ในช่วงที่โควิด-19 พ่นพิษไปทั่วประเทศ ปรากฏว่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการก่อเหตุร้ายถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น เรียกว่าเกิดเหตุแทบจะรายวัน แต่สถานการณ์กลับถูกบดบังด้วยโรคระบาดที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมใหญ่มากกว่า
เมื่อไม่กี่วันมานี้ เกิดการยิงปะทะกันในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ฝ่ายที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย ทหารพลีชีพ 1 นาย ถ้าเป็นเมื่อก่อน หลังเสียงปืนสงบ เรื่องราวก็มักจะจบ ฝ่ายครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบก็จะรับศพไปประกอบพิธีฝัง ถ้าเป็นฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมีพิธีส่งศพกลับบ้าน พร้อมสดุดีอย่างสมเกียรติ
แต่ครั้งนี้ยิงกันแล้วไม่จบ แถมมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสต่อ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
@@ ไลฟ์สดก่อนปะทะ แพร่ภาพสั่งลา?
หลังเสียงปืนสงบที่กรงปินัง เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 ได้ไม่กี่วัน ก็มีการเผยแพร่คลิปไวรัลที่มีคนจัดทำขึ้น และแชร์กันเยอะมากในพื้นที่ ผู้ชายในคลิปเป็นบุคคลที่เสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ใน โดยช่วงต้นๆ คลิปเป็นภาพจากการไลฟ์สดที่เชื่อกันว่าเป็นการไลฟ์สั่งลาก่อนยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคาดได้ว่าตัวเองจะต้องตาย และสุดท้ายพวกเขาก็ตายจริงๆ โดยตอนท้ายคลิป มีการนำภาพที่ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิตมาใส่เอาไว้ด้วย
เสียงเพลงที่ได้ยินเป็นภาษามลายูนั้น มีข้อมูลจากในพื้นที่ว่า เป็นเพลงใหม่ที่เพื่อนคนตายแต่งให้กับคนตาย เนื้อหาประมาณว่า ผู้ตายมีอุดมการณ์ที่ถูกต้องแล้ว และขณะนี้ได้กลายเป็นดาวไปอยู่บนฟ้า เขา (หมายถึงคนแต่งเพลง) จะสานต่ออุดมการณ์นั้นเอง
หลังจากคลิปไวรัลนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้สร้างกระแสฮือฮาอย่างมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วการจัดทำคลิปในลักษณะเชิดชูคนที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะฝ่ายที่ต่อต้านรัฐมีการจัดทำมาแล้วหลายครั้ง เพื่อขยายฐานมวลชน รวมทั้งกล่าวหารัฐว่าใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และเชิดชูคนที่จากไปว่าเป็นนักรบที่ต่อสู้จนตัวตาย
แต่ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ คลิปต้นฉบับที่คาดว่าเป็นการไลฟ์สดของผู้เสียชีวิตก่อนเปิดฉากยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพราะการไลฟ์สดลักษณะนี้ ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ผู้เสียชีวิตจากการยิงปะทะ 2 คน คือ นายรีสวัน (ริดวัน) เจ๊ะโซะ กับ นายอีลียัส เวาะกา ทั้งคู่มีภูมิลำเนาใน อ.กรงปินัง แต่คนละตำบล เมื่อเทียบภาพกับคนในคลิปไวรัลที่นำมาจากการไลฟ์สดอีกที จะพบว่าเป็นคนเดียวกัน แต่งกายและใส่นาฬิกาแบบเดียวกัน จึงคาดว่าเป็นการไลฟ์สดก่อนยิงปะทะ โดยจุดเกิดเหตุคือบ้านของนายอีลียัส รายงานของเจ้าหน้าที่ระบุว่า พบอาวุธปืนอาก้า 2 กระบอก และปืนพกสั้นอีก 2 กระบอก
@@ ครอบครัวไลฟ์ขอความเห็นใจ กระสุน จนท.ทำลายชุดรายอ
เรื่องยังไม่จบ เพราะมีคนในครอบครัวของผู้ตาย (ข่าวระบุว่าเป็นพี่สาว) ออกมาไลฟ์สด พร้อมถ่ายให้เห็นสภาพบ้านหลังการปะทะ พบว่าฝาผนังบางด้านมีรอยกระสุนเป็นรูพรุน ข้าวของภายในบ้านเสียหายจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เตรียมไว้ให้เด็กๆ ใส่ในเทศกาลฮารีรายอ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
