นราธิวาสเป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่มีตัวแทนกลุ่มอาชีพของตนหลุดเข้าไปเป็น “ว่าที่ สว.” เลยแม้แต่คนเดียว
และเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ตกอยู่ในสภาพนี้
ส่วนยะลา กับปัตตานี มีตัวแทนกลุ่มอาชีพผ่านเข้าไปเป็น “ว่าที่ สว.” ได้ 3 คนกับ 2 คนตามลำดับ
แต่ “สว.ป้ายแดง” ที่เคยผ่านงานชายแดนใต้กลับมีอยู่หลายคน แม้จะไม่ได้มีภูมิลำเนาในสามจังหวัด และไม่ได้เป็นผู้สมัครที่ผ่านการเลือกในระดับอำเภอ และจังหวัดจากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็ตาม
3 ชื่อที่เอ่ยขึ้นมาแล้วใครก็รู้จักว่าเคยผ่านงานชายแดนใต้ คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ “แม่ทัพเกรียง” อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คนดัง เคยมีวีรกรรม ฮ.ตก แต่รอดตาย และยังขยันทำงานแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แม้เป็นช่วงพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
“แม่ทัพเกรียง” ตีตั๋ว สว.จากบ้านเกิด “เมืองคนดี” สุราษฎร์ธานี ชีวิตราชการเติบโตในภาคใต้ และกองทัพภาคที่ 4 มาตลอด กระทั่งขึ้นเป็นแม่ทัพ จัดเป็นแม่ทัพสายบู๊ ถึงลูกถึงคน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง เวลามีปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ หลายๆ ครั้งก็ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง
และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา (ตั้งแต่เป็นรองแม่ทัพ) ฝ่ายกองกำลังได้เปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้น 23 ครั้ง ยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 53 ราย
อีกคนคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมที่ปลายด้ามขวานอยู่หลายปี อีกทั้งเธอยังเป็นภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่เชื่อกันว่าถูกอุ้มหายเพราะทำคดีช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจากชายแดนใต้ด้วย
คนที่สาม คือ ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย, หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ตอนล่าง, ที่ปรึกษา กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า, เลขานุการคณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. และ อดีตกรรมาธิการกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไชยยงค์ เป็นสื่อมวลชนที่รู้ปัญหาชายแดนใต้ดีที่สุดคนหนึ่ง และเขียนคอลัมน์ทั้งในชื่อจริงและนามปากกา วิพากษ์สถานการณ์ไฟใต้อย่างตรงไปตรงมา มีแฟนคลับติดตามอ่านจำนวนไม่น้อย
ในโอกาสได้รับเลือกเป็น สว.ป้ายแดง พล.อ.เกรียงไกร กล่าวสั้นๆ กับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า “ไม่ทิ้งภาคใต้แน่นอน”
ส่วนข่าวที่ว่าอาจได้รับการสนับสนุน หรือวางตัวให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น “แม่ทัพเกรียง” เปิดใจว่า “ไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้นเลย เพราะการลงสมัคร สว. ก็ตั้งใจจะใช้ความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้น”
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร บอกว่า “ไม่ลืมภาคใต้แน่ และพร้อมรับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะทราบดีมาตลอดว่าพื้นที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน และปัญหาที่ยึดเยื้อมานานคือเรื่องของความยุติธรรม แม้จะมีการพูดคุยสันติสุข แต่ก็มีเหตุรุนแรงอยู่ แล้วก็มีข่าวการถูกยิง การตายจากผู้กระทำไม่ทราบฝ่าย”
“ทาง สส.เองก็ตั้งคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ สำหรับทาง สว. ถ้าประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะร้องเรียนมาได้ สว.ก็จะมีบทบาทในการลงไปดู ตรวจสอบทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การพัฒนา และการคุ้มครองประชาชน”
“จริงๆ ภาคใต้มีหลายเรื่องที่น่ากังวล เรื่องของการจัดกิจกรรม นักศึกษาถูกฟ้อง ก็ต้องมาดูว่าถ้าหากเงื่อนไขแบบนี้ยังมีอยู่ เราจะทำอย่างไร จริงๆ ในการกระทำผิดก็สามารถฟ้องร้องได้อยู่แล้ว แต่ว่าหลายๆ กรณีไม่สมควรฟ้องร้องด้วยซ้ำไป อาจจะต้องมาทบทวน ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาได้รับความเป็นธรรม พึ่งพารัฐได้ ไว้ใจรัฐมากขึ้น”
ขณะที่ ไชยยงค์ บอกว่า พร้อมทำงานกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน
”เราจะเน้นใช้แนวทางการทำงานแบบเชิงรุก โดยเฉพาะในมิติของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราอย่าไปมองในมิติเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว เราต้องขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเป็นหลักด้วย โดยเฉพาะมิติของความยากจน มิติปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนถูกกดทับ และประชาชนต้องแบกรับ”
“ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัด 4 อำเภอ มันยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่หน่วยงานรัฐก็พยายามแก้ เพียงแต่ยังไม่ถูกจุด ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ต้องกลับไปดูทั้งระบบในอดีตว่าทำไม่ทุกนโยบายถึงไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา”
จับสัญญาณจาก “สว.ป้ายแดง” เฉพาะเรื่องไฟใต้เรื่องเดียว ทำให้คาดการณ์ได้เลยว่า การทำงานของสภาสูง…คึกคักเข้มข้นแน่!