สื่อหลายสำนักประโคมข่าว “กลุ่มตอลิบาน” เข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้สำเร็จแล้ว
ขณะที่ นายอัชราฟ กานี ประธานาธิบดี ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ
นานาชาติเร่งอพยพคนของตัวเอง ส่วนประชาชาวอัฟกันบางส่วนก็ตัดสินใจหนีข้ามแดน เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ แม้กลุ่มตอลิบานจะออกมายืนยันเรื่องการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติก็ตาม
“ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงโฉมหน้าของอัฟกานิสถานนับจากนี้ ภายใต้การนำของรัฐบาลตอลิบาน 2.0
@@ อะไรจะเกิดที่อัฟกานิสถานหลังจากนี้?
ขณะนี้อยู่ในช่วงการพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่างๆ ก่อนที่ตาลิบานจะเข้าสู่อำนาจในคาบูล เพราะประสบการณ์ที่เคยครองอำนาจ ช่วงปี ค.ศ.1996-2001 ตอลิบานเคยปกครองมา 5 ปี สิ่งหนึ่งที่มองเห็นปัญหาคือเรื่อง “ความชอบธรรมภายใน” หรือ domestic legitimacy
เพราะครั้งนั้นตอลิบานปกครองโดยรวบอำนาจทั้งหมดไว้ภายใต้สมาชิกตอลิบานฝ่ายเดียว จึงกลายเป็นปัญหาความชอบธรรม ทำให้ฝ่ายต่างๆ ต่อต้าน อาจจะจับอาวุธต่อสู้ เพราะอัฟกานิสถานปกครองยากมาก และพูดได้ว่าในการปกครองของตอลิบานช่วง 5 ปีนั้น ไม่สามารถยึดอำนาจได้ 100% ในดินแดนอัฟกานิสถาน
@@ แสดงว่าครั้งนี้ตอลิบานมีการปรับตัว?
เราเห็นสัญญาณการปรับตัวมากทีเดียว
1.ตอลิบานพูดคุยกับหลายฝ่าย ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับ “รัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน” ผมเชื่อว่าตอลิบานจะใช้คำนี้มากกว่าคำว่า “รัฐบาลของตอลิบาน”
จากประสบกาณ์ในอดีต ตอลิบานเกิดมาจากการเป็นกองกำลังติดอาวุธ และสามารถรุกคืบจนยึดกรุงคาบูลได้ และปกครองในปี ค.ศ.1996 แต่ครั้งนั้นกลุ่มตอบิลานมีลักษณะเป็นกลุ่มติดอาวุธ มุ่งใช้อำนาจ ไม่มีความชอบธรราม ตอนนี้ตอลิบานกำลังย้าย กำลังพัฒนาจากกองกำลังติดอาวุธ เป็นกองกำลังทางการเมืองมากขึ้น
ด้านหนึ่ง ตอลิบานมีรากฐานมาจากกลุ่มเผ่าปาทาน พัชตุน บริเวณชายแดนด้านที่ติดกับปากีสถาน และยึดถือเผาพันธุ์ของตนเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่เขำปรับตัวในช่วง 20 ปีที่สหรัฐเข้าไปมีบทบาทในอัฟกานิสถาน ก็คือการพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์และเผ่าพันธุ์อื่นๆ บางครั้งก็มอบอำนาจ ตั้งเป็นผู้นำของชุมชนทางชนบท
อย่างเมื่อปลายปี 2020 ตอลิบานก็มีการตั้งกลุ่มชีอะห์ ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน เป็นหัวหน้าชุมชนในบางส่วนของภาคเหนือ ทั้งที่แต่ก่อนตอลิบานกับชีอะห์ ไม่ถูกกันเลย และตอลิบานยังเคยเข้าไปถล่มโจมตีชีอะห์อย่างโหดร้ายด้วยซ้ำ แต่ตอนหลังกลับแต่งตั้งและสร้างเครือข่ายสัมพันธ์กับชีอะห์ นี่คือการปรับตัว และปรับกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย
ด้วยเหตุนี้เวลาที่ตอลิบานเคลื่อนตัวไปยึดเมืองต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เขาได้รับการยอมรับ ไม่เห็นการต่อสู้ที่ดุเดือดสาหัสมากนัก จริงๆ ก็คือเขาคุยไว้หมดแล้ว สร้างเครือข่าย ยอมรับกลุ่มฝ่ายต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ธงของตอลิบาน
