กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แถลงยืนยันล่าสุดว่า กระบวนการบรรจุ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เข้าช่วยราชการ เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องทุกประการ ไม่มีอะไรผิดหรือไม่โปร่งใสเลยแม้แต่น้อย
แต่การแถลงไม่ได้พูดถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ว่า บกพร่อง หรือลงใต้จริงหรือไม่ ตามที่มีการให้ข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ไม่ได้ลงปฏิบัติราชการสนามจริง แต่บอกเพียงว่า ได้ปลดออกไปแล้วด้วยเงื่อนไขต้องคดีอาญา และเรียกสิทธิประโยชน์ต่างๆ คืน
ผู้ที่แถลงเรื่องนี้ คือ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปประเด็นได้ดังนี้
1.ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้รับการบรรจุช่วยราชการที่หน่วย สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (สขว.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ตั้งแต่ 1 ต.ค.64 ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 269/2565 ลง 7 เม.ย.65
-การเข้ามาบรรจุเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกประการ
-มีอัตราว่างให้สามารถบรรจุได้ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร (อัตรา พตท.)
-การบรรจุเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าตัวที่ได้สมัครใจมาช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
-หน่วยได้ตรวจสอบประวัติการรับราชการแล้ว ไม่พบคุณสมบัติที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
-ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยต้นสังกัดปกติเรียบร้อยแล้ว
-อนุมัติให้ขอตัวมาบรรจุช่วยราชการตั้งแต่ 1 ต.ค.64 – 30 ก.ย.65
-ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติด้านธุรการในระดับเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนหน่วยในการปฏิบัติงานนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
2.ภายหลังได้ทราบข่าวว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา
-กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที
-พบว่า “เป็นการกระทำความผิดส่วนบุคคล โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.”
-เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้เพื่อควบคุมด้านวินัยกำลังพลที่บรรจุช่วยราชการ
-กอ.รมน.ภาค 4 สน.จึงได้ส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัดปกติตั้งแต่ 19 ส.ค.65 เพื่อดำเนินการทั้งด้านวินัยและกฎหมาย
3.มีคำสั่งให้ยกเลิกการบรรจุช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตั้งแต่ 1 ต.ค.64 ตามคำสั่ง กอ.รมน.ที่ 733/2565 ลง 27 ส.ค.65
-ให้เรียกคืนค่าตอบแทนตามสิทธิกำลังพลที่ได้รับไปแล้วตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
-แบ่งเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน และค่าเลี้ยงดูเพิ่มเติม ตามหลักฐานการเบิกจ่ายในห้วง ตั้งแต่ ต.ค.64 - 31 ก.ค.65 รวมจำนวน 109,910 บาท เพื่อส่งคืนให้กับทางราชการต่อไป
-ค่าตอบแทนนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสิทธิกำลังพลด้านอื่นๆ เช่น วันทวีคูณ และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พสร.) เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้
4.ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บรรจุช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถูกต้องตามขั้นตอน และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ได้รับสิทธิกำลังพลตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ “ไม่ใช่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไม่ผ่าน แต่ยังได้รับค่าตอบแทน”
5.การสั่งยกเลิกบรรจุและเรียกคืนสิทธิกำลังพลที่ได้รับไปแล้วนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง “มิใช่เพราะถูกต้นสังกัดสั่งให้ออกจากราชการ”
พล.ต.ปราโมทย์ ย้ำว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามข้อมูลที่แถลงนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้มีการให้สัมภาษณ์และนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน จนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จึงต้องนำมาแถลงย้ำอีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยรายละเอียดที่ถูกต้องจะปรากฏในบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีใครที่จะสามารถแก้ไขหรือบิดเบือนได้อย่างแน่นอน
@@ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ...
จากคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประสานเสียงไปในทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่า ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากหลายฝ่าย และคนที่ติดตามข่าวสาร ทั้งกรณี “ส.ต.ท.หญิง” และ “ส.ท.หญิง” ที่ถูกทำร้าย ซึ่งมีกรณีการเข้ารับราชการในลักษณะที่มีข้อกังขาเช่นกัน
1.ทุกอย่างทำถูกระเบียบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้อธิบายว่า มีการยกเว้นระเบียบบางกรณีด้วยเหตุผลใด
เช่น ยกเว้นเรื่องอายุ ยกเว้นเรื่องวุฒิการศึกษาขาดแคลน ทั้งๆ ที่วุฒิการศึกษาบางวุฒิก็ไม่ได้ขาดแคลน มีคนเรียนจบน่าจะหลายแสนคนในประเทศนี้ และน่าจะมีคนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์จำนวนมาก เหตุใดจึงไม่เลือกคนที่มีคุณสมบัติครบโดยไม่ต้องยกเว้นระเบียบบางประการเข้ารับราชการ เพื่อป้องกันข้อครหา
2.ทุกอย่างทำถูกระเบียบ แต่กลับได้บุคคลที่ดูจะไม่ค่อยมีคุณสมบัติครบเข้ารับราชการ โดยเฉพาะความรับผิดชอบ (มีปัญหาไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ หรือหายไปจากหน้าที่ประจำ แต่ไปช่วยราชการแบบน่าสงสัย)
จนเกิดคำถามว่า การเปิดรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้ารับราชการ ซึ่งคุณสมบัติที่กำหนดมีผู้เข้าเกณฑ์จำนวนมากนั้น ไม่มีใครดีกว่าบุคคลที่รับเข้ามาแล้วหรือ
3.เหตุใดบุคคลพลเรือนที่รับเข้าเป็นข้าราชการด้วยวิธียกเว้นระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ส่วนมากจะบังเอิญมีสายสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงราชการ การเมือง และฝ่ายนิติบัญญัติ
4.เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพบปัญหา กลับไม่เคยมีการขอโทษประชาชนเจ้าของภาษีอากร ทุกหน่วยยืนยันเพียงว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎ ระเบียบ ขั้นตอน แต่น่าแปลกใจหรือไม่ที่ความถูกต้องนั้น กลับมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา
อย่างนี้ย่อมหมายถึงว่าต้องมีบุคคลหรือหน่วยงานประมาทเลินเล่อ ย่อหย่อน ไม่เคร่งครัด จนทำให้เกิดปัญหาหรือไม่
5.ข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่เป็นเสียงกำลังพลตัวจริง เช่น ไม่ได้บรรจุ ไม่ได้เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย วันทวีคูณ (เสี่ยงตายแต่ไม่ได้เบี้ย) ได้หยิบมาพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้างหรือไม่
6.เหตุใดสิ่งที่หน่วยงานรัฐแถลงหรือชี้แจง ช่างแตกต่างจากการรับรู้ของพี่น้องประชาชน จริงหรือที่ประชาชนได้รับข่าวสารผิดๆ หรือว่าประชาชนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อระบบราชการ หรือเป็นอคติค้างเก่า ปัจจุบันไม่มีแล้ว