเพิ่มขึ้นแตะ 2,000 คน กระทั่งล่าสุดที่ จ.นราธิวาส มีลูกหนี้ กยศ.มาลงทะเบียนกว่า 5,000 คน
ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดกับการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชน เพื่อ "ลดภาระหนี้" ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ก็ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาท ส่วนกรมบังคับคดีก็มีข้อมูลว่า หนี้บังคับคดีมีมากถึง 17 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมคดีล้มละลายและอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริง
ส่วนหนี้ กยศ. ที่เป็นหนี้ของคนวัยทำงาน คนที่เรียนจบการศึกษา อยู่ในช่วงของการสร้างตัว สร้างครอบครัว เมื่อมีการแก้กฎหมาย กยศ.เมื่อปี 2566 พบว่า จะส่งผลกับการลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ กยศ. ซึ่งรวมๆ แล้วประมาณ 6.8 ล้านราย แต่อยู่ในกลุ่มที่ต้องมาใช้หนี้ประมาณ 3.5 -3.6 ล้านราย ในกฎหมายใหม่การลดภาระก็คือ ดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับเดิมที่สูง 18 กว่าเปอร์เซ็นต์ จะเหลือแค่ 1.5 เปอร์เซ็นต์
และเดิมดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับเวลาใช้หนี้ต้องไปใช้เบี้ยปรับก่อนดอกเบี้ย แล้วถึงจะไปตัดเงินต้น แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้เงินก้อนที่ชำระไปแล้ว จะนำไปใช้เป็นเงินต้น ก็จะทำให้เกิดการลดหนี้ลง ซึ่ง กยศ.ได้ลองคิดตัวเลขไว้ ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท
หากเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ จะปลดผู้ค้ำประกันทันที ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และจะได้รับการคำนวณยอดหนี้ใหม่ บางรายอาจได้เงินคืน หรือถ้ายังมีหนี้เลือก ก็ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระได้ เรียกว่าการ “ลดภาระหนี้” อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา) พบปัญหาคือ ยังมีลูกหนี้รอปรับโครงสร้างหนี้อีกจำนวนมาก ซึ่งรวมแล้วมีลูกหนี้ กยศ.ที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้อีก 215,513 ราย ยกตัวอย่าง จ.นราธิวาส มียอดหนี้ กยศ.ประมาณ 6.7 พันล้านบาท ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 2,000 คน ยังเหลืออีกมากกว่า 55,000 คน
ที่ผ่านมาแผนการจัดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีความเป็นธรรม ในแต่ละพื้นที่ กำหนดไว้เพียง 1 วัน ทำให้ไม่สามารถรองรับกับความต้องการของลูกหนี้ กยศ.ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนจึงมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดในพื้นที่ จับมือกับ กยศ.ร่วมกันจัดงานใน จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา เพิ่มเติมดังนี้
จ.สงขลา จัดงานครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งมีลูกหนี้ กยศ. เข้าเกณฑ์ปรับโครงสร้างทั้งสิ้น 79,458 คน แต่การจัดงานครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. มีลูกหนี้ กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้แล้วเพียง 1,943 คน คงเหลือ 77,645 คน
จ.ปัตตานี จัดงานวันที่ 18-19 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการจัดงานครั้งแรก มีลูกหนี้ กยศ.เข้าเกณฑ์ปรับโครงสร้างทั้งสิ้น 45,372 คน
จ.นราธิวาส จัดงานครั้งที่ 2 วันที่ 17-19 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีลูกหนี้ กยศ.เข้าเกณฑ์ปรับโครงสร้าง 57,313 คน โดยการจัดงานครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. มีลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้แล้วเพียง 2,153 คน คงเหลือ 55,160 คน
จ.ยะลา จัดงานครั้งที่ 2 วันที่ 11-12 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีลูกหนี้ กยศ.เข้าเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ 35,366 คน โดยการจัดงานครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. มีลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วเพียง 1,030 คน คงเหลือ 34,336 คน
"การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นมหกรรมแก้หนี้ครั้งใหญ่เพื่อลดภาระหนี้ให้คนหนุ่มสาว จะได้มีพลังไปสร้างเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารเวลา หากยังเหลือลูกหนี้อีกจำนวนมาก อาจต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารเวลา โดยให้ ศอ.บต., กรมบังคับคดี หรือยุติธรรมจังหวัด รับมอบอำนาจจาก กยศ.เป็นตัวแทนในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนในฐานะเป็น สส.ในพื้นที่ ได้รับการร้องเรียนจากลูกหนี้ กยศ.เป็นจำนวนมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน การจัดมหกรรมแก้หนี้ฯ ถือเป็นแนวทางที่ดี จะทำให้มีการปรับลดภาระหนี้ เกิดประโยชน์กับประชาชนที่เป็นหนี้ กยศ.ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ แต่ปัญหาคือความต้องการปรับโครงสร้างหนี้ยังมีจำนวนมาก มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างระบบการเข้าชื่อเป็นคิวเพื่อนัดหมายเข้าปรับโครงสร้างหนี้ เช่น วันละ 1,000 รายต่อเนื่องไป
ขณะที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า "ความยากจน" ถือเป็นเรื่องสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และต่อการโอกาสในการทำงาน สร้างรายได้ ซึ่งจะมีการหารือกับ กยศ.เพื่อเตรียมจัดการเรื่องนี้ให้เห็นผลโดยเร็ว