กรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ถูก นายวีรวิทย์ รุ่งเรืองศิริผล วัย 62 ปี สมาชิกกลุ่มศักดินาเสื้อแดงต้านเผด็จการ ปรี่เข้าไปชกหน้ากลางวงนักข่าวและช่างภาพ ในขณะที่ นายศรีสุวรรณ กำลังให้สัมภาษณ์อยู่ จนเกิดเหตุชุลมุนนั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ นายศรีสุวรรณ เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( บก.ปอท.) เพื่อแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดการจัดแสดง “เดี่ยวไมโครโฟน 13” ของ โน้ส อุดม แต้พานิช ที่มีการใช้ถ้อยคำบางส่วนอาจมีลักษณะส่งเสริมให้บุคคลร่วมชุมชนสาธารณะที่ผิดกฎหมาย (คำพูดในลักษณะสนับสนุนม็อบสามนิ้ว และด้อยค่าผู้นำรัฐบาล)
ประเด็นที่ต้องจับตาจากเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ชกต่อยที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางความคิดและรสนิยมทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ชื่นชมและยกย่องผู้ก่อเหตุชกนายศรีสุวรรณ ถึงขั้นกล่าวอ้างยกเป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ รวมไปถึงการจะช่วยบริจาคเงินช่วยเหลือสู้คดีที่เกิดขึ้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อกันหรือไม่
ในเรื่องนี้ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความผ่าน “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” ตั้งข้อสังเกตและมีหมายเหตุถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้
1.เป็นเรื่องปกติในสังคมที่เปิดโอกาสให้มีการร้องเรียนได้ แสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองเรานั้นไม่ได้ถูกปิดหู ปิดตา ปิดปากเสียเลยทีเดียว
2.คุณศรีสุวรรณเป็นเหมือนตัวแทนของคนไทยหลายๆ คนที่มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกับคุณศรีสุวรรณ แต่ไม่มีโอกาสได้ร้องเรียน การทำหน้าที่ของคุณศรีสุวรรณจึงควรได้รับการยกย่องชมเชยมากกว่าที่จะถูกทำร้าย เพราะเป็นการใช้ช่องทางทางกฏหมายตามครรลองที่ถูกต้องแทนการใช้วิธีการแบบป่าเถื่อนดังเช่นผู้กระทำ
3.การทำร้ายคุณศรีสุวรรณโดยผู้ทำร้ายไม่ใช่คู่กรณีนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองที่สะสมมาตั้งแต่เหตุการณ์ที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้
4.การกระทำดังกล่างแสดงให้เห็นถึงการกระทำของผู้กระทำที่นิยมความรุนแรง ควรถูกประณาม แต่กลับมีกลุ่มโซเชียลมีเดียบางกลุ่มแสดงความสะใจและให้ท้ายผ่านสื่อสารธารณะโดยไม่มีความกระดากอาย แสดงให้เห็นว่า คนบางกลุ่มยังนิยมใช้ความรุนแรง สะท้อนผ่านสื่อโซเชียลฯ
5.สังคมไทยต้องยอมรับการใช้วิธีทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาแทนการใช้ “ศาลเตี้ย” ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
6.การทำร้ายคุณศรีสุวรรณด้วยการไลฟ์สดไปด้วยนั้น เป็นการเตรียมการล่วงหน้าที่หวังผลอย่างน้อยที่สุด 2 ประการคือ
6.1 แสดงให้พวกพ้องกลุ่มก้อนทางการเมืองของตัวเองได้เห็นว่าได้ทำภารกิจสำเร็จแล้ว
6.2 การไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียลฯในเรื่องสำคัญๆ คือการเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจเลยว่าตัวเองกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและเผยแพร่ความรุนแรงออกไปโดยไม่รู้สึกถึงความรับผิดชอบชั่วดีใดๆ ทั้งสิ้น
7.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียได้เข้าไปมีบทบาทในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน และพร้อมที่จะกระพือสิ่งไม่เหมาะไม่ควรออกสู่สายตาผู้คนโดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของผู้ใด และสามารถโน้มน้าวสังคมให้ไปทางใดทางหนึ่งได้ หากสังคมนั้นเป็นสังคมที่ขาดเหตุผลและเต็มไปด้วยอคติ