คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดยะลา หรือ กทจ.ยะลา ออกคำสั่ง “ไล่ออก” เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบุดี อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 3 คน ที่เซ็นรับรองเบิกค่าเช่าบ้านเป็นเท็จแล้ว ทำให้ทั้งหมดต้องออกจากราชการ และไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญใดๆ หลังพ้นตำแหน่ง
กรณีนี้เคยตกเป็นข่าวฮือฮาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ได้พิพากษาจำคุกเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบุดี 3 คน ที่ลงชื่อรับรองการเบิกค่าเช่าบ้านเป็นเท็จ โดยให้จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับเป็นเงิน 6,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ขอเบิกค่าเช่าบ้าน ถูกฟ้องอาญาฐานฉ้อโกงเทศบาลตำบลบุดีโดยใช้เอกสารปลอม และถูกออกจากราชการไปก่อนแล้ว
ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา ตามขั้นตอนของกฎหมาย ทางเทศบาลตำบลบุดี โดยนายดาโอะ เจ๊ะตู นายกเทศมนตรีตำบลบุดี (คนเก่าก่อนเลือกตั้ง) ต้องเสนอให้ปลัดเทศบาลตำบลบุดี ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดยะลา (กทจ.ยะลา) เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่ 3 รายดังกล่าว ซึ่งทางนายกเทศมนตรีก็ได้ส่งเรื่องไปตามขั้นตอน
ต่อมา กทจ.ยะลา ได้ออกคำสั่ง “ไล่ออก” เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบุดีทั้ง 3 คน ทำให้ทั้งหมดต้องออกจากราชการทันที ประกอบด้วย ปลัดเทศบาลตำบลบุดี (คนเก่า) ผอ.กองคลัง และหัวหน้าบริหารงานทั่วไป ส่วนเจ้าหน้าที่นักพัฒนาชุมชน เจ้าของเรื่องขอเบิกค่าเช่าบ้าน ถูกออกจากราชการไปก่อนหน้านั้นแล้ว
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามเจ้าหน้าที่และพนักงานในสำนักงานเทศบาลตำบลบุดี ปรากฏว่าทุกคนพากันแสดงความเสียใจกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องโดนคำสั่งจาก กทจ.ยะลา ไล่ออกจากราชการฐานผิดวินัยร้ายแรง
“กทจ.ยะลา ใช้ยาแรงเกินไปที่ไล่ออกจากราชการ เพราะทั้ง 3 คนที่เป็นกรรมการพิจารณาเรื่องเบิกค่าเช่าบ้าน แค่เซ็นให้เบิกจ่ายเงินค่าเช่าโดยเชื่อใจในตัวของผู้เบิกเงิน จึงไม่ได้ไปดูสถานที่จริงว่า เช่าบ้านอยู่จริงหรือไม่ ฉะนั้นน่าจะลงโทษให้เบากว่านี้ และอนาคตเชื่อว่า 3 คนนี้จะอยู่ลำบากอย่างแน่นอน เพราะบำนาญก็ไม่ได้รับ” เจ้าหน้าที่เทศบาลรายหนึ่ง บอกกับทีมข่าว
@@ ย้อนต้นตอคดีโกงค่าเช่าบ้านเจอคุก-ไล่ออก!
ที่มาที่ไปของคดีสรุปว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นรายหนึ่งเป็นผู้หญิง ย้ายจาก จ.ปัตตานี ไปสังกัดเทศบาลตำบลบุดี อ.เมืองยะลา จึงมีสิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 แต่ในความเป็นจริง ข้าราชการส่วนท้องถิ่นรายนี้ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านครอบของครัวสามี ไม่ได้เช่าบ้านเพื่อพักอาศัยจริง แต่กลับทำเรื่องเบิกเงินค่าเช่าบ้านจากเทศบาลมาใช้สอยส่วนตัว
วิธีการที่ข้าราชการรายนี้ดำเนินการ คือ นำทะเบียนบ้านหลังหนึ่งของญาติที่เปิดเป็นร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย และไม่ได้เช่าอยู่อาศัยจริง นำไปยื่นเป็นหลักฐานขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านจากทางเทศบาล
ต่อมา นายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเช่าบ้าน ประกอบด้วย ปลัดเทศบาล, ผู้อำนวยการกองคลัง และหัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป โดยให้ไปตรวจสอบการเช่าบ้านว่า มีการเช่าพักอาศัยอยู่จริงหรือไม่ ราคาค่าเช่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อเสนอความเห็นให้นายกเทศมนตรีพิจารณาว่า จะอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านหรือไม่
ปรากฏว่า คณะกรรมการตรวจสอบการเช่าบ้านทั้ง 3 คน ไม่ได้เดินทางไปตรวจสอบบ้านเช่าจริงๆ แต่ได้ร่วมกันลงนามรับรองว่าข้าราชการท้องถิ่นที่ทำเรื่องเบิก ได้เช่าบ้านพักอาศัยอยู่จริง ราคาค่าเช่าบ้านเหมาะสม แล้วเสนอเรื่องต่อนายกเทศมนตรี อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านได้ และเบิกต่อเนื่องนานเกือบ 8 ปี
ต่อมาพลเมืองดีทราบเรื่อง จึงยื่นเรื่องร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยรายชื่อ (บัตรสนเท่ห์) ไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ จากนั้นสำนักงาน ป.ป.ช.ได้พิจารณามอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 แสวงหาข้อเท็จจริง และไต่สวนจนทราบว่าเรื่องร้องเรียนมีมูลความผิดทั้งอาญาและวินัย จึงได้ได้มีมติชี้มูลความผิดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเช่าบ้านทั้ง 3 รายว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แล้วส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการตรวจสอบการเช่าบ้านทั้ง 3 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) และมาตรา 162 (รับรองเอกสารเท็จ) ให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท แต่ในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยทั้ง 3 คนให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
ส่วนข้าราชการท้องถิ่นหญิงผู้เบิกค่าเช่าบ้านเท็จ สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่สุจริต เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงเทศบาล และใช้เอกสารปลอม จึงส่งเรื่องให้เทศบาลดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย