ข้อกล่าวหาที่พุ่งเข้าใส่ กอ.รมน. ในกระแสเรียกร้องให้ยุบหน่วยงานนี้ ตามการเสนอร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ก็คือ
-เป็นหน่วยงานรัฐซ้อนรัฐ ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยปกติ
-เป็นหน่วยงานที่ทหารหรือกองทัพมีบทบาทมากเกินไป
-ทหารไปแย่งงาน แย่งงบหน่วยอื่นทำ
-ภาพสะท้อนกองทัพเป็นใหญ่
ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีคำชี้แจงจากทางฝั่ง กอ.รมน.เองมากนัก
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยแนวคิดเรื่องนี้กับ “เสธ.ต๊อด” พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของทุกประเด็นที่บางฝ่ายกำลังกล่าวหา
@@ ปัดแย่งงานหน่วยปกติ
1.กอ.รมน.ไม่ได้แย่งงานหน่วยปกติทำ เพราะตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เขียนเอาไว้ชัดว่า กอ.รมน.มีหน้าที่ “ประสานงาน”
กฎหมายใช้คำว่า “อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงาน (ตามแผนความมั่นคง และแผนบรรเทาสาธารณภัย)”
จะเห็นได้ว่า กอ.รมน.ไม่ได้ไปลงมือทำเอง ไม่ได้ไปแย่งงานหน่วยปกติทำ
ส่วนบทบาทของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งมีกำลังพลในกรอบอัตรา กอ.รมน.หลายหมื่นคนนั้น เหตุผลก็เพราะมีหน้าที่ในการเฝ้าตรวจและลาดตระเวน เพื่อรักษาความปลอดภัยพื้นที่ ตามแผนเสริมสร้างสันติสุข จึงต้องใช้คนเยอะ แต่กำลังพลก็นำมาจากหน่วยปกติ และ กอ.รมน.รับผิดชอบในส่วนของเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่านั้น
ที่ผ่านมา กอ.รมน.ใช้กำลังทหารเป็นหลัก เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ใช้ อส. หรือ อาสารักษาดินแดน ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบพื้นที่ชั้นในแทน และมีแผนลดการใช้กำลังทหารลงเรื่อยๆ
@@ ฝ่ายการเมืองคุม กอ.รมน. ไม่ใช่กองทัพ
2.กอ.รมน.ไม่ใช่หน่วยงานที่กองทัพมีบทบาทมากเกินไป หรือมีภาพสะท้อนทหารเป็นใหญ่ เพราะกฎหมายมาตรา 7 เช่นกัน เชียนไว้ชัดว่า กอ.รมน.จะรับผิดชอบภารกิจใดได้ ก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนและแนวทางเท่านั้น
คณะรัฐมนตรี ก็คือรัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
ขณะที่ คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่จะมีอำนาจวางแนวปฏิบัติงานของ กอ.รมน.ทั้งโครงสร้าง ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับจังหวัด ตามกฎหมายมาตรา 10 ก็เป็นกรรมการที่มีฝ่ายการเมืองและข้าราชการพลเรือนมากที่สุด ทหารมีแค่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 5 คนเท่านั้น
@@ หน่วยปกติขอ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ
3.การรับมอบภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นงานแก้ไขปัญหายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า กอ.รมน.ทำหน้าที่เพียงประสานงาน เสริมการปฏิบัติ
เสธ.ต๊อด อธิบายว่า ข้อเท็จจริงที่สังคมอาจไม่ทราบก็คือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในภารกิจเหล่านั้น มักจะขอให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ เนื่องจากหน่วยงานหลักทำเองหน่วยเดียวไม่สำเร็จ ต้องประสานกับหน่วยอื่น และ กอ.รมน.มีศักยภาพในการประสาน โดยมีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ในการประสานการปฏิบัติ ส่งผลให้ปัจจุบัน กอ.รมน.ต้องรับผิดชอบภารกิจตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงนับสิบภารกิจ
แต่ย้ำว่าหน่วยปฏิบัติยังคงมีอำนาจตามกฎหมาย ส่วน กอ.รมน.มีหน้าที่ในการประสานงาน หรือเป็นเจ้าภาพเพื่อบูรณาการ
ยกตัวอย่าง การแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เจ้าพนักงานที่มีอำนาจจับกุมยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เช่นเดิม ส่วน กอ.รมน.มีหน้าที่เพียงแค่ “ชี้ให้จับ” และประสานหน่วยที่เกี่ยวข้อง ลักษณะการทำงานเหมือน ซีไอเอ ของสหรัฐ ที่เป็นหน่วยงานกลาง ไม่ได้ลงมือทำเองทั้งหมด
เรื่องนี้สังคมต้องมองแยกจากยุค คสช. ที่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ทหารเป็น “เจ้าพนักงาน” ในความผิดอาญาบางฐาน แต่ปัจจุบันทหารไม่มีอำนาจนั้นแล้ว ทุกอย่างจบไปหมดแล้ว กอ.รมน.จึงไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่เป็นหน่วยปกติที่มีอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม
อีกหนึ่งตัวอย่างคืองานปราบยาเสพติด ซึ่งต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน รวมทั้งทหารตามพื้นที่ชายแดน เพื่อสกัดกั้นการขนยาเสพติดเข้าประเทศ, กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องการบำบัดผู้เสพ, กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ดูแลเรื่องคุมขังนักโทษ คุมประพฤติ และยังใช้ทหารในการเปิดโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เพื่ออบรมผู้เสพ หรือผู้ติดยา ให้เลิกยา
