ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ไม่พลาดที่จะร่วมอภิปรายงบประมาณดับไฟใต้ ทั้งงบบูรณาการ งบภาพรวม และงบด้านการข่าว พร้อมแนะ 3 ข้อในการเสนองบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกู้คืน หรือ recovery วิถีแห่งสันติสุข ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
ผู้ที่รับหน้าที่นี้ คือ นายณัฐวุฒิ บัวประชุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“ทีมข่าวอิศรา” สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ
“ในภาพรวมของการใช้งบประมาณยุทธศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มียุทธศาสตร์ 2 แบบที่ต้องได้รับการพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน คือ ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติ กับตัวชี้วัดยุทธศาสตร์งบประมาณ ซึ่งไม่เหมือนกัน
ตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดชัดเจนว่างบประมาณในแต่ละปีต้องลดลงโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 10% ตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ความมั่นคง ท่านบอกว่าต้องลดจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลงนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ปีละ 20%
ถ้าดูตัวเลขตรงๆ จะเห็นว่างบประมาณมีการลดลงทุกปี โดยที่ปี 2562 อยู่ที่ 11,900 ล้านบาทเศษ, ปี 2563 เหลือ 10,600 ล้านบาท, ปี 2564 เหลือ 8,290 ล้านบาท และปีนี้ (2565) เหลือ 7,144 ล้านบาท ตัวเลขดูลดลงจริง
สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 7 ปี งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ไป ตั้งแต่ปี 2558 ใช้ไป 25,000 กว่าล้านบาท ปี 2559 อีก 30,000 กว่าล้าน ในภาพรวมทั้งหมด 17 ปี นับตั้งแต่สถานการณ์ชายแดนภาคใต้เกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยใช้งบประมาณไปแล้ว 3.21 ล้านล้านบาทเศษ นี่เท่ากับตัวเลขของการขอรับงบประมาณในปีนี้เลย
ในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2558 ไม่นับปี 2557 ที่ท่านใช้เงินปีงบประมาณ 2557 ไปบางส่วน (ตั้งงบไว้ก่อนที่จะเข้าควบคุมการปกครอง) ท่านใช้ไปแล้ว 130,000 กว่าล้านบาท แสดงว่าตัวเลขที่ลดลงของงบประมาณนั้น จริงๆ รวมแล้วมหาศาล และไม่ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหา
ถ้าลองดูสถิติความรุนแรงในภาคใต้ที่บอกว่าลดลง ผมก็เอาข้อมูลของสถิติในภาคใต้มาให้ดูว่าลดลงจริงหรือไม่ เทียบกันแค่ 6 เดือนในแต่ละปีงบประมาณ เช่น ต.ค.62 - มี.ค.63 และ ต.ค.63 - มี.ค.64 ดูตัวเลขที่ท่านบอก สถานการณ์ความรุนแรงลดลงจริง ปี 62 เกิดอยู่ 80 ครั้ง เหลือ 44 ครั้ง ลดมาเหลือ 38 ครั้ง ก็ดูเสมือนจะตอบโจทย์กับความรุนแรงที่ท่านบอกลดลงปีละ 10%
แต่ท่านเห็นตัวเลขบางอย่าง เช่น สถิติการวางเพลิงที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ 6 เดือนนี้มีแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง การก่อกวนต่างๆ โปรยตะปูเรือใบ ปาระเบิด ปาประทัดยักษ์ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่บอกว่าล็อกดาวน์ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในภาคใต้ ปรากฏว่า ตัวเลขปีนี้ขยับขึ้นมา 29 ครั้ง
