สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าระลอกไหนก็ตาม คนที่ต้องรับกรรมและเดือดร้อนมากที่สุด หนีไม่พ้นคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ...
เพราะเมื่อหลายธุรกิจถูกปิด ลูกจ้างจะตกงานทันที และไม่มีข้าวกินทันทีเช่นกัน
กลุ่มที่เดือดร้อนมากเป็นพิเศษ คือกลุ่มคนพิการที่ต้องพึ่งพาคนใกล้ชิด แต่ครอบครัวหนึ่งที่อำเภอเมืองปัตตานีลำบากมากกว่านั้น เพราะเป็นคนพิการสองแม่ลูก มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งคู่ คือ แม่พิการด้านการเคลื่อนไหว ลุกเดินแทบไม่ได้ จึงทำงานทำการอะไรเกือบไม่ได้เลย ส่วนลูกชายก็มีอาการทางประสาท ควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาเครียด
ผู้เป็นแม่ คือ สูใบด๊ะ เบ็นอับดุลเลาะ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ตอนรับอิสลาม ขณะที่ชื่อเดิมตามบัตรประชาชนคือ เสงี่ยม ผ่องอำไพ อายุ 66 ปี เธอบอกเล่าเรื่องราวชีวิตสุดพลิกผันให้ฟังว่า แต่เดิมเธอทำงานรับจ้างอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย หาเงินส่งมาเลี้ยงครอบครัว แต่แล้วจู่ๆ ลูกชายก็ถูกรถชน ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้เธอต้องกลับบ้านมาดูแลลูก ขณะที่สามีก็เสียชีวิตไป ลูกของเธอแม้จะรักษาหาย แต่กลับมีอาการทางประสาท ต้องบำบัด เพราะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาเครียดจะทำงานอะไรไม่ได้เลย
ที่ผ่านมาลูกชายก็พยายามหางานทำ เป็นลูกจ้างร้านขายใบจาก-ยาเส้นในตลาด ส่วนตัวเธอเองเมื่ออายุมากก็มีอาการปวดหลังหนักขึ้น จนสุดท้ายได้แค่นั่งกับนอน ลุกเดินเกือบไม่ได้ จึงกลายเป็นคนพิการ ต้องอาศัยรายได้จากลูกเพียงคนเดียว แต่ลูกก็ไม่ได้ทำงานทุกวัน เพราะวันไหนเครียดก็ทำงานไม่ได้ บางวันร้ายแรงถึงขั้นพยายามทำร้ายตัวเอง ค่าจ้างที่ได้จากร้านยาเส้น จึงได้แค่เดือนละ 300-500 บาทเท่านั้น
ที่ผ่านมาเธอกับลูกมีชีวิตอยู่ด้วยเงินสงเคราะห์คนพิการ เดือนละ 1,000 บาท สองคนก็ 2,000 บาท และเบี้ยคนชราของเธอเองอีก 600 บาท ลูกชายได้ค่าจ้างจากร้านยาเส้นมาบ้าง รวมๆ แล้วก็มีรายได้เดือนละ 3,000 บาท เงินจำนวนนี้แค่จ่ายค่าเช่าบ้านก็หมดไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ และค่ารถไปโรงพยาบาล เหลือเงินกินกัน 2 คนแค่เดือนละ 400-500 บาทเท่านั้น
ระยะหลังโควิดระบาด ร้านขายยาเส้นที่ลูกทำงานต้องปิด ทำให้ลูกไม่มีรายได้ เธอกับลูกไม่มีเงินเหลือเลย บางวันต้องอด ได้แต่นั่งร้องไห้คนเดียว และใจคิดไปว่าถ้าเธอทำงานได้ก็คงดี จะหาเงินไปรักษาลูกให้หาย เพื่อลูกจะได้มีชีวิตต่อไป และเธอจะได้นอนตายตาหลับ
"ตอนที่ร้านยาเส้นยังไม่ปิด ลูกชายก็ใช่ว่าจะมีรายได้ตลอดทุกวัน เฉพาะวันที่เขาไปทำถึงจะได้รับค่าจ้างวันละ 30-60 บาท วันไหนอาการกำเริบ เขาก็จะไม่ได้ไปทำงาน แต่ตอนมีงานทำเขาจะไม่ค่อยเครียดมาก ไม่คิดมาก ผิดกับตอนนี้ที่เขากลัวตกงาน โควิดยิ่งทำให้หนัก ลูกอาการกำเริบ ลูกยิ่งอาการหนัก เราก็ยิ่งหนักด้วย"
"ทุกวันนี้แทบไม่มีอะไรกิน วันไหนโชคดี เพื่อนบ้านหยิบยื่นอาหารให้ก็ได้กิน แต่บางวันก็ต้องอด เพราะไม่มีเงิน และไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย ได้แต่ร้องไห้คนเดียวนับครั้งไม่ถ้วน เราเจ็บยังพอที่จะอดทนได้ แต่ลูกเจ็บเราเจ็บกว่า" สูใบด๊ะเผยความรู้สึกของผู้เป็นแม่
เธอบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ชีวิตไม่มีทางออก ลูกก็เครียด ตัวเธอเป็นแม่ก็ยิ่งเครียด เคยคิดจะกลับไปอยู่วัด จะได้ไม่ต้องเช่าบ้าน เพราะก่อนจะมารับอิสลาม เคยนับถือศาสนาพุทธมาก่อน แต่ลูกชายห้ามไว้ จึงต้องอดทนกันต่อไป ไม่รู้ว่าจะต้องอดทนไปถึงเมื่อไหร่กัน
"ตอนนี้สิ่งที่อยากทำมากที่สุดคือพาลูกไปรักษา อยากมีเงินไปตรวจร่างกาย สิ่งที่ลูกชายเป็นคืออะไรกันแน่ เขามีสิทธิ์หายเป็นปกติเหมือนคนอื่นหรือเปล่า เราอยากพาเขาไปตรวจ แต่ทุกอย่างต้องมีเงิน พอเราไม่มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดถ้าเขาไม่หาย เราจะต้องเก็บเงิน หาที่อยู่ให้เขา โดยที่เขาสามารถอยู่ได้เมื่อเราตายไป" เธอกล่าวพร้อมกับร้องไห้
เรื่องราวชีวิตที่วิกฤติหนักอยู่แล้ว แต่ต้องมาลำบากมากยิ่งขึ้นในช่วงที่มีโควิด ยังมีเรื่องของ สะแปอิง อูเซ็ง วัย 69 ปี ชายพิการตาบอด อาศัยอยู่บ้านไม่มีเลขที่ใน ต.อาเนาะรู อ.เมืองปัตตานี ด้วย
"ก่อนหน้านี้ ผมรับจ้างแบกของแถวดาโต๊ะ (อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี)" สะแปอิงเล่าย้อนความหลัง "ผมไม่มีลูกไม่มีเมีย ก็เลยอาศัยอยู่บ้านชาวบ้านไปเรือยๆ และทำงานไปด้วย แต่ช่วงหลังมานี้งานไม่มี เครียดจนเลือดออกในตา สุดท้ายตาบอด หูไม่ได้ยิน"
เมื่อพิการจึงทำงานไม่ได้ ไม่มีแม้กระทั่งที่อยู่ ยังดีที่มีหลานสาวอยู่ปัตตานียื่นมือเข้าช่วย หาบ้านเช่าในเมืองปัตตานีให้เขาได้อยู่อาศัย
"จริงๆ แล้วหลานก็ลำบาก ต้องทำงานขายไก่ย่าง ทำคนเดียวเลี้ยงลูก 6 คน จริงๆ หลานจะพาไปอยู่บ้านเขา แต่บ้านก็เล็ก แล้วอีกอย่างหลานก็เป็นผู้หญิงหม้าย จึงมาเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาทให้เราอยู่ ส่วนรายได้ของตัวเอง ได้จากเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600 บาทเท่านั้น ยังไม่มีบัตรคนพิการ ที่หนักก็คือเราต้องไปหาหมอตลอด ค่าใช้จ่ายหลานสาวก็ต้องช่วย ทั้งที่เขาก็แย่" สะแปอิงเล่าด้วยความอัดอั้น
หลานสาวที่สะแปอิงพูดถึง คือ มารีนี พรมช่วย อายุ 44 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และเป็นญาติกับสะแปอิง โดยสะแปอิงมีศักดิ์เป็นลุง เมื่อทราบข่าวว่าลุงป่วย ตาบอด หูหนวก จึงไปรับมาอยู่ด้วย ทั้งที่ตัวเธอเองก็ลำบากไม่น้อยเหมือกัน
"เราขายไก่ย่างได้วันละ 200-300 บาท แต่ช่วงนี้แย่เพราะโควิด ทุกอย่างแย่หมด ยิ่งกว่านั้นโควิดยังทำให้ลุงเกิดอาการเครียดหนัก เลือดออกจากดวงตาจนตาบอด หูก็ไม่ได้ยิน เขาลำบากยิ่งกว่าเรา เขาไม่มีแม้ที่จะอยู่ ก็เลยไปรับเขามาจากบ้านดาโต๊ะ ซึ่งเป็นบ้านชาวบ้านที่เขาไปอาศัย แต่จะพามาอยู่กับเราเลย บ้านเราก็แคบ ลูกๆ 6 คนก็ถือว่ายากที่จะเข้าไปอยู่ด้วย ก็เลยตัดสินใจเช่าบ้านให้ลุงอยู่ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาเงินจากไหนจ่าย ก็คิดในใจว่าเราช่วยลุง อัลลอฮ์คงตอบแทนเรา"
ครอบครัวของสูใบด๊ะกับลูกชาย และสะแปอิงกับหลานสาวอย่างมารินี คือตัวอย่างเล็กๆ จากปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้คนยังเดือดร้อนลำบาก และยิ่งทุกข์ยากในยุคโควิดปิดเมือง...