“ฉันทำงานคนเดียว สามีติดอยู่ในมาเลเซีย กลับไม่ได้เพราะโควิด ต้องเลี้ยงลูก 4 คนด้วยตัวเองคนเดียว ทั้งๆ ที่เป็นโรคขาอ่อนแรง เดินอยู่ดีๆ ก็จะล้ม บางทีขับรถ (จักรยานยนต์) มาส่งลูกที่โรงเรียน รองเท้าจะหลุด หล่นข้างทางไม่รู้ตัว เพราะมันไม่รู้สึก”
นี่คืออีกหนึ่งภาพชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความทุกข์ยากมานานปี
เจ้าของเรื่องเล่านี้คือ สารีนะ หวังนุรักษ์ คุณแม่ลูกสี่ที่ถูกโควิดทำร้าย ต้องใช้ชีวิตเหมือน “แม่เลี้ยงเดี่ยว” กลายๆ เพราะสามีกลับบ้านไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองก็ยังเป็นโรคขาอ่อนแรง
“ทีมข่าวอิศรา” ได้พบกับ สารีนะ ระหว่างลงพื้นที่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อร่วมกิจกรรมกับ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ที่นำรองเท้านักเรียน อุปกรณ์การเรียน และข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนอาหารแห้งมามอบให้เด็กๆ และผู้ปกครอง
“กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” เป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่ทำกิจกรรมหาทุนมาช่วยชาวบ้านที่ทุกข์ยากในพื้นที่ วิธีการหาทุนก็เช่น ทำเส้นขนมจีนอบแห้งจำหน่าย แล้วนำรายได้มาช่วยคนที่เดือดร้อนลำบาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนตกงานจำนวนมาก ค้าขายไม่ได้ ซ้ำเติมราคายางพาราที่ยังไม่ดีนัก และกรีดยางได้ยากเนื่องจากฝนลง
การทำงานของ “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ได้รับความสนใจช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานภาครัฐ เพราะเป็นกลุ่มที่ลงพื้นที่จริง และเข้าถึงประชาชนผู้เดือดร้อนตัวจริง ขณะเดียวกันก็มี “ผู้ใหญ่ใจดี” และ “คนใจบุญ” จากนอกพื้นที่ร่วมบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนในการซื้อข้าวของเครื่องใช้แจกจ่ายให้กับผู้ที่ขาดแคลน
อย่างหนนี้ ผู้ใหญ่ใจดีคือ นายแพทย์ ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัยโควิด พร้อมด้วย แพทย์หญิง สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ภริยา โดยสิ่งของที่นำมาแจกบรรจุเป็นกล่องของขวัญ เพราะเป็นโอกาสวันคล้ายวันเกิดของแพทย์หญิง สุรางคณา จากเครือโรงพยาบาลสมิติเวช
สำหรับ “ศูนย์การศึกษาพิเศษ” ที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือ คือโรงเรียนที่เปิดขึ้นสำหรับดูแล “เด็กพิเศษ” ทั้งออทิสติก และพิการทางสมอง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับภาระเพิ่มเป็นทวีคูณ
ระหว่างที่สมาชิกกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯแจกของ โดยเฉพาะรองเท้าให้เด็กๆ ปรากฏว่า สารีนะ เดินเข้ามารับของเพื่อนำไปฝากลูกๆ ของเธอ แต่แล้วจู่ๆ ก็ลัมพับลง สร้างความตกตะลึงให้กับผู้พบเห็น ต้องช่วยกันพยุงขึ้นมา ก่อนที่เธอจะเล่าเรื่องราวชีวิตเศร้าของเธอให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่เธอเป็นโรคขาอ่อนแรง และต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกๆ 4 คนเพียงลำพัง เนื่องจากสามีไม่สามารถเดินทางกลับจากมาเลเซียได้
“วันนี้ดีใจมากที่ได้รับของขวัญ มีทั้งรองเท้า ถุงเท้า ขนมจีน ขนมอื่นๆ ของเล่นและสมุด ปากกา ทั้งยังมีหน้ากากอนามัยด้วย ถือว่า ลดภาระให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองมาก ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ให้มา และรู้สึกดีใจที่คนภาคอื่นไม่ลืมคนที่นี่” สารีนะ กล่าว
สำหรับเด็กๆ และผู้ปกครองที่มารับของขวัญ พากันยิ้มดีใจ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น อบอุ่น
ครูจิรภา หมัดอะดั้ม ครูประจำศูนย์พัฒนาพิเศษ อ.โคกโพธิ์ บอกว่า ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มีเด็กในระบบ 40 คน ช่วงนี้โรงเรียนยังปิดอยู่เพราะโควิด แต่ทางโรงเรียนได้นัดให้เด็กและผู้ปกครองมารับใบงาน ทำให้มีนักเรียนและพ่อแม่มาที่โรงเรียน
สำหรับสภาพของศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษเป็นอาคารเล็กๆ ชั้นเดียว ปลูกสร้างในลักษณะเรือนแถว มีประตูเข้า-ออกคล้ายเป็นห้อง แต่พื้นที่ด้านในไม่ได้แบ่งห้อง ไม่มีฉากกั้น เป็นห้องห้องเดียวยาวตลอดอาคาร ใช้ทั้งเรียน กินข้าวและทำครัว มุมหนึ่งของห้องยังมีเตาแก๊สและเครื่องครัวเล็กๆ ตั้งอยู่
“ห้องที่นี่เป็นห้องรวม ไม่ได้แยกเป็นสัดส่วน โดยเฉพาะครัว ทำให้ครูกังวลว่า เวลาที่ทำกับข้าวให้นักเรียน แล้วนักเรียนจะเข้ามาในครัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะมีเตาแก๊สอยู่ด้วย บางครั้งเราดูเด็กไม่ทัน เพราะที่นี่เรามีครูแค่ 2 คน ถ้าเราสามารถแยกห้องครัวจากห้องเรียนได้ก็คงดี” ครูจิรภา กล่าว
และว่า รู้สึกดีใจแทนเด็กๆ ที่ได้รับของขวัญ เด็กที่นี่หลายครอบครัวมีฐานนะยากจนมาก พ่อแม่ไม่มีรายได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด ทำให้ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนให้บุตรหลาน เมื่อมีข้าวของและอุปกรณ์การเรียนมาแจก ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ผู้ใหญ่ใจดีไม่ทิ้งเด็กๆ ที่สามจังหวัดใต้
สำหรับสาเหตุที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ทำกิจกรรมแจกรองเท้าให้เด็กๆ เพราะน้องๆ นักเรียนที่ชายแดนใต้ขาดแคลนรองเท้ากันมาก หลายคนไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียน บางคนต้องใส่รองเท้าแตะไป หรือไม่ก็เดินเท้าเปล่า
ส่วนกิจกรรมมอบถุงยังชีพ อาหารปรุงสุก และอาหารแห้งให้กับชุมชนที่ถูกสั่งปิด หรือได้รับความเดือดร้อน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ และองค์กรเครือช่าย รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชนจากหลายสำนักที่ชายแดนใต้ก็ยังคงจับมือกันเดินสายลงพื้นที่เยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง
อย่างช่วงปักษ์แรกของเดือน มิ.ย.64 ก็ได้ลงพื้นที่ ต.ตาชี ต.ปะแต ต.ยะหา อ.ยะหา, ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา, ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และ ต.คกโพธิ์ ต.สามยอด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีการเลี้ยงขนมจีนหลากสี รวมทั้งแจกสมุด ดินสอ ปากกา หน้ากากอนามัย และขนมให้เด็กๆ จำนวน 330 ชุด รวมถึงรองเท้านักเรียนด้วย โดยเน้นที่เด็กพิเศษ และเด็กที่มีความพิการทางกายและสติปัญญา รวมถึงนักเรียนยากจนที่ไม่มีรองเท้าใส่ โดยแจกไปจำนวนกว่า 50 คู่
ไซนับ ตีมุง ตัวแทนศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เล่าว่า สิ่งที่ได้เห็นหลังจากเด็กๆ และ ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับถุงยังชีพ อาหาร กล่องของขวัญ และรองเท้านักเรียน ทุกคนยิ้มและบอกดีใจมาก หลายคนขอบคุณแล้วขอบคุณอีก บางคนขอบคุณด้วยน้ำตาคลอ บางคนร้องไห้ทั้งๆ ที่กำลังยิ้ม
“สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ สำหรับบางคน กลับเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนที่ยากจน ยากไร้” ไซนับ กล่าว
แซะเราะ มีนา อายุ 57 ปี ชาวบ้านใน จ.ยะลา บอกว่า ความรู้สึกเหมือนเรากำลังจมน้ำแล้วมีคนมาช่วยเราให้หายใจได้ อธิบายไม่ถูก รู้อย่างเดียวว่า เรากำลังเดือดร้อน และความช่วยเหลือมาทันเวลา ทุกอย่างเป็นของจำเป็นมากในช่วงโควิด ฝากขอบคุณถึงผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยเหลือ ขอให้มีความสุขมากๆ และขอให้สุขภาพแข็งแรง
ขณะที่ สมศรี เอียดกล้า วัย 74 ปี ชาวบ้านใน จ.ยะลา เช่นกัน กล่าวขอบคุณด้วยน้ำตาคลอตา
“ยายไม่มีอะไรมาก มีแต่คำขอบคุณ ขอบคุณมากๆ ที่ไม่ลืมกันในวันที่เราลำบาก”
ทั้งหมดคือภาพชีวิตในบางส่วนเสี้ยวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงเลวร้าย และลำบากยากจนมาเนิ่นนานเต็มที...