ฝ่ายความมั่นคง ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี โฆษกกลาโหม จนถึงรองแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันตรงกันว่า เหตุระเบิดปั๊มน้ำมัน 2 แห่งในพื้นที่ปัตตานี เกี่ยวโยงกับความพยายามลดความน่าเชื่อถือของประเทศในช่วงเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค
แต่กลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนกรานว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่เกี่ยวกับการประชุมเอเปค เพราะไม่มีแผนก่อเหตุที่กระทบกับการประชุมระดับนานาชาติ เนื่องจากเกรงจะถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาบานา ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส ฝั่งมุ่งหน้าไป จ.นราธิวาส) ในพื้นที่ ต.บานา อ.เมืองปัตตานี และปั๊มน้ำมัน PT สาขาปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ริมถนนสายเดียวกัน (ฝั่งมุ่งหน้าไป อ.เมืองปัตตานี) จนเกิดเพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหาย โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรืออีโอดี และชุดพิสูจน์หลักฐาน เข้าพื้นที่เก็บวัตถุพยานอย่างละเอียด
@@ แม่ทัพสั่งยกระดับแผน รปภ. 100%
พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ลอบวางระเบิดสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่ของปัตตานีทั้ง 2 จุด พฤติการณ์ของคนร้ายเป็นลักษณะเดียวกัน คือคนร้ายจำนวน 2 คน ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะ ขับขี่เข้ามาก่อเหตุในเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยเข้ามาวางระเบิดแล้วก็ยิงปืนข่มขู่พนักงานภายในปั๊มให้หลบหนีออกไป
ภายหลังทราบเหตุ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่เข้าควบคุมที่เกิดเหตุ และยกระดับแผนรักษาความปลอดภัยเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมเอเปค ทั้งยังได้ใช้ชุดปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ เข้าไปลาดตระเวนครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดที่เป็นเป้าหมายกลุ่มเสี่ยง เช่น ปั๊มน้ำมัน ในส่วนของคนร้ายที่ก่อเหตุก็คงจะไม่เกินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะติดตามจับกุมต่อไป
@@ เชื่อทำลายเครดิตรัฐบาลเจ้าภาพเอเปค
"สิ่งที่เป็นความพยายามของคนร้ายมาตลอดคือ นำไปสู่การทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล สำหรับเหตุจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ต้องขอเวลาสำหรับเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและจะสรุปอีกครั้งว่าเหตุจูงใจมาจากไหน ซึ่งน่าจะมีหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่ 1 คือความพยายามในการสร้างความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์คล้ายๆ ระเบิด 20 จุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.65 (ระเบิดปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ) คือเริ่มจากการลอบทำร้ายพี่น้องชาวพุทธที่ไปหาของป่า เหตุการณ์คล้ายๆ กับรอบที่แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นความพยายามของฝ่ายขบวนการในการสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน”
“การก่อเหตุของกลุ่มคนร้ายนอกจากสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ทำลายภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่เป็นความมุ่งหมายของเขามาโดยตลอดคือการทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้การประชุมเอเปค อาจจะมีส่วนที่เขาพยายามก่อเหตุเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ”
@@ “บิ๊กป้อม” สั่งเร่งจับกุมมือบึ้ม กระทบภาพลักษณ์ประเทศช่วงเอเปค
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองอำนวยการร้กษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และหน่วยงานความมั่นคง ให้ขยายผลสืบสวนติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุระเบิดโจมตีปั๊มน้ำมัน 2 จุดของ จ.ปัตตานี ให้ได้โดยด่วน
พร้อมย้ำให้หน่วยข่าวและหน่วยงานความมั่นคงเฝ้าระวังป้องกัน ไม่ประมาทจากการก่อเหตุทั้งในและนอกพื้นที่ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ยกระดับความเข้มข้น ตื่นตัวเฝ้าระวัง และตรวจสอบติดตามความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลกับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจ เพื่อปฏิบัติการป้องกันเชิงรุก และสามารถปฏิบัติการแก้ปัญหาต่อเหตุการณ์และเป้าหมายได้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์
ด้าน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะที่ใด หากเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและคนไทยทุกคน ขณะที่เรากำลังสร้างความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศกับนานาชาติ และร่วมกันทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดีให้การต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ระหว่างการประชุมเอเปค จึงขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ร่วมกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวัง หากพบเบาะแสหรือสิ่งผิดปกติ ขอให้แจ้งเตือนกันและแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ทันที ผ่านหมายเลข 191 และ 1599
@@ บีอาร์เอ็น - พูโล ประสานเสียงไร้แผนป่วนเอเปค
สำหรับท่าทีของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการให้สัมภาษณ์ ส่งสัญญาณ และออกแถลงการณ์เกี่ยวกับท่าทีในช่วงการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 19 พ.ย.นี้
ท่าทีของกลุ่มขบวนการฯ มีมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก
14 พ.ย. - ผู้ใกล้ชิดกับแกนนำบีอาร์เอ็น และอยู่ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับรัฐบาลไทย
“BRN ไม่มีนโยบายที่จะก่อเหตุที่มีคนต่างชาติเกี่ยวข้อง เพราะจะถูกมองว่าเป็นการก่อการร้าย”
“ไม่มีแผนก่อเหตุช่วงเอเปค เพราะเกรงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ”
“เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวข้องกับปาตานีเท่านั้น”
14 พ.ย. - เครือข่ายขบวนการพูโลในประเทศเพื่อนบ้าน
“คนที่ก่อเหตุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับคนต่างประเทศ หรือการประชุมเอเปค”
16 พ.ย. - นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานพูโล
“พูโลไม่ได้ทำ เช็คจากในพื้นที่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ทำ”
16 พ.ย. - ผู้ใกล้ชิดแกนนำบีอาร์เอ็น (คนเดียวกับ 14 พ.ย.)
“BRN ยืนยันว่าเป็นการตอบโต้จาก BRN สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเอเปค”
@@ รัฐไม่ปักใจเชื่อ
พล.ต.ปราโมทย์ ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีกลุ่มขบวนการออกมาประกาศจุดยืนจะไม่สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงการประชุมเอเปค ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่วางใจ เพราะที่ผ่านมาบอกไม่ก่อเหตุ แต่ก็มีความพยายามในการก่อเหตุมาตลอด มีทั้งของจริงและของปลอม ตอนนี้มีการตรวจสอบแถลงการณ์ของพูโลถึงที่มาที่ไปของเอกสารฉบับดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่