โฆษกบีอาร์เอ็น อ่านแถลงการณ์ผ่าน YouTube ในวันครบรอบ 61 ปีก่อตั้งขบวนการ ปลุกระดมประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างแนวร่วม พร้อมโจมตีโครงการพัฒนาของรัฐ อ้างหลอกลวง ไม่จริงใจ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเผย คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าต้องปูพรมทั้งออนไลน์ ออนกราวด์
วันที่ 13 มี.ค.64 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 61 ปีการก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็น ปรากฏว่า นายอับดุลการีม คาลิด โฆษก หรือผู้แทนฝ่ายสื่อสารของบีอาร์เอ็น ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 61 ปีบีอาร์เอ็น ผ่านช่องทาง YouTube ในช่องที่มีชื่อว่า Inforation Deprtment - BRN มีผู้ติดตามจำนวน 1.58 พันคน โดยคลิปวีดีโอชิ้นนี้มีความยาว 4.22 นาที
เนื้อหาของถ้อยแถลง สรุปว่า บีอาร์เอ็นตั้งขึ้นมาตามหน้าที่เพราะความเดือดร้อนของประชาชน ได้มีการต่อสู้เพื่อ "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ต่อดินแดนและเพื่ออธิปไตยของคนในอดีต บีอาร์เอ็นมีการจัดตั้งสมาชิกและมวลชนเพื่อมาต่อสู้ปกป้องสิทธิของปาตานีจากระบบปกครองแบบอาณานิคม ความขัดแย้งดำเนินการเป็นเวลา 17 ปีแล้ว (นับจาก 4 ม.ค.2547) บีอาร์เอ็นแข็งแกร่งมาตลอด มีความชัดเจน พวกเราต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องเข้มแข็ง เพื่อความเปลี่ยนแปลงและปกป้องศักดิ์ศรี
นอกจากความขัดแย้งทางอาวุธ ฝ่ายไทยยังมีความพยายามเพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจหลายโครงการเกิดขึ้นที่แผ่นดินปาตานี แต่ละโครงการเหล่านี้เกือบทั้งหมดมีส่วนที่เป็นการหลอก เอาเปรียบ ฉวยโอกาสจากประชาชน เพราะจริงๆ แล้ว โครงการเหล่านี้ไม่จริงใจ สนองประโยชน์ให้คนของกองทัพ
อย่าปล่อยให้บ้านของเรากลายเป็นที่แสวงประโยชน์ เงินทองไม่สามารถซับน้ำตา เลือด หรือทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ พวกเราต้องรวมใจ ปกป้องมรดกของบรรพบุรุษ
@@ รู้จัก "บีอาร์เอ็น"
สำหรับยุทธศาสตร์ขบวนการบีอาร์เอ็นจากการศึกษาและเก็บข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทย พบว่าในปัจจุบันบีอาร์๋เอ็นยังดำรงสถานะเป็น "องค์กรลับ" ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้แบบหนึ่ง คือจะไม่เปิดตัวเหมือนองค์กรก่อการร้ายแบบสุดโต่ง ไม่ไปแทรกซึมเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ของคู่ต่อสู้เหมือนสงครามกองโจร แต่มีการบริหารจัดการเป็น "องค์กรจัดตั้ง" ที่พร้อมจะเปิดตัวในอนาคต
แนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น คือ
1. สร้างความรุนแรงสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ ไม่หวังผลเอาชนะทางยุทธวิธี
2. สร้างความขัดแย้ง อำพราง สับสน และโฆษณาชวนเชื่อ
3. ปลุกระดมทางการเมือง สร้างโอกาสได้ดินแดนคืน โดยอาศัยแนวทางของมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" เงื่อนไขนี้คือสาเหตุที่บีอาร์เอ็นใช้วาทกรรมเรียก "รัฐไทย" ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เพื่อให้ปาตานี หรือปัตตานี มีสถานะเป็นดินแดนอาณานิคม จะได้สามารถใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ขอทำประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือตั้งรัฐใหม่ได้
4. การเงินเก็บจากสมาชิก และรับบริจาค (ซากาต)
5. การจัดตั้งเยาวชนผ่านสถานศึกษาของอิสลาม
และ 6. การประสานงานและขับเคลื่อน
นอกเหนือจากแนวทางการต่อสู้ทั้ง 6 ข้อแล้ว ทางบีอาร์เอ็นได้เพิ่มแนวทางในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย โดยเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข แม้บีอาร์เอ็นจะไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีสมาชิกระดับนำเข้าร่วมโต๊ะเจรจา ที่ผ่านมาในนามของ "มารา ปาตานี" และปัจจุบันบีอาร์เอ็นเป็นโต้โผการพูดคุยเอง
ขณะเดียวกันทางบีอาร์เอ็นก็มีความพยายามขยายเครือข่ายและเคลื่อนไหวในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแสดงบทบาท เพื่อนำคู่ขัดแย้งสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ และหาการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดน เป็นวิธีการดึงโลกล้อมไทย
@@ คาดไม่ผิดปูพรมโชว์พาวฯ ทั้งออนกราวด์ ออนไลน์
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคง และคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนใต้ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเคลื่อนไหวก่อเหตุสร้างสถานการณ์ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนที่แล้ว จึงมีการแจ้งเตือนเป้าหมาย ทั้งอาสารักษาดินแดน (อส.) ทหารพราน และตำรวจ ทหารอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ปล้นชิงรถปิคอัพทำคาร์บอมบ์ที่ จ.ยะลา เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มี.ค.ก็เป็นหนึ่งในความพยายาม แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่แล้ว จึงสามารถสกัดเหตุรุนแรงเอาไว้ได้
นอกจากนั้นฝายความมั่นคงยังคาดการณ์ว่า บีอาร์เอ็นจะอาศัยช่วงเวลาเชิงสัญลักษณ์ เช่น วันครบรอบวันสถาปนา หรือวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญในพื้นที่ เพื่อสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็น กำลังเดินคู่ขนาน ทั้งการก่อเหตุรุนแรง และการพูดคุยเจรจา โดยใช้การก่อเหตุเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรอง และประกาศตัวตนให้สังคมได้รู้ว่าขบวนการนี้มีอยู่จริง
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการแสวงประโยชน์จากการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ส่วนการพยายามโจมตีโครงการพัฒนาของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ชัดเจนว่า บีอาร์เอ็นมองว่าโครงการพัฒนาเริ่มได้ผลและหลายโครงการตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นเสียมวลชน จึงต้องพยายามโจมตีสร้างกระแสเพื่อไม่ให้สูญเสียการสนับสนุนไปมากกว่านี้ เช่นเดียวกับความจำเป็นที่ต้องประกาศว่า กลุ่มของตนยังเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ก็เพื่อตอกย้ำกับผู้สนับสนุน ทั้งที่ในความเป็นจริงองค์กรบีอาร์เอ็นอ่อนแอลงมากจากหลายปัจจัย