โควิดชายแดนใต้ยังไม่พ้นวิกฤติ เร่งตรวจผู้สัมผัสเสี่ยง 106 รายใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หลังติดเชื้อ 17 รายต้องปิดทั้งตำบลเกาะสะท้อน ด้าน ผบ.ฉก.นราธิวาส ร่วมลาดตระเวนทางน้ำคุมเข้มชายแดนไทย-มาเลย์ ขณะที่ปัตตานีเร่งตรวจเชิงรุกแม่ค้าตลาดสด ยะลาสั่งงดละหมาดรายอ - พระเณรงดบิณฑบาต
วันจันทร์ที่ 10 พ.ค.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกจังหวัด
เริ่มจาก จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 32 ราย ในพื้นที่ อ.ตากใบ 17 ราย อ.เมือง 8 ราย อ.แว้ง 3 ราย อ.รือเสาะ 2 ราย อ.สุไหงปาดี 1 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 578 ราย รักษาหายแล้ว 510 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
ผู้ติดเชื้อทั้งหมดแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 427 ราย, อ.ระแงะ 15 ราย, อ.รือเสาะ 25 ราย, อ.บาเจาะ 8 ราย, อ.จะแนะ 6 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 68 ราย, อ.สุไหงโก- ลก 6 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย, อ.ศรีสาคร 4 ราย อ.แว้ง 5 ราย และ อ.สุคีริน 1 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย
จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มเป็น 212 ราย รักษาหายแล้ว 57 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 27 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 50 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 55 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 9 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 7 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 4 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 121 ราย, อ.หนองจิก 43 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 19 ราย, อ.สายบุรี 7 ราย, อ.ไม้แก่น 1 ราย, อ.แม่ลาน 1 ราย, อ.ยะรัง 3 ราย, อ.ปะนาเระ 6 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 3 ราย และ อ.มายอ 3 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 126 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 89 ราย รักษาหายแล้ว 34 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,281 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 32 ราย, อ.กรงปินัง 37 ราย, อ.เบตง 15 ราย, อ.รามัน 37 ราย อ.บันนังสตา 1 ราย และ อ.กาบัง 4 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 89 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 39 ราย โรงพยาบาลเบตง 2 ราย และโรงพยาบาลสนาม 48 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 3 ราย กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย 16 ราย และกลุ่มเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 1 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 855 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 851 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 338 ราย รักษาหายแล้ว 514 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 151 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 617 ราย, อ.เมืองสงขลา 122 ราย, อ.บางกล่ำ 19 ราย, อ.นาหม่อม 11 ราย, อ.จะนะ 15 ราย, อ.รัตภูมิ 12 ราย, อ.สะเดา 6 ราย, อ.สิงหนคร 8 ราย, อ.เทพา 5 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 2 ราย, อ.นาทวี 5 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 4 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย อ.ควนเนียง 1 ราย และเป็นคนต่างจังหวัด 12 ราย
@@ ตากใบเร่งตรวจสัมผัสเสี่ยงอีก 106 ราย
สถานการณ์โควิดที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ หนักที่สุดอยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดย นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอตากใบ ได้เดินทางลงพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน เพื่อติดตามมาตรการปิด 9 หมู่บ้านของตำบล หลังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนกลายเป็นคลัสเตอร์ ต.เกาะสะท้อน
รายงานของกลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยงโรงพยาบาลตากใบ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกรณีเดียวกัน จำนวน 17 ราย แยกเป็น ต.เกาะสะท้อน จำนวน 16 ราย และ ต.ไพรวัน จำนวน 1 ราย
ทั้งนี้ในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน จะทำการปิดและควบคุมป้องกันใน 3 ส่วน คือ จุดตรวจคัดกรองหลัก บริเวณทางเข้าตำบลเกาะสะท้อน ด่านสกัดระหว่างหมู่บ้าน และด่านสกัดระหว่างตำบล อีกทั้งถนนที่เป็นรอยที่ข้ามเขตระหว่างตำบล ได้นำลวดหนามหีบเพลงมาปิดกั้น ห้ามรถทุกชนิดสัญจรผ่าน และห้ามบุคคลเดินทางเข้าออก ยกเว้นการอนุญาตตัวแทนครัวเรือนละ 1 คน สามารถออกไปจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค กับรถเร่ที่จะมาจอดจำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าหมู่บ้านเท่านั้น มาตรการดังกล่าวนี้เบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 9-22 พ.ค.64
