ผู้ป่วยโควิดยะลาเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ติดเชื้อใหม่อีก 18 ราย แม่ทัพภาค 4 สั่งคุมเข้มชายแดน หลังมาเลเซียเจอเชื้อสายพันธุ์อินเดีย แอฟริกาใต้ ขณะที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 เปิดแผนยุทธการสกัดลักลอบเข้าเมือง 3 อำเภอชายแดนสงขลา ส่วนที่ ด่าน ตม.เบตง รับ 21 คนไทยกลับบ้าน เข้มงวดรถขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้านพ่อค้าแม่ค้าปัตตานีโอด จังหวัดสั่งปิดตลาดสด 2 สัปดาห์ทำเดือดร้อนหนัก
วันพุธที่ 5 พ.ค.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มใน จ.ยะลา
ภาพรวมสถานการณ์ที่ จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายในพื้นที่ อ.เมือง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 104 ราย รักษาหายแล้ว 19 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,333 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 25 ราย, อ.กรงปินัง 31 ราย, อ.เบตง 13 ราย, อ.รามัน 31 ราย อ.บันนังสตา 1 ราย และ อ.กาบัง 3 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 82 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 33 ราย โรงพยาบาลเบตง 6 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 1 ราย และโรงพยาบาลสนาม 42 ราย
จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มเป็น 170 ราย รักษาหายแล้ว 10 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 43 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 55 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 41 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ 1 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 3 ราย โรงพยาบาลยะหริ่ง 1 ราย โรงพยาบาลทุ่งยางแดง 2 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 13 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 102 ราย, อ.หนองจิก 32 ราย, อ.โคกโพธิ์ 5 ราย, อ.ยะหริ่ง 17 ราย, อ.สายบุรี 5 ราย, อ.ไม้แก่น 1 ราย, อ.แม่ลาน 1 ราย, อ.ยะรัง 2 ราย, อ.ปะนาเระ 2 ราย และ อ.ทุ่งยางแดง 2 ราย
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ อ.เมือง 2 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 524 ราย รักษาหายแล้ว 487 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
แยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 409 ราย, อ.ระแงะ 15 ราย, อ.รือเสาะ 16 ราย, อ.บาเจาะ 8 ราย, อ.จะแนะ 6 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 50 ราย, อ.สุไหงโก- ลก 5 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย และ อ.แว้ง 1 ราย ส่วน อ.เจาะไอร้อง กับ อ.สุคิริน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 36 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 10 ราย กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย 22 ราย และกลุ่มเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 4 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 764 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 760 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 363 ราย รักษาหายแล้ว 400 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 469 ราย
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 570 ราย, อ.เมืองสงขลา 91 ราย, อ.บางกล่ำ 19 ราย, อ.นาหม่อม 10 ราย, อ.จะนะ 9 ราย, อ.รัตภูมิ 12 ราย, อ.สะเดา 6 ราย, อ.สิงหนคร 7 ราย, อ.เทพา 6 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1 ราย, อ.นาทวี 4 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 3 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 1 ราย และเป็นคนต่างจังหวัด 11 ราย
@@ แม่ทัพ 4 สั่งคุมเข้มชายแดนสกัดโควิดสายพันธุ์อินเดีย
วันเดียวกัน พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งกำลังป้องกันชายแดน คุมเข้มลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเฝ้าระวังป้องกันสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางธรรมชาติที่อาจมาพร้อมเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ที่กำลังแพร่ระบาดในมาเลเซีย และพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยให้เข้มงวดมาตรการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องจริงจัง
พล.ท.เกรียงไกร กล่าวว่า ขณะนี้ได้ใช้กำลังที่มีอยู่เฝ้าตรวจตลอดตามแนวชายแดน โดยผู้บัญชาการทหารบกได้อนุมัติกำลังทหารเพิ่มเติมเพื่อลาดตระเวน และมีการปรับแผนป้องกันแนวชายแดนให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น พร้อมทำความเข้าใจประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังบุคคลที่แอบลักลอบเข้ามาโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนหมู่บ้านตามแนวชายแดนเป็นอย่างดี และยังไม่พบมีการนำเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
สำหรับข้อกังวลที่ว่าในช่วงฮารีรายอ หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ อาจมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจากประเทศมาเลเซียลักลอบกลับมาจำนวนมากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับไว้หมดแล้ว ตั้งแต่ที่รัฐบาลมาเลเซียได้ผลักดันให้แรงงานต่างชาติกลับประเทศ ช่วงเดือน มี.ค.และ เม.ย.64 พบว่ามีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาค่อนข้างน้อยมาก รวมๆ แล้วประมาณ 400 คนเท่านั้น เพราะก่อนหน้านั้นมีการทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมากตั้งแต่ปลายปี 2563
โดยยอดรวมคนไทยที่กลับมาทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีประมาณ 30,000 กว่าคน ส่วนการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือเป็นหน้าด่านสำคัญที่ปฏิบัติงานอยู่ตามแนวชายแดน ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้แล้ว
