สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ไฟใต้รอบใหม่” ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 จากเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นั้น มีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาเกือบจะครบ 2 ทศวรรษในปี 2567 นี้แล้ว
แม้บางช่วงอย่าง “รอมฎอนสันติ” ที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจะลดลงไปบาง อันเป็นผลจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่เมื่อหมดช่วงเวลาดังกล่าว การก่อเหตุรุนแรงในรูปแบบเดิมก็วนกลับมาอีก ในขณะที่กระบวนการสันติภาพถูกมองว่าไม่มีความคืบหน้า
ในช่วงเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณ ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี มีการโยกย้ายข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และปกครอง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะออกมาสร้างสถานการณ์เกือบทุกปี
การเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณปีนี้ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะมีการเปลี่ยน “แม่ทัพดับไฟใต้” คนใหม่ นั่นก็คือ “แม่ทัพภาคที่ 4” และองคาพยพดับไฟใต้ต่างๆ ก็มีการยกเครื่องกันพอสมควร โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนปีปฏิทิน สถานการณ์ไฟใต้จะดำเนินมาครบ 19 ปี และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 20 หรือ 2 ทศวรรษ
“ทีมข่าวอิศรา” ฟังเสียงจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์ และทิศทางไฟใต้ในระยะจากนี้ไป ว่ายังมีหวังสันติสุขอยู่หรือไม่...
@@ สถานการณ์ดีขึ้น รัฐเข้าถึง ประชาชนเข้าใจ
ภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนเข้าใจเนื้อหาของการอยู่ร่วมกันโดยสามัคคีสมานฉันท์ มุสลิมเดินตามทางนำของพระผู้เป็นเจ้า ไม่สร้างความเสียหาย รักในมนุษยชาติเลือดเนื้อเดียวกัน การยอมรับในอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี คือจุดเด่นของพื้นที่ การแต่งกายไทยแบบมลายู ชุดประจำถิ่นไทยชายแดนใต้ เป็นจุดเสริมท่องเที่ยวในพื้นที่ ไม่ใช่ชุดแสดงพลัง หรือไปข่มเหงข่มขู่ใคร ชวนกันมองให้เป็นภาพพลังบวก
“ในประเด็นเมื่อมีเหตุรุนแรงช่วงใกล้สิ้นงบประมาณ แล้วมองว่าตำรวจ ทหาร ต้องก่อเหตุ เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณ ไม่มีใครหรอกที่คิดเช่นนั้น แต่ฝ่ายตรงข้ามที่สร้างเหตุการณ์แล้วป้ายสี และจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา (วางระเบิดปั๊มน้ำมัน และวางเพลิงร้านสะดวกซื้อทั่วสามจังหวัด) เจ้าหน้าที่สามารถทราบตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว มีทั้งหมด 23 คน ถูกควบคุมตัวแล้ว18 คน“
นายภาณุ กล่าวอีกว่า แผนปีหน้า งานราชการการช่วยเหลือความเดือดร้อนของคน "ต้องเข้าถึงเนื้อขนมตะโก้ - อย่าติดที่หน้ากะทิ" จัดชุดคนที่ถึงครัว คนที่ทำได้จริงๆ อย่างกลุ่มบัณฑิตอาสา เป็นต้น และช่วยงานเกษตร สร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่ สร้างรายได้จริง การตลาดต้องช่วยให้เต็มที่
@@ การเมือง-การเลือกตั้ง ช่วยแก้ไฟใต้
กันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา มองแนวโน้มของสถานการณ์ว่า ปัญหาไฟใต้จะดีขึ้น การศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือปัจจัยหลัก เช่น การทำให้คนมีงานทำ เมื่อคนมีรายได้ คนมีกิน ปัญหาอื่นก็จะหมดไป และมองว่าการเมืองกับการเลือกตั้งจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องดูเป็นภาคๆ ไป นโยบายสามจังหวัดพื้นที่พิเศษ ต้องแก้ด้วยวิธีพิเศษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาคใต้สงบ
@@ เหตุการณ์เบาลง แต่ชาวบ้านยังไม่เชื่อ จนท.
บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม องค์กรภาคประชาชนที่ดูแลเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี มองว่า จำนวนสถิติการก่อเหตุอาจจะห่างออกไป นอกจากจะมีการตอบโต้ หลังจากมีการวิสามัญฆาตกรรม แบบศพแลกศพ รวมถึงการก่อเหตุในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้มีความสูญเสีย
“มองว่าเบาลง และปัญหาอุทกภัยต่างๆ ก็ช่วยให้สถานการณ์เบาลงได้ระดับหนึ่ง การโต้ตอบจะหนักและรุนแรงบ้างเป็นครั้งคราว และต่อเนื่องก็เป็นรอบๆ การแสดงศักยภาพของขบวนการว่ามีอยู่จริง มองว่าการปูพรมจับหลังเกิดเหตุ อาจเข้าทาง หรือยิ่งเพิ่มเงื่อนไข งานการข่าวจึงจำเป็นมากๆ”
“ยกตัวอย่างเคสล่าสุดที่ใช้อาวุธสงคราม M16 สังหาร 2 ผัวเมียชาวท่าสาป จ.ยะลา สามีเป็นคนต่างพื้นที่ แต่โดนลอบสังหารมาแล้ว 2 ครั้ง แผลจากครั้งแรกเพิ่งหาย รอบสองไม่เหลือ ไม่รอด ก่อเหตุช่วงหัวค่ำ ชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ แต่ถามว่ามีกี่คนกล้าเป็นพยานให้ ก็ไม่มีทาง ชาวบ้านถามว่า ปืน M16 นอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว ใครสามารถมีได้ แล้วสรุปเป็นคดีความมั่นคงหรือสาเหตุอะไรกันแน่ ชาวบ้านรอดูว่าใครจะเป็นแพะ ทั้งที่บางทีอาจไม่ใช่แพะ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อเจ้าหน้าที่ เชื่อตามที่เขาฟังต่อๆ ความหวังคือการติดตามจับกุมคนผิดตัวจริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม”
@@ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” กุญแจแก้ไฟใต้
ฮัสบูเล๊าะ หิเล นายกสมาคมผู้นำอิสลามชายแดนใต้ มองว่า ปัญหาภาคใต้ สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ อาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา อาศัยความจริงใจ โดยนำพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เชื่อมั่นว่าอนาคตจะดีขึ้นเป็นลำดับ
@@ รัฐไม่จริงใจเจรจา - แนะแก้กติกาประเทศ
อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมปาตานี มองว่า รัฐเชื่อว่าการคุยกับคนติดอาวุธมันจะจบ หรือถ้าจะจบ ก็ต้องแบบที่รัฐไทยต้องการ เช่น การให้หยุดยิง แต่โครงสร้างทางการเมืองยังเหมือนเดิม
“เรายังไม่เห็นเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อย่างการพูดคุยก็เป็นแค่หน่วยเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้สำนักนายกฯ ที่ขับเคลื่อนไป มันแทบจะไม่มีอำนาจ หรือถ้าฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย มันก็พร้อมที่จะปฏิบัติการที่สวนทางกับการพูดคุยกับบนโต๊ะเจรจา มันก็ไม่ใช่ว่ารัฐไทยจะทำได้ ที่ให้คนมีส่วนร่วมจริงๆ”
อารีฟีน กล่าวอีกว่า เราควรเอากฎหมายเป็นที่ตั้ง เพื่อทำให้เราอยู่ร่วมกันให้ได้ ถ้าเรามีปัญหาในสังคม เราก็แก้กติกาแก้กฎหมายได้ อันนี้เป็นหลักพื้นฐานในการเขียนรัฐธรรมนูญ สามารถแก้ไขได้ทุกมาตรา ถ้ามาตราใดเป็นอุปสรรคต่อการเคารพสิทธิของคนพื้นเมือง หรือคนท้องถิ่นต่างๆ มันก็ต้องแก้อันนี้ ต้องใช้พลังของคนทั้งสังคมไทย มันก็เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่มที่อยู่ในสังคมไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วย