2.การปรับตัวในเรื่องของมีเดีย และช่องทางการติดต่อสื่อสาร เรื่องตอลิบานปรับตัวเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนไม่ยอมให้ประชาชนดูโทรทัศน์ แม้แต่วิทยุบางรายการก็ห้ามฟัง แต่ช่วงที่สหรัฐมีบทบาทในอัฟกานิสถาน และตอลิบานต้องเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีอิทธิพลเหนือชนบทในหลายพื้นที่ ตอลิบานยอมให้คนของตนดูโทรทัศน์ ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ได้ระดับหนึ่ง เรื่องของโชเชียลมีเดีย สมาร์ทโฟน ตอนหลังตอลิบานใช้เทคโนโลยีพวกนี้ เมื่อก่อนต่อต้าน บอกว่าไม่เป็นที่อนุมัติทางศาสนา แต่ปัจจุบันปรับตัวมาก
3.เรี่องสิทธิของสตรี มีการปรับตัวที่น่าสนใจมาก เพราะตอลิบานให้สิทธิ์ในการทำงาน การศึกษา และการเมือง จากเดิมที่ไม่ยอมให้เลย แต่ขออย่างเดียวให้อยู่ภายใต้กรอบของศาสนา และผู้หญิงไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ หรือประธานศาลสูงสุดของอัฟกานิสถานได้
สาเหตุของการปรับตัวในเรื่องนี้ ผมมองว่าเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาตอลิบานติดต่อสัมพันธ์กับเอ็นจีโอต่างชาติที่เข้าไปพัฒนาในอัฟกานิสถานมา และเข้าไปทำงานในชนบท พัฒนาการศึกษา การจะเข้าไปทำงานได้ ก็ต้องคุย ติดต่อประสานงานกับตอลิบาน ทำให้ตอลิบานเห็นโลกกว้างยิ่งขึ้น จากนักศึกษาศาสนาหลังเขา แล้วเข้ามาปกครอง ไม่มีความรู้ หรือ knowhow เลย วันนี้ตอลิบานปรับตัวไปจากเดิมมาก
4.การปรับตัวด้านการต่างประเทศ เรื่องนี้ก็เห็นได้ชัด เพราะเป้าหมายอย่างหนึ่งของตอลิบาน นอกจากจะตั้งรัฐอิสลาม หรือ Islamic State แล้ว เขายังต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับในตัวเขา แตกต่างจากกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ไม่สนใจว่าต่างชาติจะคิดอย่างไร
ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นการทัวร์พบมหาอำนาจประเทศโน้นประเทศนี้ และประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ พร้อมคำประกาศสร้างความเชื่อมั่นกับมหาอำนาจในภูมิภาคว่า ตอลิบานจะไม่เป็นภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัสเซีย นี่จึงเป็นการปรับตัวด้านการต่างประเทศด้วย
จริงๆ กลุ่มตอลิบานให้ความสำคัญกับงานด้านการต่างประเทศ ตั้งแต่เป็นรัฐบาลยุค 1.0 (ระหว่างปี ค.ศ.1996-2001) เพราะตอนนั้นอัฟกานิสถานยากจนมาก ต้องการการสนับสนุน เคยไปขอการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ
ส่วนในยุคใหม่นี้ ตอลิบานให้ความสำคัญกับจีน หวังว่าจีนจะเข้ามาฟื้นฟู นำเงินทุนเข้าไปฟื้นฟูประเทศ จึงเห็นการพูดคุยระหว่างจีนกับตอลิบาน ล่าสุดมีการพบปะกันอย่างเป็นทางการเลยกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่เมืองเทียนจิน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
แต่ถึงแม้จะมีรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ตอลิบานจะอิงอยู่ตลอด คือ หลักการชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม เพราะเรื่องนี้คนอัฟกานิสถานต่อสู้มา 40-50 ปี ตั้งแต่ยุคโซเวียตเข้ามายึดครอง และถูกต่อต้านจากนักรบมูจาฮิดีน (สงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ค.ศ.1979-1989 หรือ พ.ศ.2522-2532) จากนั้นกลุ่มมูจาฮิดีนขัดแย้งกันเอง กระทั่งกลุ่มตอลิบานเข้ายึดกรุงคาบูล และยึดอำนาจการปกครองได้ (ค.ศ.1996-2001 หรือ พ.ศ.2539-2544) ก่อนโดนสหรัฐโค่นล้ม (พ.ศ.2001 หรือ พ.ศ.2544) กินเวลานานถึง 20 ปี และแล้วกลุ่มตอลิบานก็กลับมาอีกครั้ง (ค.ศ.2021 หรือ พ.ศ.2564) จุดยืนของตอลิบานมั่นคงตลอด คือต้องการเปลี่ยนอัฟกานิสถานจากรัฐคอมมิวนิสต์ เป็นรัฐอิสลาม ก็คงจะเป็น Islamic State ในเวอร์ขั่นอีกแบบหนึ่ง
@@ ท่าทีของสหรัฐกับชาติตะวันตกจะเป็นอย่างไร?