อนึ่ง เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย เป็นการกลายพันธุ์ของไว้รัสโคโรนา 2019 แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สายพันธุ์อินเดียแพร่ง่ายกว่า และร้ายแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษหรือไม่ แต่ด้วยความที่ในอินเดียมีการระบาดที่รุนแรงมาก และมีคนล้มตายจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวโควิดสายพันธุ์อินเดีย ประกอบกับมีข่าวเศรษฐีอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินหนีภาวะโรคระบาดเข้ามาในประเทศไทย ยิ่งทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล และเพิ่มมาตรการป้องกันแบบเต็มพิกัด
@@ เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เฝ้าระวังพิเศษในมาเลย์
สำหรับสถานการณ์การขอเดินทางกลับเข้าประเทศของคนไทยในมาเลเซีย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในมาเลย์นั้น มีรายงานข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 มีคนไทยลงทะเบียนขอเดินทางกลับเข้าราชอาณาจักรจำนวน 10 ราย
ขณะที่ในประเทศมาเลเซีย ณ วันที่ 2 พ.ค. มียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 3,418 ราย โดยสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย ประกาศว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 จากชาวอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย ผ่านสนามบินกัวลาลัมเปอร์ และยังมีอีก 30 สายพันธุ์ที่พบในประเทศมาเลเซียก่อนหน้านี้ ได้แก่ 27 สายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ และ 3 สายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร
ณ ปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ VOC จำนวน 59 ราย และสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบด้วย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 จำนวน 48 ราย สายพันธุ์ UK B.1.1.7 จำนวน 8 ราย สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 จำนวน 1 ราย และสายพันธุ์ไนจีเรีย B.1.525 จำนวน 2 ราย
@@ แง้มแผนยุทธการฯสกัดลอบเข้าเมือง 3 อำเภอสงขลา
ที่ จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมประชุมหารือแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดน หลังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งแนวโน้มการไหลทะลักกลับบ้านของคนไทยในมาเลเซียช่วงฮารีรายอ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันให้ยกระดับความเข้มข้นการป้องกันชายแดน ทั้งการเพิ่มกำลังพลและความถี่ในการออกลาดตระเวนบริเวณช่องทางธรรมชาติ
ขณะที่หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5 (ฉก.ร.5) ได้เปิดแผนยุทธการพิทักษ์ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้บูรณาการกำลังทุกภาคส่วนปฏิบัติงานร่วมกัน และกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปฏิบัติการที่ 1 อ.สะเดา และพื้นที่ปฏิบัติการที่ 2 อ.นาทวี กับ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน มีการจับกุมคนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย จำนวน 10 ครั้ง รวม 33 ราย และสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองได้ 5 ครั้ง จำนวน 40 ราย ซึ่งเป็นสัญชาติเมียนมาทั้งหมด จากนั้นได้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการคัดกรองโรค เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค และดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
@@ ตม.เบตง รับ 21 คนไทยข้ามแดน - เข้มงวดรถขนส่งสินค้า
ที่กองอำนวยการร่วมประสานงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ได้สวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เพื่อเข้ารับตัวอดีตผู้ต้องขังคนไทยที่พ้นโทษจากเรือนจำ BELANTIK รัฐเคดาห์ และผ่านการกักตัว 14 วันมาแล้วจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 20 คน รวมทั้งแรงงานไทยในมาเลเซียอีก 1 คน รวมเป็น 21 คน ที่ด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย มาเข้ารับการตรวจคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดทางฝั่งไทย
นายเผดิมเดช มั่งคั่ง นายด่านศุลกากรเบตง กล่าวถึงแนวทางการควบคุมผู้ขนส่งสินค้าจากประเทศมาเลเซียที่ผ่านด่านศุลกากรเบตง ว่า ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ได้กำหนดให้รถขนส่งสินค้าสามารถเข้า-ออกด่านพรมแดนเบตงได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โดยให้ทำการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่ที่กำหนด ไม่นุญาตให้จอดรถค้างคืน โดยให้ขนถ่ายสินค้าให้แล้วเสร็จภายใน 7 ชั่วโมง และไม่ให้อยู่ห่างจากจุดจอดรถเกิน 200-300 เมตร โดยปัจจุบันมีรถขนส่งสินค้าเข้ามาขนถ่ายสินค้าประมาณ 10-15 คันต่อวัน
@@ พ่อค้าแม่ค้าปัตตานีโอด คำสั่งปิดตลาดสด 2 สัปดาห์
ที่ จ.ปัตตานี หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ได้เสนอไปยังเทศบาลเมืองปัตตานี ให้มีประกาศปิดตลาดสำคัญในเมืองปัตตานี คือ ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี, ตลาดเทศวิวัฒน์ 1, ตลาดรอมฏอนจะบังติกอ และตลาดรอมฏอนปากน้ำ ตั้งแต่วันที่ 5-18 พ.ค.64 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในตลาดได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าแทบทุกรายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ถูกสั่งปิดตลอด ทำให้ขาดรายได้ และไม่มีพื้นที่วางขายของ ยิ่งพ่อค้าแม่ค้าผักรายย่อยที่มีแผงเล็กๆ ยิ่งไม่มีทางออก เพราะมีรายได้ทางเดียวคือการขายที่ตลาดแห่งนี้
โดยพ่อค้าแม่ค้าได้เสนอทางออกและมาตรการในการป้องกันของการจัดการตลาดสด คือ
1. ควรตั้งจุดคัดกรองการเข้าออกเป็นระบบและรัดกุม โดยไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีเข้าตลาดเด็ดขาด รวมทั้งผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวด้วย
2. ให้เทศบาลทำความสะอาดตลาดพร้อมฆ่าเชื้อให้เรียบร้อยภายใน 3 วัน
3. ขอความร่วมมือแม่ค้าพ่อค้าในตลาดให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในตลาด หากไม่ปฏิบัติตามให้ปรับและไม่อนุญาตให้ขายของ
4. รณรงค์ให้มีการรักษาระยะห่างในกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาซื้อของ