การไลฟ์สดของหญิงสาวคนนี้ได้รับความสนใจจากคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก เพราะเนื้อหาและภาพกระแทกใจ โดยเฉพาะชุดรายอของเด็กๆ ที่เสียหาย ฉีกขาด ทำให้คนที่ได้ชมคลิปรู้สึกสงสาร เนื่องจากคนมุสลิมถือว่าเรื่องชุดรายอเป็นเรื่องใหญ่ จึงพากันเดินทางไปเยี่ยม และร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
การไลฟ์สดหลังเกิดเหตุยิงปะทะลักษณะนี้ คนในพื้นที่เล่าว่าเพิ่งมีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะปกติจะจบด้วยความเงียบสงบ และโศกเศร้าของครอบครัวที่สูญเสีย
@@คนพื้นที่แห่แชร์ อ้างรัฐยิงข้างเดียว
เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นกระแส ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายรายโพสต์แชร์ข้อความ ตลอดจนเลขบัญชีของครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งสองราย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันบริจาค บางคนมีการทำแบนเนอร์ ใส่ภาพแม่ของผู้ตายเข้าไปด้วย ภาษาที่ใช้ในแบนเนอร์มีทั้งภาษามลายูมาเลย์และภาษาไทย มีคนจากองค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอบางส่วนในพื้นที่เข้าไปช่วยแชร์ บางรายตำหนิฝ่ายรัฐว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เริ่มมีการให้ข้อมูลของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ต่างๆ นานา บ้างก็อ้างว่าผู้ตายทั้ง 2 คนไม่ได้ยิงตอบโต้เลย ถูกเจ้าหน้าที่ยิงฝ่ายเดียว และยังตั้งคำถามว่า ทหารพรานที่เสียชีวิต 1 นาย ถูกกระสุนของฝ่ายไหนกันแน่ (ระยะหลังกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐในพื้นที่ เผยแพร่ข่าวลักษณะนี้บ่อยครั้ง)
@@ ชาวบ้านแนะรัฐปรับตัว อย่าเอาแต่ถ่ายรูปส่งนาย
ทีมข่าวได้สอบถามประชาชนทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวนี้ หลายคนพูดไปในทางเดียวกันว่า ฝ่ายรัฐน่าจะต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหาย นอกเหนือจากการให้ข่าวว่าทั้งสองคนเป็นคนร้าย
"ส่วนตัวรู้สึกว่าครอบครัวนี้มีความกล้ามากที่จะแสดงออก เขากล้าที่จะประกาศรับบริจาคอย่างเปิดเผย และพูดถึงความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราคิดว่าดีกว่าที่เงียบและแอบไปคุยกันลับๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข ทำให้ชาวบ้านกล้าแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐได้" ชาวบ้านรายหนึ่งที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด กล่าว
เขามองว่า ในมุมของรัฐ ถือว่าอันตราย เพราะฝ่ายที่สูญเสียกล้าเปิดหน้า
"สำหรับรัฐถือว่าอันตรายมาก ถ้าไม่ทำอะไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเลยจะยิ่งแย่ เพราะอีกฝ่ายไม่ได้ทำแบบลับๆ เหมือนในอดีตที่เคยทำ เขากล้าที่จะไลฟ์สดโชว์ให้โลกได้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ฉะนั้นรัฐควรที่จะทำอะไรมากกว่าทำไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร) โจมตี หรือแค่บอกว่าคนตายเป็นคนร้าย"
ชาวบ้านรายนี้ยังเสนอว่า เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ถึงเวลาต้องปรับตัว
"คุณควรเป็นมิตรกับชาวบ้านมากขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทหารที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่สามารถเป็นเพื่อนกับชาวบ้านได้เลย ทัแค่ถ่ายเพื่อรายงานเจ้านาย ใครๆ ก็รู้ทั้งนั้น อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนแปลงตัวเอง"
@@ วอนรัฐดูแลจิตใจ จี้ฟื้น "รอมฎอนสันติ"
รักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หนึ่งในคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คณะทำงานระดับพื้นที่) และยังเป็นแกนนำชาวพุทธในพื้ที่ กล่าวว่า ความสูญเสียที่เกิดจากรอยกระสุนปืน จากการปะทะจริงๆ ฝ่ายรัฐต้องซ่อมแซมให้ ทั้งเรื่องบ้าน เรื่องเสื้อที่ขาด ส่วนเรื่องของการปะทะ วิสามัญฯ ก็เป็นไปตามกติกาของการต่อสู้ คนต่อสู้ก็ว่ากันไป เลือกต่อสู้ ไม่ออกมามอบตัวและยอมตาย ก็เป็นอุดมการณ์แนวคิดของคนผู้นั้น ส่วนชาวบ้านที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ รัฐจำเป็นต้องเข้าไปดูแลจิตใจ
