รองแม่ทัพ 4 แฉ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” กลุ่มเดิมในชื่อใหม่ เคยนำเรื่อง “สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง” ไปแจมไปเคลมในหลายกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมา ด้านการคุยสันติสุขยังเดินหน้าต่อ แต่กรอบพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เตรียมทำ Workshop 21-23 มิ.ย.นี้ ได้ผู้อำนายความสะดวก โคลัมเบีย - ไอร์แลนด์ ร่วมให้ความคิดเห็น
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ไลฟ์สดอธิบายถึงแนวทางการดำเนินการในลำดับต่อไป หลังมีการจัดกิจกรรมเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” และมีการจัดปาฐกถาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำประชามติแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเอกราช
@@ หารือฝ่าย กม. เน้นทำความเข้าใจ - เอาผิดต้องรอบคอบ
“การหารือในข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ขบวนนักศึกษาแห่งชาติมีการจัดกิจกรรม โดยมีนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ และนักศึกษาเข้าร่วม จนเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เชิญคณะทำงานด้านกฎหมายเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการ
ผลจากการหารือพบว่า สามารถที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางดำเนินการใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องที่ 1 คือ การสร้างความเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เรื่องที่ 2 คือ การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลพฤติกรรม พร้อมทั้งความเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ต้องขอเวลาให้คณะทำงานด้านกฎหมายได้มีเวลาดำเนินการ ซึ่งจะมีการนัดประชุมรอบต่อไปห้วงสัปดาห์หน้า
@@ เหนือความคาดหมาย กล้าเสนอประชามติแยกใต้
ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเขาจะกล้านำเสนอประเด็นนี้ ถือว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อกฎหมายและท้าทายต่อหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะความรู้สึกของพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง
ภายหลังทราบเหตุ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล ทั้งมีการตรวจสอบพฤติกรรมเชิงลึกรอบด้านอย่างละเอียด โดยเราพบว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จริงๆ แล้วเป็นขบวนการที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น จริงๆ มีมาก่อนหน้านี้ เป็นขบวนการเดิมที่มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 ตอนแรกคิดว่าจะเป็นน้องๆ นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ต้องการจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วพอมาดูในรายละเอียดปรากฏไม่ใช่ แต่เป็นขบวนนักศึกษาแห่งชาติที่เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มาจากการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
@@ “คนหน้าเดิม” ร่วมแจมเคลื่อนไหวการเมืองหวังพ่วงประเด็น
ประเด็นสำคัญที่เขาเคลื่อนไหวมาตลอดคือ เรื่องของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง Self-determination ซึ่งที่ผ่านมาขบวนการนี้ ถือว่าเป็นขบวนการที่เปิดการอบรมกลุ่มของนิสิตนักศึกษา ใช้ชื่ออื่น บางส่วนอยู่ในกลุ่มเปอร์มัส (PERMAS) บางกลุ่มอยู่ใน The PATANI และหลายๆ องค์กรที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเขาพยายามที่จะชูประเด็นในเรื่องของ Self-determination หรือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง
ถ้าเราย้อนไปดูกิจกรรมก่อนหน้านี้หลายปี เขาพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และจะแจมจะเคลมเรื่องนี้เข้าไปด้วย โดยที่พี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ ไม่ทราบ หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ กทม.ก็ไม่ทราบ คำว่า Self-determination คืออะไร
จากนโยบายแห่งรัฐ ในเรื่องของการกำหนดนโยบายที่มีต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นไหนบ้างที่รัฐเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชณาจักรไทย เราเขียนชัดเจนว่า เราไม่เลือกปฏิบัติในทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ รัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนคนไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
@@ ใต้ยังป่วนต่อเนื่อง จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ
เจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เขายังมีความพยายามก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือนรอมฎอนปีนี้ เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการก่อเหตุ 23 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย อันนี้คือตัวบงชี้ถึงความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เราไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ แต่เน้นสร้างความเข้าใจ อันนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มีความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความมั่นคง เพราะลักษณะของการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เหมือนอาชญากรในพื้นที่อื่น แต่การลงมือก่อเหตุมันมีความสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จึงเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายแบบปกติก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้
@@ จัดเวิร์คชอปเชิญชาติเจรจาสำเร็จร่วมถอดบทเรียน
กรณีขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เป้าหมายในการเคลื่อนไหวของเขาคืออะไร มันก็จะไม่ตรงกับรายละเอียดของการพูดคุยสันติสุข ตรงนี้จะต้องมีการรวบรวมข้อมูล แล้วถ้ามีโอกาสในการพูดคุยในครั้งต่อไป คงจะต้องนำเสนอรายละเอียดของการพูดคุยว่า เราจะต้องคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรอบที่เราได้มีการกำหนดในหลักการทั่วไปของการพูดคุย คือจะต้องพูดคุยภายใต้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็คือมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ อันนี้คือตัวนำ เพราะฉะนั้นในการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ มันก็ต้องสอดคล้องกับข้อตกลงที่เราได้มีการพูดคุยกันในคณะพูดคุย
ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนคณะพูดคุย เราก็ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อหาข้อมูลและรายละเอียดที่จะนำไปสู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาเราได้มีการแถลงการณ์ให้สื่อต่างประเทศได้ทราบและติดตาม ซึ่งปลายเดือนนี้ประมาณ วันที่ 21–23 มิ.ย. เราจะเดินทางไปทำเวิร์คชอปที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยจะมีผู้อำนวยความสะดวกของประเทศที่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว เช่น โคลัมเบีย ไอร์แลนด์เหนือ มาร่วมให้ข้อคิดเห็น ซึ่งคิดว่าจะเป็นวงสัมนาที่เกิดประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยในครั้งต่อไป และจากนั้นเรามีแผนจะเดินทางไปพบผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย แต่ยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน