เปิดเรียนวันแรกผู้ปกครองชาวยะลาเครียด มีมือถือเครืองเดียวไม่พอให้ลูก 6 คนต้องเรียนออนไลน์ ครอบครัวลำบากแค่หาเช้ากินค่ำ จะเอารายได้ที่ไหนซื้อโทรศัพท์ ขณะที่ ผอ.โรงเรียนบ้านเบอเส้ง ให้เรียนแบบ ON-HAND แจกเอกสารไปทำที่บ้าน ไม่สร้างภาระให้ผู้ปกครอง
วันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.64 วันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าหลายโรงเรียนต้องใช้วิธีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
แม้การเรียนแบบออนไลน์จะส่งผลดีต่อเด็กนักเรียน แต่ก็สร้างความกังวลให้ผู้ปกครองบางรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำและมีรายได้น้อย ซึ่งมีโทรศัพท์มือถือในครอบครัวไม่เพียงพอต่อจำนวนลูกของตนที่ต้องใช้ในการเรียนแบบออนไลน์
เช่น ครอบครัวของ นางรุสดา เหมเบีย ชาว จ.ยะลา เธอมีลูกถึง 6 คน ต้องเรียนแบบออนไลน์พร้อมกันทั้งหมด แต่เธอมีโทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว จึงไม่สามารถให้ลูกเรียนได้ครบทุกคน
“ฉันมีลูก 6 คน แต่มีโทรศัพท์มือถือเพียง 1 เครื่อง หนำซ้ำกล้องของโทรศัพท์ก็ไม่ค่อยชัด เพราะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า ซึ่งลูกๆ ทั้ง 6 คนต้องเรียนออนไลน์เวลาเดียวกันหมด ก็เลยไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร”
“ตั้งแต่เช้า ลูกๆ ต่างมาถามเรื่องจะเรียนออนไลน์ เขาจะได้เรียนเหมือนเพื่อนๆ ไหม ลูกคนโตก็บอกว่า ถ้าเขาไม่เข้าเรียน เขาก็จะไม่รู้เรื่องเลย ส่วนคนเล็กก็ร้องไห้ก่อนเลย กลัวว่าจะไม่มีโทรศัพท์เรียนออนไลน์” รุสดา เล่าถึงความอลหม่านในครอบครัว
เธอบอกต่อว่า ตอนแรกก็เป็นกังวลเรื่องอินเทอร์เน็ต ก็ได้ปรึกษากับแฟน จากนั้นแฟนก็ไปหายืมเงินมาเติมอินเทอร์เน็ต เล่นได้ 1 เดือน ก็ไม่ได้คิดว่าลูกๆ จะต้องมาเรียนเวลาตรงกัน
“หาเงินเติมเน็ตได้ ก็มาเจอปัญหาลูกเรียนเวลาเดียวกันอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่แอบร้องไห้ หลังเห็นลูกคนเล็กร้องกอดเท้า อยากเรียนออนไลน์ แต่เราไม่มีโทรศัพท์ให้ลูกเรียน“
รุสดา บอกต่อว่า จริงๆ ก็ดีใจที่ทางโรงเรียนยังไม่เปิดให้เด็กๆ ไปโรงเรียน เพราะกลัวลูกไปติดเชื้อโควิดที่โรงเรียน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่อีก แต่พอมาเรียนออนไลน์ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเราอีกเหมือนกัน
“คนจนก็แบบนี้แหละ ทำอะไรก็มีแต่ปัญหา ไม่มีดีสักอย่าง ทุกอย่างคือปัญหาหมด ทุกวันนี้สามีกรีดยางได้วันละร้อยบาท แบ่งกับเจ้าของสวนอีก เหลือเงินแค่พอซื้อมาม่าและไข่ จะให้ไปหยิบยืมเขาก็อาย” รุสดา เผยถึงความลำบากของครอบครัว
เมื่อหันไปฟังความรู้สึกของเด็กๆ ก็พบว่าน้องๆ หนูๆ พร้อมจะเรียนออนไลน์ แต่ติดขัดที่อุปกรณ์
อูบัย อาบู ลูกชายวัย 6 ปีของรุสดา บอกว่า วันนี้ไม่มีโทรศัพท์เลยไม่ได้เรียน แม่มีโทรศัพท์เครื่องเดียว แต่พวกเรามีหลายคน พอพวกเราทะเลาะ แม่ก็ไม่ให้ใครเรียนเลยปีนี้ขึ้น ป.1 กลัวครูจะดุถ้าไม่ได้เรียน ก็เลยร้องไห้เสียใจที่ไม่มีโทรศัพท์เรียนออนไลน์
ด.ญ.นุรฟาตีน อาบู ลูกสาวอีกคนอายุ 9 ขวบ เล่าว่า ปีนี้ขึ้น ป.5 แล้ว ดีใจมาก แต่ก็เสียใจมากที่ไม่ได้เรียนออนไลน์ ร้องไห้ต้องแอบร้องเพราะกลัวแม่เห็น แต่เข้าใจแม่มีโทรศัพท์เครื่องเดียว พวกเรามีหลายคน อยากให้ครูให้ใบงานมากกว่า จะได้ไม่ต้องเรียนออนไลน์ แต่พอทำใบงานก็ไม่เข้าใจอีก ก็รู้สึกงงๆ กับชีวิต ไม่รู้จะทำอย่างไร
ครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัวพบปัญหาไม่ต่างกัน บางครอบครัวหนักกว่า อย่างเช่น สือนะ อาแด ผู้ปกครองอีกราย บอกว่า เรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กๆ จะได้เรียนที่บ้าน ไม่ต้องไปเสี่ยงรับเชื้อโรคจากโรงเรียน แต่ตนเองไม่มีโทรศัพท์ จะให้ลูกเรียนอย่างไร
“ลูกมี 4 คน ทุกคนไม่ได้เรียนออนไลน์เลย ก็คงต้องรอโรงเรียนเปิดเป็นปกติถึงจะได้เรียน ส่วนตอนนี้ให้ลูกๆ มาช่วยเก็บผักขายก่อน ได้เงินก็มารวมกันซื้อกับข้าว เพราะตอนนี้ฝนตก กรีดยางไม่ได้ เงินไม่มี” สือนะ กล่าว
ปัญหาพ่อแม่ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้ลูกเรียนออนไลน์ ไม่เกิดกับนักเรียนและผู้ปกครองของโรงเรียนบ้านเบอเส้ง ต.เบอเส้ง อ.เมืองยะลา เนื่องจากโรงเรียนใช้ระบบการเรียนการสอนแบบ ON-HAND โดยให้นักเรียนเดินทางมารับเอกสารแบบฝึกหัดจากคุณครูและไปทำต่อที่บ้าน แทนการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ
นายหามิ เจ๊ะเต๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเบอเส้ง บอกว่า เหตุผลที่โรงเรียนใช้รูปแบบการเรียน ON-HAND เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน อีกอย่างจะไม่สร้างภาระให้กับผู้ปกครอง ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองต่างก็ยอมรับการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่ทางโรงเรียนเลือกให้
แน่นอนว่าการจัดการศึกษาต้องให้เด็กเป็นศูนย์กลาง และไม่ควรให้ความไม่พร้อมของอุปกรณ์มาเป็นอุปสรรคในการแสวงหาความรู้ของนักเรียน...