ควันหลงอภิปรายงบ ’67 “วรวิทย์ บารู” ชี้แก้ไฟใต้ 20 ปี ทุ่มงบกว่า 5 แสนล้าน แต่แนวโน้นความสงบยังเลือนราง แนะผันงบความมั่นคง หันมาใช้ในงานพัฒนา ให้เอกชนนำหน้า รัฐคอยสนับสนุน น่าจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ พร้อมประหยัดเงินหลวงมากขึ้น
ผศ.วรวิทย์ บารู สส.ปัตตานี เขต 1 พรรคประชาชาติ อภิปรายถึงงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ “ทีมข่าวอิศรา” จึงนำมารายงาน เสมือนหนึ่งเป็นควันหลงศึกอภิปรายงบประมาณ
“งบแผนงานบูรณาการได้ตั้งไว้จำนวน 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้งบประมาณรายจ่ายจำนวน 6.6 พันกว่าล้านบาท ประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เป็นผู้รับงบประมาณอันนี้ ในสำนักนายกฯ ก็มีหน่วยงานย่อยๆ อีกหลายหน่วยงาน เช่นว่า ในกรมประชาสัมพันธ์ก็มีงบประมาณ 10-11 ล้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กอ.รมน. 1,500 กว่าล้าน ศอ.บต. 440 กว่าล้าน
ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีมาตลอด คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รับรู้และรับทราบตลอดมา ตั้งแต่มีความขัดแย้ง มีความรุนแรงเกิดขึ้น หน่วยงานที่พยายามจะแก้ไขตั้งแต่ต้นมี ศอ.บต. พตท.43 แล้วในปี 54 หลังจากที่ได้มี ศอ.บต. ได้มี พ.ร.บ.ขึ้นมา ซึ่งเราก็ดำเนินการเรื่อยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนถึงปัจจุบันนี้รัฐได้ใช้จ่ายไปเงินเพื่อแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากกว่า 5 แสนล้าน
แต่การมุ่งแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎีความมั่นคงนำหน้า เราก็ดำเนินการมานานพอสมควร ซึ่งผลที่ได้กับผลที่เสียไป อาจจะมีพอๆ กัน ในการแก้ปัญหาทุกครั้งใช้งบประมาณของแผ่นดินจำนวนมากมาย เช่น ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ที่นี้แนวโน้มที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและเกิดสันติภาพเกิดขึ้นก็ยังเลือนรางเต็มที จะต้องทุ่มงบประมาณอีกเท่าไหร่เราก็ไม่แน่ใจ ถ้าหากว่าเราดำเนินการในลักษณะของการเน้นหนักในเรื่องของทฤษฎีความมั่นคง มันก็คงจะมีปัญหามากมาย
เรามาพิจารณาดูว่าชายแดนภาคใต้ของไทยเรา ถ้าเราจะเปลี่ยนแนวทาง ซึ่งในงบประมาณปีนี้อาจจะไม่ทัน แต่ผมอยากเสนอแนะแนวทางต่อๆ ไป เราพลิกกลับโดยใช้กระบวนการการพัฒนา เราเปลี่ยนแปลงพื้นที่ความขัดแย้งนี้เป็นพื้นที่ของการพัฒนา เพราะว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายอย่างที่สามารถจะพัฒนาได้ มีทั้งภูเขา มีทั้งชายหาด ชายทะเล มีทั้งชายแดนที่ติดกัน ซึ่งถ้าเราทำกันจริงๆ ในลักษณะหวังผลที่จะให้เกิดการพัฒนาขึ้นที่ตรงนี้
20 ปี ที่ผ่านมาถ้าเราทุ่มขนาดนี้กับการพัฒนาโดยใช้กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีในการจูงใจ การให้ Soft Lone แก่สิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น เน้นในเรื่องเอสเอ็มอี ผมว่าแนวทางที่ใช้กระบวนการของการพัฒนาเศรษฐกิจมันน่าจะดีกว่าแนวทางที่เราจะใช้ความมั่นคง เพราะว่ายิ่งไปลึกเท่าไหร่ งบประมาณก็ใช้มากขึ้นๆ
ถ้าหากว่าเราพูดถึงที่ตั้ง จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยกายภาพมันจะอยู่ตรงกลางของอาเซียนพอดี เพราะฉะนั้นเราเอาจุดเด่นของการที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และอีกอย่างหนึ่งมีหลายรัฐบาลที่พยายามจะเลือกเอา และก็ทำจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของสินค้าฮาลาลเพื่อไปทั้งโลก แต่ทำแล้วทำอีก ความจริงใจในการที่จะทุ่ม ในการที่จะเอาสถานที่จังหวัดเหล่านี้เพื่อที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น เป็นฮาลาลโลก ก็ทำกระพร่องกระแพร่งตลอดมา จนกระทั่งเราขาดสมาธิ ขาดความตั้งใจจริงในการที่จะทำ
คนในสามจังหวัดชายแดนใต้เคยได้รับทราบว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน’ โดยเลือกเอาปัตตานี สมาร์ทฟาร์ม ส่วนยะลา-เบตง เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการค้าชายแดนที่นราธิวาส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่เวลาทำไปทำมามันก็แพ้ในเรื่องของงบประมาณในด้านความมั่นคง ซึ่งน่าเสียดายมาก
วันนี้เราเองก็ไม่อยากที่จะพูด หลายหน่วยงานที่ของบประมาณมา สร้างเสร็จแล้วมันก็ร้างกันไป มันปรากฏอยู่หลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุ่มซื้อจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารต่างๆ ที่ร้างแล้วก็ไปต่อไม่ได้ ก็ยังมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี หรือว่าในเขต อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หรืออีกหลายๆ แห่ง เพราะฉะนั้นเราลองกลับมาเพื่อที่จะในภาคเอกชนนำหน้า แล้วเราสนับสนุน
ปัตตานีมีการทำอาชีพประมงเป็น 1 ในประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่ว่าด้วยกฎไอยูยู วันนี้ก็ทำให้เส้นเลือดใหญ่เศรษฐกิจของปัตตานีขาดไป ไม่ได้รับการดูแล เกิดผลกระทบต่อผู้ทำอาชีพเกี่ยวกับการดูแลซ่อมเรือ ซ้ำบางทีประชาชนที่เอาเรือที่คิดว่าเป็นเรือประมงพื้นบ้าน แต่พอขนาด 15 ตันก็ถูกระบุเป็นเรือพาณิชย์ตามกฎหมาย ซึ่งสร้างความสำบากใจและทุกข์ยากแก่พี่น้องประชาชนที่มีอาชีพประมง สะพานปลาที่เคยรุ่งเรือง เต็มไปด้วยผู้คนที่มาใช้ทำการค้าขายปลาเหล่านี้ ส่งไปที่มหาชัยก็ดี ที่อื่นๆ ก็ดี รวมทั้งเรือประมงของมาเลย์ที่จะต้องมาขึ้นที่ตรงนี้ มันก็หายไปหมดสิ้น
เพราะฉะนั้นผมอยากที่จะเปลี่ยนจากที่การมุ่งเน้นในเรื่องของความมั่นคง หันมาดูว่าพื้นที่นี้ หันมาใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจนำหน้า น่าจะแก้ปัญหาและน่าจะเซฟงบประมาณของแผ่นดินได้มาก”