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อเบื้องต้น มีจำนวน 106 คน เจ้าหน้าที่เริ่มทยอย swab หาเชื้อโควิด-19 แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกนำเข้ากักตัวที่สถานกักกันของรัฐ(Local Quarantine) โรงเรียนบ้านเกาะสะท้อน เป็นเวลา 14 วัน ขณะที่ชุดสอบสวนโรคยังเดินหน้าสแกนหาผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
@@ ผบ.ฉก.นราธิวาส ลาดตระเวนทางน้ำคุมเข้มชายแดน
พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้ลงพื้นที่ร่วมลาดตระเวนทางน้ำ พร้อมกำชับเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย ตามลำน้ำตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรวจสอบช่องทางข้ามธรรมชาติของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยด้าน จ.นราธิวาส กับรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นจุดสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีผู้ลักลอบเข้าประเทศ และเสี่ยงต่อการนำเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ ข้ามฝั่งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้
ผบ.ฉก.นราธิวาส ยังได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ เพิ่มมาตรการคุมเข้มตลอดแนวชายแดน สกัดกั้นพื้นที่รับผิดชอบ อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง เพิ่มมาตรการในการลาดตระเวน โดยให้หน่วยบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด การเสริมกำลังตามแนวชายแดน โดยเฉพาะช่องทางที่มีชุมชนหรือหมู่บ้านอาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดน
@@ เร่งตรวจเชิงรุกพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดปัตตานี
ส่วนความคืบหน้าสอบสวนหาเชื้อโควิด-19 กับพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดปัตตานี (ตลาดเทพวิวัฒน์1) อ.เมือง จ.ปัตตานี นั้น
ล่าสุดทางโรงพยาบาลปัตตานีได้จัดทีมแพทย์-พยาบาลลงพื้นที่ตลาด เพื่อตรวจเชิงรุก มีพ่อค้าแม่ค้ามาต่อคิวมากกว่า 400 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สามารถให้บริการได้เพียง 400 คน ส่วนที่เหลือให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลปัตตานี เนื่องจากกระบวนการขั้นตอน swab ต้องใช้เวลาพอสมควร
ด้าน ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดตอนนี้ดูท่าไม่ค่อยจะดี ทั้งสามจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยรวมหลักหลายร้อยคนต่อจังหวัด และยังค้นพบผู้ป่วยใหม่อยู่ทุกวัน ตราบที่ยังไม่เจอผู้ป่วยโควิดคนสุดท้าย หมายถึงเจอแล้วไม่เจอต่อเนื่องอีก 28 วัน ก็ต้องสันนิษฐานเสมอว่ายังมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่
ในวันรายอ อีฏิลฟิตรีปีนี้ อยากเชิญชวนทุกท่านช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของเรากลับไปเป็น 0 โดยเร็วที่สุด โดยการงดเว้นการพบปะผู้คนจำนวนมาก หากมีการเยี่ยมเยียนก็ขอให้งดเว้นการสัมผัส การกอด และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
@@ ยะลางดละหมาดรายอ - เบตง พระเณรงดบิณฑบาต
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากการที่ ศบค.จังหวัดยะลา ได้ออกประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดให้งดการละหมาดวันตรุษอีฎิลฟิตรี หรือวันฮารีรายอ โดยในปีนี้ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาไปแล้ว เพราะการละหมาดวันฮารีรายอเป็นการรวมกลุ่มใหญ่ มีการบรรยายธรรมที่ต้องใช้เวลานาน อาจทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น
ส่วนที่ อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอ พร้อมด้วย นางมุกดา ยังอภัย ณ สงขลา นายกกิ่งกาชาดอำเภอเบตง เข้านมัสการพร พระปลัดสุชาติ กิตติภัทโท ที่สำนักสงฆ์จันทรัตนาราม ต.ยะรม พร้อมถวายสังฆทาน ข้าวสาร น้ำดื่ม และพูดคุยหารือแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดฯ เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ การจัดกิจกรรม การประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
คำสั่งนี้กำหนดให้พระภิกษุ สามเณรทั่วทั้งจังหวัด งดการออกบิณฑบาตในทุกพื้นที่ พระภิกษุ สามเณร งดกิจกรรมหรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีประชาชนเข้าร่วมเกิน 20 คน กรณีมีการจัดงานศพ สามารถดำเนินการได้ และให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
@@ สงขลาฉีดวัคซีนบุคลากรด่านหน้า 1.2 หมื่นราย
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 26 ประจำปี 2564 มีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ ติดตามแผนการดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัด
ผลปรากฏว่า ทางจังหวัดมีแผนฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 33,145 ราย ฉีดไปแล้ว 10,225 ราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย จำนวน 5,499 ราย ฉีดไปแล้ว 2,154 ราย และกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังกว่า 330,000 ราย ซึ่งได้มีการจองคิวฉีดวัคซีนไปแล้ว 32,435 ราย โดยจองคิวผ่านระบบหมอพร้อม จำนวน 23,952 ราย และผ่านทางเจ้าหน้าที่ 8,483 ราย ส่วนประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ที่มีจำนวน 529,215 ราย จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนในช่วงเดือน ก.ค.นี้