การประสานงานในภาพใหญ่เช่นนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.เองก็อาจจะมีข้อขัดข้อง และอยากให้ กอ.รมน.ดำเนินการมากกว่า
@@ ชายแดนใต้ยังต้องใช้กฎหมายพิเศษ
ส่วนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.วินธัย บอกว่า กฎหมาย กอ.รมน. หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ถือว่ามีความอ่อนตัว และปรับใช้ตามสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบทบัญญัติมาตรา 21 ที่เปิดโอกาสให้ “ผู้หลงผิด” เคยกระทำผิดอาญาร้ายแรง สามารถกลับใจเข้ารับการอบรม เปลี่ยนความคิดความเชื่อ แล้วกลับคืนสู่สังคมได้ โดยไม่ต้องรับโทษ เพราะกฎหมายมองว่าเป็นการกระทำผิดอาญาที่มาจากแรงจูงใจอย่างอื่น ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน
แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังไม่สามารถใช้ “กฎหมายปกติ” ในการควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะคดีอาญาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อาชญากรรมปกติเหมือนภาคอื่นๆ เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือมีแรงจูงใจเรื่องทรัพย์สิน แต่เป็นอาชญากรรมที่แตกต่างออกไป
ยกตัวอย่าง คดีทำร้ายครูจูหลิงจนเสียชีวิต (ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ถูกกรุ้มรุมทำร้ายและจับเป็นตัวประกันเมื่อ 19 พ.ค.2549 และเสียชีวิตต้นปี 2550) หรือเหตุฆ่าตัดคอ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปดำเนินการ แต่ก็พยายามลดการใช้ และเปิดช่องสำหรับการพูดคุยเจรจา เปลี่ยนความคิดความเชื่อให้มากที่สุด
@@ กางผลงาน กอ.รมน.ดับไฟใต้
พูดถึงภารกิจของ กอ.รมน.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับนายทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ท่ามกลางกระแสยุบหน่วยงาน ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ กอ.รมน.ชายแดนใต้มากที่สุด
นายทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าไว้แบบนี้
“ต้องมาดูบทบาทหน้าที่ว่ามีผลต่อการพัฒนา การแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างไร คือถ้ามีการยุบกอ.รมน. ก็ต้องยุบกันหมด แล้วมันจะมีกลไกอะไรที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“ถ้าเราดูกรอบอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของ กอ.รมน. ตั้งแต่ปี 2547 เราตั้ง กอ.รมน.ใหม่เมื่อปี 2549 ย้อนไปปี 2547 เริ่มเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ตอนนั้นเราตั้ง กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) มาแก้ปัญหา แต่มันก็ขาดความเป็นเอกภาพ ก็เลยตั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. ขึ้นมา เพื่อดูแลงานด้านความมั่นคงและงานการพัฒนา”
“การพัฒนาเพื่อการแก้ปัญหาก็เริ่มดีขึ้น จากปี 2550 เหตุการณ์รุนแรงประมาณ 1,800 เหตุการณ์ ก็ลดลงมาเรื่อยๆ วันนี้เหลือ 100 กว่าเหตุการณ์เท่านั้นเอง”
@@ ไฟใต้อย่ามองแค่มิติเดียว
นายทหารสังกัด กอ.รมน. ยังบอกว่า การมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมองให้ครบทุกมิติ ต้องมองถึงรากเหง้าของปัญหาว่ามาจากกลุ่มบีอาร์เอ็นปลุกระดมบ่มเพาะเยาวชนและคนในพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างความเกลียดชัง และสร้างความรุนแรง
“ฉะนั้นเราจะมองแค่มิติเดียวไม่ได้ เช่น มองเฉพาะมิติเจ้าหน้าที่ มิติขององค์กร มันเสี่ยงเกินไปหากจะมองแค่นี้ เราดูการเคลื่อนไหวของบางกลุ่ม เขาเคลื่อนไหวแค่บางมิติ เช่น อ้างว่าปัญหาเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดจากการใช้กฎหมายที่ล้นเกิน แต่ไม่ได้ไปประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มขบวนการ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องดุให้ครบทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ละจุดมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มีจุดอ่อนเพียงแต่ว่าไม่ใช่ทุกเรื่องของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดจุดอ่อน”
@@ ต้องมีกลไกรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
นายทหารจากชายแดนใต้ กล่าวทิ้งท้ายว่า คำว่า กอ.รมน.ไม่ใช่มีแค่มิติจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังรับผิดชอบภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด โรคอุบัติใหม่ เรื่องของโซเซียลมีเดีย ภัยคุกคามจากนอกประเทศ และทุกเรื่องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน กอ.รมน.ทำทุกมิติที่เป็นมิติความมั่นคงภายในแห่งรัฐ
“เราต้องมีกลไกเข้ามาดำเนินการ ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง ก็ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรอย่าง กอ.รมน.มารับผิดชอบ แต่ความจริงภัยคุกคามยังมีอีกหลายมิติมาก จึงจำเป็นต้องมีกลไกอย่าง กอ.รมน.”