คดี 112 ของ นายทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์
โดยเฉพาะหลังศาลอาญาอนุญาตให้ “ปล่อยชั่วคราว” หรือให้ประกันตัวอดีตนายกฯ โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท และห้ามเดินทางไปต่างประเทศ โดยนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย 19 ส.ค.67
แม้นายทักษิณจะตัดสินใจเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยไม่หลบหนี และครั้งนี้ก็ดูจะไม่ได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ แต่เสียงสะท้อนในแง่ของการตั้งคำถาม และความสงสัยคาใจยังมีให้ได้ยิน โดยเฉพาะเรื่องดีลลับ และทิศทางการเมืองนับจากนี้ไป
ผู้นำทางความคิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็พูดคุยเรื่องนี้กันอย่างหนาหู เพราะอดีตนายกฯรายนี้ มีความหลังไม่ค่อยดีนักกับนโยบายและสถานการณ์ไฟใต้ที่ยืดเยื้อมากกว่า 20 ปี
รักชาติ สุวรรณ อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะผู้สมัคร สว.ที่ผ่านเข้าสู่ระดับประเทศ ตั้งคำถามว่า คดี 112 นายทักษิณได้ประกันตัว แล้วเด็กๆ ที่โดนเหมือนกันทำไมถึงยังอยู่ในเรือนจำ ส่วนตัวมองว่ายังมีความเอนเอียง
“บทบาทของพรรคเพื่อไทย หลังจากบริหารประเทศมาเกือบ 1 ปี ใครๆ ก็มองว่าที่ผ่านมาไม่ได้อิงกับประชาชนเท่าไหร่ คิดเพียงว่าทำอย่างไรให้นายทักษิณได้กลับมา และทำการฟอกขาวโครงการจำนำข้าว ซึ่งก็มีเจตนาแอบแฝงไม่ใช่แค่ขายข้าวค้างโกดังเท่านั้น” รักชาติ ระบุ
ขณะที่ ครูประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักวิชาการอิสระ มองว่า เรื่องนี้เดินไปตามดีลที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น
“เหตุการณ์วันที่ 18 มิ.ย.ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องลบๆ ที่พูดกัน เป็นการคาดเดาเอาเองทั้งนั้น คุณจตุพร (จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวม) และอีกหลายๆ ท่านที่เป็นนักวิเคราะห์ทั้งหลายล้วนแต่หงายท้อง เพื่อไทยก็เดินต่อไป เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม อุ๊งอิ๊งค์ก็จะได้เป็นนายกฯ และคุณทักษิณก็จะอยู่เบื้องหลังวันยังค่ำ เพราะคุณทักษิณถูกกำหนดให้เป็นตัวคานพรรคก้าวไกลของฝ่ายชนชั้นปกครอง ตามดีลที่ทำมาตั้งแต่ต้น” ครูประสิทธิ์ ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มองในมิติการเมืองของพรรคเพื่อไทยว่า หลังจากนี้เพื่อไทยจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และจะเดินหน้าทำงานเต็มที่ นโยบายใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องดีลลับ น่าจะมีจริง มิฉะนั้นคงไม่ทำตัวเหมือนรู้ล่วงหน้าเช่นนี้