แม่ทัพภาค 4 เปิดแผนปฏิบัติการเชิงรุกเฝ้าระวังชายแดน สกัดลักลอบข้ามแทนทั้งบก-เรือ-อากาศ ตลอดแนว 4 จังหวัด สงขลา นราธิวาส ยะลา สตูล หลังมาเลย์ปิดน์ประเทศ 14 วัน เผยบรรยากาศรัฐเปรัค ติดเบตงสุดเงียบเหงา ทุกอย่างหยุดนิ่งรับล็อกดาวน์ ขณะที่สถานการณ์โควิดชายแดนใต้ สงขลายังอ่วมคลัสเตอร์เรือนจำ
วันอังคารที่ 1 มิ.ย.64 เป็นวันแรกที่ประเทศมาเลเซียเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ และจะใช้ต่อเนื่องนับจากนี้ 14 วัน คือถึงวันที่ 14 มิ.ย.64
ที่รัฐเปรัคซึ่งอยู่ติดกับ อ.เบตง จ.ยะลา "ทีมข่าวอิศรา" ประจำ อ.เบตง รายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเลเซียในรัฐเปรัค ได้นำรถกระจายเสียง รถประชาสัมพันธ์ ออกรณรงค์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนตามชุมชน หมู่บ้าน และจุดสำคัญในพื้นที่ ได้ทราบถึงมาตรการป้องกันตนเองต่อโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ส่วนบรรยากาศในตัวเมืองที่ติดกับแนวชายแดนไทย ปรากฏว่าผู้คนบางตา ทั้งที่ปกติแล้วการจราจรจะติดขัดและผู้คนแออัด ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ตและสถานที่ขายอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ให้ลูกค้าซื้อกลับบ้านเท่านั้น โดยมีการอนุญาตให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของใช้จำเป็น หรือรับบริการทางการแพทย์ครั้งละไม่เกิน 2 คน และเดินทางไปไกลจากบ้านได้ไม่เกิน 10 กิโลเมตร
มีรายงานว่า หากการปิดเมืองระยะแรกประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทางการมาเลเซียจะเข้าสู่มาตรการปิดเมืองระยะที่ 2 โดยจะอนุญาตให้ธุรกิจบางส่วนที่ไม่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก เริ่มเปิดบริการอีกครั้งต่อไปอีก 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่เปิดให้ห้างร้านทำธุรกิจได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ เหลือเพียงมาตรการจำกัดการเดินทาง และงดกิจกรรมทางสังคมเท่านั้น
@@ แม่ทัพ 4 เปิดแผนรุกป้องกันชายแดน
ขณะที่ชายแดนฝั่งไทยซึ่งมีพรมแดนต่อเนื่องกับมาเลเซียทั้ง จ.นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
ในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา พล.ท.เกียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงตรวจพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย บริเวณหลักเขตแดนที่ 23/41 หมู่ 7 ต.สำนักขาม ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมที่มักมีการตรวจจับผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้บ่อยครั้ง โดยได้สั่งการให้เพิ่มกำลังและยุทโธปกรณ์เครื่องมือเทคนิคพิเศษต่างๆ เข้ามาอุดช่องโหว่ เสริมประสิทธิภาพการป้องกันชายแดนในช่วงที่มาเลเซียล็อกดาวน์ประเทศ
พร้อมกันนี้ ให้จัดตั้งที่ทำการทางยุทธวิธี (ทก.ยว) กองกำลังเทพสตรี หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 ควบคุมกำกับดูแลบริหารสถานการณ์ตามแนวชายแดน เสริมกำลังพลอุดช่องว่างบริเวณจุดล่อแหลม เฝ้าตรวจตามแนวชายแดน สกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาในทุกช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ท.เกรียงไกร กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 1-14 มิ.ย.ที่มาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ได้จัดตั้งที่ทำการทางยุทธวิธีในพื้นที่ชายแดน ทั้งฝั่งสะเดา จ.สงขลา และสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อควบคุมกำกับดูแล อำนวยการให้กำลังและเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมด สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยประสานทำงานของกำลังภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถเดินหน้าไปได้ โดยที่ทำการทางยุทธวิธี นอกจากกำลังทหารแล้ว ยังมีตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งตรวจคนเข้าเมือง ทำงานร่วมกัน