บทบาทของชาติตะวันตก และสหรัฐ คงไม่ยอมรับรัฐบาลของตอลิบาน เพราะมีธงตั้งแต่ต้นว่าตอลิบานเป็นเครือข่ายกลุ่มก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง ใช้กฎหมายชารีอะห์ที่ชาติตะวันตกมองว่าโหดร้ายและล้าสมัย ฉะนั้นสหภาพยุโรปและอเมริกาคงไม่ยอมรับตอลิบาน
แต่โลกในปัจจุบันมีหลายขั้วอำนาจ มีจีน รัสเซีย ที่กำลังเป็นมหาอำนาจเทียบชั้นกับอเมริกา ฉะนั้นตอลิบานคงไม่สนในเรื่องนี้ และจะใช้โอกาสจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับฝ่ายที่เป็นพันธมิตรของจีนกับรัสเซียมากกว่าพึ่งพิงตะวันตก
ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งเป็นผู้ปกครองครั้งแรก อาจจะมองว่าเป็นตอลิบาน 1.0 ไม่ปรับตัว แข็งทื่อ แต่ครั้งนี้ตอลิบานน่าจะเป็นรัฐบาล 2.0 เพราะปรับตัวมากขึ้น
@@ การกลับมาของตอลิบานกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง?
ผมคิดว่าในมุมมองของชาติตะวันตก การกลับมาของตอลิบานจะทำให้กลุ่มที่ตะวันตกเรียกว่าผู้ก่อการร้าบใช้เป็นพื้นที่เคลื่อนไหว หลังไอเอสแตกพ่ายในอิรักและซีเรีย
แต่สำหรับผมเองมองอีกมุมหนึ่ง เพราะอัลกออิดะห์กับตอลิบานม่เป้าหมายและแนวทางแตกต่างกันมาก ตอลิบานต้องการการยอมรับจากประชาคมโลก หากเขาเอาตัวไปอิงแอบกับอัลกออิดะห์ หรือไอเอส จะเสียความชอบธรรมในสายตาประชาคมโลก
ฉะนั้นเชื่อว่าตอลิบาน 2.0 จะไม่ยอมรับอัลกออิดะห์ กับไอเอส แม้เมื่อก่อนจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในยุคสงครามเย็น แต่ปัจจุบันเห็นชัดเจนว่า 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันมาก
ที่สำคัญอัลกออิดะห์ไม่ได้มองว่าอัฟกานิสถานเป็นดินแดนที่มีความสำคัญ เพราะปัจจุบันสหรัฐถอนตัวแล้ว ไม่มีต่างชาติมีอิทธิพลเหนืออัฟกานิสถาน ฉะนั้นเขาจะไปที่อื่น ไม่ได้มองว่าอัฟกานิสถานมีความสำคัญ แต่จะไปปาเลสไตน์ อุยกูร์ ในความคิดของผม อัลกออิดะห์กับตอลิบานน่าจะแยกกัน
@@ การเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถาน กับผลที่มีต่อประเทศไทย?
ประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงอะไรกับอัฟกานิสถานมากนัก แต่เราเองก็ต้องจับตาสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค เพราะหน่วยข่าวกรองของทุกประเทศมองว่าดินแดนอัฟกานิสถานคือดินแดนของผู้ก่อการร้าย และเมื่อตอลิบานขึ้นมา ตอลิบานก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก่อการร้าย นี่คือมุมมองของหน่วยข่าวกรองแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตก ฉะนั้นหลายประเทศรวมถึงไทยก็คงคิดคล้ายๆ กัน อาจจะต้องเฝ้าระวังด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
แต่ผลอีกด้านหนึ่งที่คนอาจจะนึกถึงน้อย ก็คือกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา อาจจะเห็นตัวแบบตอลิบานที่ต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมากพอสมควร
แต่ต้องไม่ลืมบทเรียนของตอลิบานที่วันนี้พิสูจน์แล้วว่า ความสุดโต่งไปต่อไม่ได้ ต้อง compromise (ประนีประนอม) อย่างที่ได้เห็นการพูดคุยเจรจาของตอลิบาน การพยายามปรับตัวเรียนรู้สิ่งต่างๆ และมองโลกอย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น ยอมรับความทันสมัยมากขึ้น ผมเชื่อว่าเราจะเห็นตอลิบานในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่เหมือนภาพจำในอดีต และกลุ่มที่นิยมความรุนแรงทั้งหลายก็ต้องดูการเปลี่ยนแปลงของตอลิบานเป็นบทเรียน
///
ภาพประกอบจาก https://twitter.com/A7_Mirza/status/1426079997865910273/photo/3