มาตามกันต่อกับข้อกล่าวหา “หัวคิวพิสดาร” ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเปิดประเด็นกันในช่วงที่มีกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” กันพอดี
ย้อนความกันเล็กน้อย เรื่อง “ส่วยร่วมพัฒนาชาติไทย” ซึ่งหมายถึงข้อกล่าวหาการเก็บหัวคิวจากเงินงบประมาณใน “โครงการพาคนกลับบ้าน” หรือ “โครงการสานใจสู่สันติ” ที่เปิดให้แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ เข้าแสดงตัวต่อหน่วยงานความมั่นคง และจะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ “ผู้นำท้องที่” ที่พาคนเข้าโครงการ
ถ้าเป็นตัวจริง มีค่าตอบแทนรายละ 50,000 บาท แต่ถ้าเป็นตัวปลอม รายงานตัวเพื่อเพิ่มยอด สร้างผลงาน จ่าย 5,000 บาท
ปรากฏว่ามีการกล่าวหาเรื่อง “หักหัวคิว” เพราะเงินไม่ถึงมือครอบครัวผู้เข้าร่วมโครงการ และมีการอ้างกันว่า ผู้นำในพื้นที่อมเงิน และมีบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย แต่หน่วยงานความมั่นคงที่ทำโครงการ คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
“ทีมข่าว” ลงพื้นที่เพื่อขอสัมภาษณ์หนึ่งในผู้เคยเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งปัจจุบันต้องใช้ชีวิตติดแบล็กลิสต์ของฝ่ายความมั่นคง ประกอบอาชีพอะไรก็ไม่ได้ สภาพเหมือนตายทั้งเป็น
ผู้เข้าร่วมโครงการฯรายนี้ มีชื่อที่เรียกกันในพื้นที่ว่า “เป๊าะวอ” เขาเล่าว่าเคยโดนเจ้าหน้าที่จับตั้งแต่ปี 2548 ทั้งๆ ที่ไม่มีหมายจับ สาเหตุแค่เพราะเกิดระเบิดใกล้ๆ บ้านของตนเอง และตนกำลังเดินทางกลับจากมัสยิดผ่านมาเท่านั้นเอง หลังถูกจับก็ถูกส่งเข้าค่ายบ่อทอง ซึ่งหมายถึง ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกจับอยู่ 1 เดือน ระหว่างนั้นก็โดนทำร้ายร่างกายและละเมิดสิทธิ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น ถูกเตะ และถูกปืนเคาะศีรษะ
ถูกคุมขังอยู่ในค่ายทหารประมาณ 1 เดือน ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา ช่วงนั้นมีโครงการปล่อยตัวคนที่ถูกจับ จำนวน 1,700 กว่าคน กลับมาอยู่บ้านได้ 3 เดือน กำนันก็มาแจ้งให้ไปมอบตัวกับตำรวจภูธรภาค 9 ก็ถูกคุมขังอีก 1 เดือน เมื่อได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งเพราะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ก็มีคนแนะนำไปให้รับค่าทำขวัญเยียวยาที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กรณีถูกจับโดยใช้กฎหมายพิเศษ ถูกคุมตัว แต่ไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี จะมีเงินเยียวยาให้วันละ 300 บาท และค่าทำขวัญอีก 15,000 บาท
สุดท้ายได้เงินมา 18,000 บาท ซึ่งไม่เท่ากับยอดเงินที่ควรจะได้ จากนั้นก็นำเงินไปให้แม่ แต่ก็ไม่พอใช้หนี้ เพราะตอนที่ถูกจับ แม่ต้องกู้เงินเดินทางไปเยี่ยม และหาทางช่วยเหลือต่างๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