ฉะนั้นในภาพรวมทั้งหมดเหตุการณ์ในภาคใต้ เทียบกับ 6 เดือนของปีก่อนหน้านี้ กลายมาเป็น 67 กับ 47 ครั้ง นี่ไม่ใช่ตัวเลขที่ลดลง แต่เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นภาพรวมของยุทธศาสตร์ที่ท่านตั้งการใช้งบประมาณ ไม่ใช่อย่างที่ท่านบอกแน่นอน
ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข่าวกรอง บวกลบคูณหารตัวเลขปวดหัวที่สุด ท่านขอมาในแผนงบ กอ.รมน. 310 ล้านบาท หน่วยงานอื่น 436 ล้านบาท บวกแล้ว 746 ล้านบาท แต่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในภาคใต้เขาส่งข้อมูลมาเอางบไปซ่อนไว้ในจุดอื่นอีก 540 ล้านบาท อย่างน้อยที่สุด กอ.รมน.มีงบ 850 ล้านบาทที่ทำเรื่องการข่าว ที่ทำเรื่องสายข่าว ที่ทำเรื่องข่าวกรอง ที่ทำเรื่องการสร้างสายข่าวที่นำไปสู่การสร้างความแตกแยก เท่ากับว่าต้องเอา 850 ล้านบาท บวก 436 ล้านบาท นี่มหาศาล มโหฬาร ท่านติดกล้อง cctv ทุกเสาไฟฟ้าหรือครับ ท่านติดกล้อง cctv หน้าบ้านเขา แต่ติดหน้าค่ายทหารไหมครับ จะได้รู้ว่ากลางคืนใครที่ออกไปในยามวิกาล
ได้เวลา Recovery Thailand พรรคก้าวไกลเสนอง่ายๆ
1.ยุทธศาสตร์ ‘ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์’ เคารพความแตกต่างหลากหลาย แต่เว็บไซด์ Pulony ยังลงบทความที่กล่าวหาตระกูลการเมืองหนึ่งในภาคใต้ว่า แบ่งแยกดินแดน ท่านปล่อยได้อย่างไร นี่คือความเจ็บปวดที่รัฐบาลควรจะต้องขอโทษต่อตระกูลการเมืองนั้น ที่อุ้มหายเขาตั้งแต่ปี 2495 ทายาทเขาก็นั่งอยู่ในสภาแห่งนี้
2.เป้าหมายคือการเจรจาสันติภาพและการพัฒนา (อ้างอิงการสำรวจความเห็นคนในพื้นที่ พบว่าอยากให้มีการเจรจาสันติภาพ) แต่ไม่ใช่งบประมาณการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งใส่อย่างไรก็ไม่มีการล้างสมองเขาได้ เพราะท่านไม่ได้ให้ใจเขา
3.ยุทธวิธี คือความเป็นปกติสุข คือให้อำนาจการตัดสินใจ ยอมรับหรือไม่ว่า 88% ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพี่น้องมลายูมุสลิม ยอมรับหรือไม่ว่าเขานับถือศาสนาอิสลาม ยอมรับหรือไม่ว่ารัฐไทยได้รังแกเขามาตลอด 60-70 ปี การจัดสรรงบประมาณจึงต้องควรเป็นไปเช่นนั้น
ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นิพนธ์ บุญญามณี ให้สัมภาษณ์เมื่อ 4 เม.ย.64 ว่าปัญหาในชายแดนภาคใต้ คือปัญหาภาวะโภชนาการของเด็ก ผมไม่นับการตายของทารกแรกเกิด ไม่นับการคลอดก่อนกำหนดที่สูงกว่าภาคอื่น 30 เท่า คาดว่าต้องใช้งบ 165 ล้านบาท รัฐบาลมีงบในปี 64 ประมาณ 70 ล้านบาท ที่เหลือไปขอเอาในงบประมาณปี 65
อยากจะถามท่านผู้ชี้แจงทั้งหมด บอกผมหน่อยได้ไหมว่า งบที่จะแก้ปัญหาโภชนาการให้เด็กที่ท่านนิพนธ์ บุญญามณี ขออยู่ตรงไหนในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 65 และท่านนิพนธ์บอกอีกนะครับ ถ้าปี 65 ไม่ได้ ให้ไปขอเอาในปี 66 งบประมาณแค่ 165 ล้านบาทเองนะครับ เมื่อเทียบกับ 3.1 ล้านล้านบาทที่ท่านของบประมาณมาในปีนี้”