“พ.ต.อ.ทวี” ออกโรงอัด “ประยุทธ์ - ครม.” ตรา พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีเจตนาไม่คุ้มครองประชาชน แฉช่วงสุญญากาศก่อนศาลรัฐธรรมนูญตีตกพระราชกำหนด ที่ชายแดนใต้มีผู้ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ-ทหารถึง 37 ราย
วันศุกร์ที่ 26 พ.ค.66 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และให้สัมภาษณ์ถึงการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งรัฐบาลพยายามยื้อการบังคับใช้ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาหนึ่งฉบับเพื่อเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมาน ในมาตรา 22 ถึง 25 เมื่อวันที่ 19 ก.พ.66 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ “ขัดรัฐธรรมนูญ” นั้น
เห็นว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไม่ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 บัญญัติว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายด้วยการตราพระราชกำหนด เจตนาส่อไปเพื่อมุ่งที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงมีมูลน่าเชื่อว่าเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีย่อมรู้ดีว่า การอ้างเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรไม่เข้าเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก.
“โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เมื่อมีการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย จะใช้ทั้งกฎอัยการศึก ซึ่งสามารถควบคุมได้ตัว 7 วัน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้ 30 วัน ทหารจะนำไปควบคุมที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และตำรวจจะนำไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ จ.ยะลา ซึ่งเป็นศูนย์ซักถามของตำรวจ”
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.66 ถึงวันที่ 18 พ.ค.66 (ช่วงสุญญากาศที่มีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย) มีจำนวนผู้ต้องสงสัยประมาณ 30 รายอยู่ในความควบคุมของฝ่ายทหาร และมีผู้ต้องสงสัยประมาณ 7 รายอยู่ในความควบคุมของตำรวจ รวมประมาณ 37 ราย
สำหรับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวกลุ่มนี้ เมื่อออกจากศูนย์ซักถาม ในฐานะผู้ต้องสงสัย สามารถการดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
1.เมื่อครบกำหนดควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับตาม ป.วิอาญา พนักงานสอบสวนจะรับตัวแล้วปล่อยตัวไป
2.เมื่อครบกำหนดควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว พนักงานสอบสวนมีหลักฐานเพียงพอในการขออนุมัติศาลออกหมายจับ ป.วิอาญา และศาลอนุญาต พนักงานสอบสวนจะรับตัวและแจ้งข้อกล่าวหา ควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา
“การใช้อำนาจออก พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญของ นายกฯประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ถือว่ามีเจตนาไม่มุ่งคุ้มครองบุคคลจากการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและทำลายระบบกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องร่วมกันรับผิดชอบ” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