นอกจากนั้น ยังเสริมเพิ่มเติมกำลังที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ส่งมาให้ 5 ชุดปฏิบัติการ เข้าไปช่วยเสริมลาดตระเวนจรยุทธ์ร่วมกับชุดเฝ้าตรวจชายแดนของกองกำลังเทพสตรี โดยตลอดพื้นที่แนวชายแดน จ. สงขลา และ จ. สตูล มีการจัดกำลังชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ลาดตระเวนตลอดแนว ครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล โดยการประสานร่วมกับทัพเรือภาค 3 เพื่อควบคุมจุดล่อแหลม ช่องทางธรรมชาติต่างๆ สกัดกั้นให้มีช่องว่างน้อยที่สุด ในส่วนของรั้วชายแดนที่ถูกทำลายก็ได้มีซ่อมแซม อุดทุกจุดเรียบร้อย และมีการติดตั้งเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจจับหากมีการลักลอบมาก็จะรู้ได้ทันที อีกทั้งยังจัดอากาศยานลาดตระเวนทางอากาศเข้ามาเสริมอีกด้วย
แม่ทัพภาค 4 กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติกรรมการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ฝั่งสงขลา มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ พี่น้องประชาชนคนไทยที่ไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย และแรงงานต่างด้าวที่ต้องการเข้ามายังประเทศไทย จึงได้มีมาตรการรองรับทั้ง 2 ส่วน โดยคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับมายังมาตุภูมิ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้ามาตามช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการเปิดให้ลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์
ส่วนการลักลอบเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติ ได้มีกำลังเฝ้าตรวจอย่างเข้มข้น พร้อมใช้งานการข่าวเชิงรุก ควบคุมพื้นที่รอบนอก ตลอดจนพื้นที่ตอนในจากกำลังภาคประชาชน เมื่อตรวจพบบุคคลลักลอบข้ามแดน จะส่งเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและดำเนินตามกรรมวิธีของกฎหมายโดยทันที ขอให้ประชาชนได้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ดูแลแนวชายแดนเต็มที่
นอกจากนี้ พล.ท.เกรียงไกร ยังได้เดินทางไปยังด่านศุลกากรตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ลงเรือลาดตระเวนทางน้ำตามแนวชายแดนแม่น้ำโก-ลก ไปยังกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 (ร้อย.ปชด.ที่ 2) โดยได้พบปะกำลังพล พร้อมมอบสิ่งของบำรุงขวัญและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และยังไปตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ด้วย จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยัง อ.สุไหงโก-ลก เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ (ชป.จรยุทธ์) กองร้อยทหารพรานที่ 4514, ชป.จรยุทธ์ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 และ ร้อย.ปชด.ที่ 3 เพื่อมอบสิ่งของบำรุงขวัญกำลังพล
@@ ศบค.ยะลา ยกเลิกพื้นที่เสี่ยงอีก 4 หมู่บ้าน
ด้านสถานการณ์โควิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ได้มีประกาศคำสั่งจังหวัดยะลาที่ 79/2564 เรื่อง ยกเลิกพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 5) เนื่องจากมีบางพื้นที่ไม่มีผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มเป็นระยะเวลา 14 วันติดต่อกัน จึงมีมาตรการผ่อนปรน ยกเลิกพื้นที่เสี่ยงควบคุม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 ประกอบด้วย
1.บ้านกำปงบูเกะ (ชุมชนกำปงบูเกะ ซอยกูโบร์) หมู่ 8 ต.สะเตงนอก อ.เมือง
2.บ้านบาละ หมู่ 1 ต.บาละ อ.กาบัง
3.บ้านคชศิลา (กลุ่มบ้านบายออิสลาม) หมู่ 4 ต.บาละ อ.กาบัง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. จังหวัดยะลาได้ผ่อนปรนยกเลิกพื้นที่เสี่ยงควบคุม ที่บ้านกาสัง หมู่ 3 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา ไปก่อนแล้ว ทำให้ จ.ยะลา ยังคงเหลือหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.รามัน 4 หมู่บ้าน และอ.บันนังสตา 1 หมูบ้าน
@@ คลัสเตอร์เรือนจำสงขลาโผล่ 92 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ประจำวันอังคารที่ 1 มิ.ย.64
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 342 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 164 ราย รักษาหายแล้ว 173 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 5 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,455 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 90 ราย, อ.กรงปินัง 41 ราย, อ.เบตง 20 ราย, อ.รามัน 62 ราย, อ.บันนังสตา 35 ราย, อ.กาบัง 4 ราย อ.ธารโต 69 ราย และ อ.ยะหา 21 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 164 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 54 ราย โรงพยาบาลเบตง 4 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 1 ราย โรงพยาบาลยะหา 5 ราย โรงพยาบาลสนาม 73 ราย และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ 27 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ 347 ราย รักษาหายแล้ว 285 ราย และเป็นจังหวัดเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
มีผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 15 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 30 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 3 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 3 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี 7 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 2 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 1 ราย และส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 146 ราย, อ.หนองจิก 88 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 33 ราย, อ.สายบุรี 25 ราย, อ.ไม้แก่น 2 ราย, อ.แม่ลาน 3 ราย, อ.ยะรัง 18 ราย, อ.ปะนาเระ 15 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 4 ราย และ อ.มายอ 5 ราย ส่วน อ.กะพ้อ ยังเป็นอำเภอเดียวในสามจังหวัดชายแดนใต้และสงขลาที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 36 ราย แยกเป็นในพื้นที่ อ.เมือง 1 ราย (ต.บางนาค) อ.ตากใบ 26 ราย (ต.เกาะสะท้อน, ต.โฆษิต) และ อ.บาเจาะ 9 ราย (ต.กาเยาะมาตี, ต.บาเจาะ , ต.ปะลุกาสาเมาะ, ต.ลูโบสาวอ) เป็นผู้ป่วยสะสม 971 ราย รักษาหายแล้ว 694 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 507 ราย, อ.ระแงะ 38 ราย, อ.รือเสาะ 34 ราย, อ.บาเจาะ 44 ราย, อ.จะแนะ 15 ราย, อ.ยี่งอ 8 ราย, อ.ตากใบ 248 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 8 ราย, อ.สุไหงปาดี 36 ราย, อ.ศรีสาคร 11 ราย , อ.แว้ง 15 ราย, อ.สุคิริน 4 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 113 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 17 ราย, กลุ่มผู้ต้องขังเรือนจำ 92 ราย, กลุ่มค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 1 ราย และกลุ่มรอสอบสวนโรค 3 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,762 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 1,749 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 677 ราย รักษาหายแล้ว 1,076 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุ 81 ปี ชาว อ.เมืองสงขลา มีโรคประจำตัวเบาหวาน ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 9 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 630 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 886 ราย, อ.เมืองสงขลา 216 ราย, อ.บางกล่ำ 82 ราย, อ.นาหม่อม 15 ราย, อ.จะนะ 176 ราย, อ.รัตภูมิ 17 ราย, อ.สะเดา 31 ราย, อ.สิงหนคร 13 ราย, อ.เทพา 6 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 17 ราย, อ.นาทวี 6 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 19 ราย, อ.สทิงพระ 2 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย, อ.ควนเนียง 1 ราย เป็นกรณีเรือนจำ จ.สงขลา 236 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 15 ราย และจากต่างประเทศ 13 ราย