แม้ตำรวจจะบอกว่าตัวเองไม่ผิด กรณีหมายจับ "เสี่ยโจ้" ถูกซุก ไม่ถูกนำเข้าสารบบหมายจับ หรือ CRIME เพื่อประกาศสืบจับไปทั่วราชอาณาจักรก็ตาม
แต่อดีตตำรวจที่เคยผ่านงานด้านการสอบสวนมาตลอดชีวิตราชการอย่าง พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สปยธ. ยืนยันว่างานนี้เป็นการกระทำของฝ่ายตำรวจอย่างแน่นอน พร้อมแฉ 4 กลวิธีในการ "ทำให้หมายจับไร้ผลของตำรวจไทย (บางคน)"
วิธีแรก เมื่อศาลออกหมายจับให้ตามที่ตำรวจร้องขอ หรือส่งมาให้ตำรวจดำเนินการสืบจับ (สืบสวนจับกุม) พนักงานสอบสวนผู้ขอหมายจับหรือได้รับหมายมา จะใช้วิธีไม่ทำหนังสือแจ้ง และไม่ส่งหมายจับให้ฝ่ายสืบสวนนำเข้าสารบบ ทั้งแฟ้มหมายจับและไม่บันทึกเข้าระบบ Crime ซึ่งระบบนี้จริงๆ แล้วมีไว้เพื่อเชื่อมโยงให้ทุกหน่วยทั่วประเทศได้รับรู้และช่วยกันตามจับผู้ต้องหาหรือจำเลย
วิธีการนี้เป็นไปได้ทั้งจากการทุจริตของตัวพนักงานสอบสวนผู้รับหมายจับเอง หรือได้รับคำสั่งแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้าสถานี หรือหัวหน้าหน่วยตำรวจที่รับคำสั่งเป็นทอดๆ มา ซึ่งการจะเกิดเรื่องแบบนี้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ต้องหารายสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับตำรวจผู้ใหญ่ระดับสูง
วิธีที่สอง พนักงานสอบสวนแจ้งและบันทึกหมายจับเข้าระบบ เพราะกลัวมีความผิดหากไม่นำเข้า แต่หัวหน้าสถานีหรือหัวหน้าหน่วยตำรวจไม่ได้สั่งมอบหมายให้ฝ่ายสืบสวนหรือฝ่ายป้องกัน ซึ่งหมายถึงสายตรวจ ตามสืบจับอย่างจริงจัง และไม่ยอมตรวจสอบผลการปฏิบัติทุกระยะจนกว่าจะจับตัวได้ (ตามหลักการต้องตรวจสอบผลการปฏิบัติทุกระยะจนกว่าจะจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยได้)
วิธีที่สาม หมายจับผู้ต้องหาสำคัญที่ตำรวจรู้กันทั่วว่า "ส่งส่วย" ให้ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับ บัญชียาวเป็นหางว่าว ทั้งระดับกองบังคับการ กองบัญชาการ หรือระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ต้องหาที่มีความสนิทสนมกับนายตำรวจผู้ใหญ่ เช่น เจ้ามือหวยเถื่อน นายบ่อน เจ้าของสถานบันเทิง พ่อค้าของเถื่อน ฯลฯ
คนเหล่านี้แม้มีหมายจับ ตำรวจชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าไปสืบจับ หรือแม้แต่จะไปตรวจดูที่บ้านว่าอยู่หรือไม่? เนื่องจากกลัวถูกกลั่นแกล้ง ลงโทษทางวินัย ถูกสั่งเปลี่ยนหน้าที่ หรือย้าย "เข้ากรุอำนวยการ" (หน่วยตำรวจแต่ละหน่วยจะมีแผนกอำนวยการ หรือ อก. ซึ่งไม่ได้เป็นหน้างานสัมผัสประชาชน ทำให้หาผลประโยชน์ได้ยาก ตำรวจไม่อยากไปอยู่) หรือไม่ก็ถูกแกล้งย้ายออกนอกพื้นที่ ย้ายออกนอกกองบัญชาการ ทำให้ตัวเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ส่งผลให้ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่กล้าทำอะไรล้ำเส้น และจะเน้นจับตามหมายในคดีที่ผู้ต้องหามีฐานะยากจนเพื่อสร้างผลงานการจับตามหมายในแต่ละเดือนไว้ และก็ไม่มีใครสนใจถามไถ่ว่าการติดตามสืบจับคืบหน้าไปถึงไหน?
วิธีที่ 4 หมายจับผู้ต้องหาสำคัญบางคดี โดยเฉพาะ "ผู้มีอิทธิพลที่ส่งส่วยให้ตำรวจผู้ใหญ่" นายตำรวจระดับสูงจะรีบให้ข่าวเองทันทีว่า ตอนนี้ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ซึ่งคำแถลงนี้เป็นสัญญาณที่รู้กันในหมู่ตำรวจผู้น้อยว่า ไม่ต้องไปสนใจขวนขวายตามจับให้เสียเวลา เพราะมิฉะนั้นจะมีปัญหากับตัวเองตามมามากมาย