“เป๊าะวอ” เล่าต่อว่า อยู่บ้านได้อีกพักหนึ่ง ก็โดนเจ้าหน้าที่กวนตลอด จู่ๆ ก็มีผู้นำในพื้นที่มาบอกว่า “ถ้าอยากจบ ให้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน” ตนก็ยอมเข้า ต้องไปออกดะวะห์ เผยแผ่ศาสนา 20 วัน จากนั้นก็กลับมาอยู่บ้าน ได้ข่าวว่ามีการจ่ายเงินกันด้วย แต่ตนไม่ได้รับ ก็ไม่ได้สนใจ
แต่อยู่ๆ ไปก็ไม่จบ เจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ไปร่วมกิจกรรมทุกวันศุกร์ ถ้าไม่ไปจะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ ก็ต้องไป เป็นเวลานาน 5 ปี ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งให้ไปรอรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่บอกว่าจะให้ค่าเดินทางคนละ 500 บาท แต่จ่ายจริงแค่ 300 บาท
“เป๊าะวอ” เล่าอีกว่า ผ่านมาหลายปี ชีวิตไม่มีอะไรดีขึ้น แต่เหมือนตายทั้งเป็น จะทำงานอะไรก็ไม่ได้ สมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะมีประวัติก่อความไม่สงบ ทั้งที่ไม่เคยเกี่ยว ไม่เคยถูกดำเนินคดี จะไปทำงานที่มาเลเซียยังโดนจับที่ด่านเพราะมีแบล็กลิสต์ ทุกวันนี้ทำได้แค่เก็บขยะขาย และรับจ้างทั่วไป วันหนึ่งได้เงิน 50-100 บาท เพื่อดูแลพ่อกับแม่ที่แก่ชรา รู้สึกตายทั้งเป็น เจ็บปวดกับบาปที่ไม่ได้ทำ
“ทีมข่าว” สรุปกรณีของ “เป๊าะวอ” อาจโดน “มือมืด” หักค่าหัวคิวหลายขั้นตอน
1.ตอนไปเรียกร้องเงินเยียวยา เงินชดเชยที่ถูกคุมขัง แต่ไม่มีความผิด ควรได้เงิน 33,000 บาท (ทำขวัญ 15,000 บาท + ชดเชยถูกคุมขังวันละ 300 บาท จำนวน 60 วัน หรือ 2 เดือน อีก 18,000 บาท) แต่ได้เงินจริงแค่ 15,000 บาท
2.เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ไม่ได้เงินค่าตอบแทนเลย ไม่รู้ว่ามีการจ่ายและหักหัวคิวหรือไม่ ถ้ามี ไม่รู้ว่าใครได้
3.ไปรอต้อนรับ พล.อ.ประวิตร โดนหักหัวคิวค่าเดินทาง 500 บาท เหลือแค่ 300 บาท
@@ เสพกระท่อม ไร้ประวัติป่วน เข้าโครงการ-ได้ไก่ดำ 2 ตัว
ผู้เข้าร่วมโครงการอีกราย ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวทางโทรศัพท์ว่า ตนเป็นแค่เยาวชนติดน้ำกระท่อม ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มขบวนการอะไรเลย แต่ผู้นำที่หมู่บ้านมาบอกว่าต้องเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน หรือ “โครงการสานใจสู่สันติ” ญาติพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามีชื่อได้อย่างไร ก็ไม่มีใครรู้ ยังงงๆ เพราะไม่เคยถูกจับ ไม่เคยเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง แต่สุดท้ายูกดดันให้เข้าอบรม 1 สัปดาห์ กลับมาได้ไก่ดำ 2 ตัว และใบประกาศผู้เข้าร่วมโครงการ ตอนนี้ก็กลับมาอยู่บ้านปกติ ไม่ได้ทำอะไร ส่วนเงินที่มีข่าวว่าจะตอบแทนให้ ก็ไม่เคยได้
นี่คือข้อเท็จจริงจากปากคนที่เคยเข้าร่วมโครงการแสดงตัวต่อหน่วยงานความมั่นคงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โครงการพาคนกลับบ้าน” ซึ่งทำกันมานาน
แต่ก็น่าแปลกที่มีคนเข้าร่วมโครงการรวมๆ แล้วหลายพันคน น่าจะมากกว่าจำนวนผู้ก่อความไม่สงบที่เคยมีการประเมินกันด้วยซ้ำ แต่เหตุใดสถานการณ์ที่ชายแดนใต้จึงยังไม่สงบลงเสียที...