มีควันหลงจากการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระแรก เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าฝ่ายค้านอภิปรายคลาดเคลื่อน และขอสิทธิ์ได้ชี้แจงบ้าง
คำอภิปรายที่ฝ่ายความมั่นคงขอใช้สิทธิ์พาดพิง คือ คำอภิปรายของ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ที่พูดถึงงบผูกพันของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กว่า 600 ล้านบาท เพื่อสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดน บริเวณริมแม่น้ำโก-ลก ตั้งแต่ อ.ตากใบ ถึง อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งนายกมลศักดิ์มองว่า เป็นการใช้งบที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตและไม่เข้าใจหัวจิตหัวใจของพี่น้องชาวมลายูในพื้นที่ ซึ่งมีเครือญาติอยู่ในฝั่งมาเลเซีย และเดินทางไปมาหาสู่กัน รวมถึงค้าขายระหว่างกัน
นายกมลศักดิ์ อภิปรายเปรียบเทียบไปถึงกำแพงเบอร์ลินที่กั้นเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออก และกำแพงกั้นระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ เลยทีเดียว
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ข้อมูลว่า คำอภิปรายของ ส.ส.กมลศักดิ์ อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงขออธิบายดังนี้
1.งบประมาณรวมของโครงการนี้อยู่ที่ 642.8 ล้านบาทเศษ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สร้างกำแพงหรือรั้ว เป็นการสร้างเขื่อนกันคลื่นและกันตลิ่งพังริมแม่น้ำโก-ลก จำนวน 467 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของงบประมาณทั้งหมด
โครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง เป็นความจำเป็นของฝั่งไทย เนื่องจากฝั่งมาเลเซียสร้างเกือบตลอดแนวแล้ว โดยระยะทางของแม่น้ำโก-ลก ที่กั้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย 3 อำเภอ คือ อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง มีความยาวถึง 95 กิโลเมตร หากไทยไม่รีบสร้างเขื่อนริมแม่น้ำ จะทำให้คลื่นซัดเข้ามาแรงขึ้น ตลิ่งยิ่งพัง นอกจากจะเป็นการเสียดินแดน เพราะดินจะหายไปเรื่อยๆ แล้ว ประชาชนที่มีที่ดินอยู่ริมแม่น้ำจะสูญเสียที่ดินไปด้วย
2.การก่อสร้างรั้วชายแดนบริเวณนี้ มีเพียงบางจุดที่มีความอ่อนไหวจริงๆ เท่านั้น และส่วนใหญ่สร้างเป็นรั้วตาข่ายเหล็ก ไม่ใช่รั้วทึบ มีแค่ไม่กี่กิโลเมตรที่สร้างเป็นรั้วความมั่นคง
3.แนวชายแดนไทย-มาเลเซียในพื้นที่อื่นๆ เช่น ฝั่ง อ.สะเดา จ.สงขลา แถบ ต.ปาดังเบซาร์ รั้วชายแดนที่เห็นเป็นกำแพงถาวร ก่อสร้างโดยฝ่ายมาเลเซีย ส่วนไทยไม่ค่อยได้สร้างรั้วหรือกำแพง มีเพียงช่วง อ.เบตง จ.ยะลา เท่านั้น ที่มีการสร้างทั้งสองฝ่าย ทั้งไทยและมาเลเซีย
ฉะนั้นการก่อสร้างรั้วชายแดน จึงไม่ใช่แนวคิดของไทยฝ่ายเดียว และไม่ใช่เรื่องที่ต้องการให้กระทบกับความสัมพันธ์ของพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่ง สองประเทศ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงที่กระทบทั้งเศรษฐกิจ ได้แก่การขนส่งสินค้าหนีภาษี, เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะมีการลักลอบส่งยุทโธปกรณ์ข้ามแดน และยังเกี่ยวโยงกับเรื่องสาธารณสุข เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง จนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย
@@ ย้อนดูรายละเอียดโครงการ “รั้วชายแดน”
สำหรับรายละเอียดของโครงการรั้วชายแดน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบชายแดน กิจกรรมการเสริมสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะเร่งด่วน” ตามที่ กอ.รมน.เสนอนั้น “ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานรายละเอียดเอาไว้ เมื่อครั้งที่โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. เมื่อเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก บริเวณเขต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 467,023,729.84 บาท
2. ก่อสร้างรั้วตาข่ายเหล็กชายแดนสูง 2 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 114,687,66.27 บาท
3. ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางชายแดน ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 52,750,400 บาท บริเวณชุมชนบ้านตาบา ต.เจ๊ะเห ต.เกาะสะท้อน ต.โฆษิต และ ต.นานาค
4. สร้างฐานปฏิบัติการชุดเฝ้าตรวจชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 3 ฐาน ในพื้นที่บ้านตะเหลียง ต.เกาะสะท้อน บ้านศรีพงัน ต.เกาะสะท้อน และบ้านตาเซะ ต.นานาค อ.ตากใบ วงเงิน 6,051,511.02 บาท
5. การอำนวยการและการสร้างความเข้าใจ วงเงิน 2,300,000 บาท