ที่สำคัญคือ โครงการดีๆ อย่างในอดีต เช่น "รอมฎอนสันติ" ควรฟื้นกลับมาหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีเหตุรุนแรง หรือการยิงปะทะกันจนเกิดความสูญเสียในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ
"ตอนนี้อยู่ช่วงรอมฎอน ปีนี้เกิดความสูญเสียมาก ทั้งพี่น้องมุสลิม พี่น้องไทยพุทธ เราก็ไม่อยากให้มีความสูญเสีย แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าทั้ง 2 ฝ่าย (รัฐกับขบวนการ) มีการพูดคุยอะไรกันบ้างหรือเปล่า ตกลงกันเหมือนทุกครั้งหรือเปล่า เป็นรอมฎอนสันติที่เงียบมากเลย ไม่มีการสื่อสารอะไร ต่างคนต่างแปลกใจ พอเกิดเหตุก็เริ่มที่จะคาดการณ์กันได้ว่า จริงๆ แล้วการพูดคุยฯ ไม่มีตกลงเรื่องนี้หรือเปล่า ถ้ามีการตกลง เหตุหลายๆ เหตุก็ไม่น่าเกิดขึ้น"
ในฐานะคนพื้นที่ รักชาติ บอกว่าสถานการณ์ดูจะไม่ดีขึ้นกว่าเดิมเลย
"กลุ่มที่เคลื่อนไหวยังมีอยู่ อาจเพิ่มขึ้นด้วย เราไว้วางใจไม่ได้ เรื่องการก่อเหตุ คนในพื้นที่เองต้องดูแลกัน ในส่วนของบีอาร์เอ็น ต้องแสดงด้วยว่าสามารถคุมกองกำลังได้ การพูดคุยเกือบ 10 ปีที่ คุยมาตั้งแต่ปี 56 มีอะไรคืบหน้าบ้าง ทั้งสองฝ่ายมีความไว้วางใจต่อกันหรือเปล่า มีความจริงใจกันหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญที่จะต้องทบทวนกระบวนการพูดคุย"
@@ อำเภอส่งทีมเยี่ยมเหยื่อปะทะ เร่งซ่อมบ้าน-ซื้อชุดรายอ
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของทีมข่าว พบว่า หลังเกิดเหตุ ทางอำเภอกรงปินังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว และได้เตรียมตัดชุดรายอให้ใหม่แทนชุดที่เสียหาย พร้อมประสานทหารช่างให้เข้าไปซ่อมแซมบ้านให้เร็วที่สุด แต่กรณีนี้จะไม่ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากถือเป็นที่พักพิงหลบซ่อนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
@@ ทหารวอนหยุดดราม่า กำลังพลก็สูญเสีย แต่ถูกลืม
อีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมีทหารพรานเสียชีวิตด้วย 1 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) นพฤทธิ์ สุขสอน อายุ 27 ปี สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4701 โดยเพื่อนทหารและหน่วยต้นสังกัดได้ทำภาพและคลิปวีดีโอสดุดีวีรกรรม รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวของผู้ตายเช่นเดียวกัน
ทหารในพื้นที่รายหนึ่ง บอกกับทีมข่าวว่า การปะทะครั้งนี้เกิดจากกลุ่มคนร้ายยิงกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจากเบาไปหาหนัก ได้ให้ผู้นำในพื้นที่พูดคุยเจรจากับคนที่หลบอยู่ในบ้านแล้ว แต่เขายอมตาย ทุกฝ่ายก็ควรยอมรับ ไม่ใช่มาดราม่ากันขนาดนี้ เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็สูญเสียเช่นกัน ไม่เห็นมีภาคประชาสังคมคนไหนออกมาเรียกร้องให้บ้าง ทั้งที่ควรจะเรียกร้องให้ครอบครัวทหารที่ตายเหมือนกัน เพราะครอบครัวของทหารก็เสียใจไม่น้อยกว่าครอบครัวของอีกฝ่ายที่เสียชีวิต
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิตครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
หนึ่ง คือ เหตุยิงและเผารถส่งสินค้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ศพ เป็นพ่อ ลูกสาว และหลาน ครอบครัวเดียวกัน (ตระกูลกิตติประภานันท์) เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
สอง คือ เหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถไฟสายท้องถิ่น ขบวนสุไหงโกลก-พัทลุง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.