"หินล้านงาม" แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนใน อ.ยะหา จ.ยะลา เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวกางเต็นท์ชมแสงสุดท้ายและแสงแรกทะเลหมอกเช้าวันใหม่แล้ว หลังต้องปิดช่วงวิกฤติโควิด-19 หยุดรับนักท่องเที่ยวมานานถึง 1 ปีเต็ม ด้าน เลขาฯศอ.บต. หนุนท่องเที่ยวชุมชน เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดัน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่าง "หินล้านงาม" ยอดเขาโต๊ะบีแด หมู่ 5 ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเก๊ะโต๊ะบีแด ต้องประกาศงดรับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้ว
ล่าสุดทางชุมชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเก๊ะโต๊ะบีแด เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่เริ่มมีความคลี่คลาย จึงได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว "หินล้านงาม" ตามปกติ ปรากฏว่าในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเที่ยวกางเต็นท์นอนชมแสงสุดท้ายของวัน และแสงแรกกับทะเลหมอกในช่วงเช้าของวันใหม่กันอย่างคึกคัก
แม้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ทางชุมชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเก๊ะโตะบีแด ก็ยังคงดูแลและเข้มงวดในการป้องกันโควิดให้กับนักท่องเที่ยว ให้เที่ยวโดยยึดหลัก Social Distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันโควิด-19
นางสาวรอกีเยาะ อาบู ประธานกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเก๊ะโต๊ะบีแด กล่าวว่า ในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวขึ้นหินล้านงามอย่างต่อเนื่อง ถือว่าได้รับความสนใจจากคนทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และต่างจังหวัด แม้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจะประสบปัญหาโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ทางชุมชนก็ต้องประกาศงดรับนักท่องเที่ยว แต่ก็มีพี่น้องทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ประสานเข้ามาเป็นจำนวนมาก เรียกว่ามีตลอดทุกสัปดาห์
"อยากขอบคุณทุกคนที่ประสานเข้ามาในขณะที่เราต้องงดรับนักท่องเที่ยว เห็นชัดว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสวยงามมากจนคนที่เคยมาแล้วก็อยากจะมาอีก ส่วนคนที่ไม่เคยมาก็อยากมา เพราะที่นี่เต็มไปด้วยธรรมชาติ พวกเราพัฒนาตรงนี้ไปพร้อมๆ กับการดูแลธรรมชาติ ต้นไม้ล้ม 1 ต้น เราปลูกทดแทนอีก 10 ต้น และเราก็จะต้องดูแลรักษาให้ต้นไม้โตด้วย เพราะที่นี่คือบ้านเรา ถ้าเราไม่ดูแลบ้านตัวเอง แล้วใครจะทำ" ประธานกลุ่มรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าว
สำหรับแหล่งท่องเที่ยว "หินล้านงาม" หรือ ยอดเขาโต๊ะบีแด ใครก็ตามที่ได้ขึ้นไปเยือน จะได้ยลทั้งแสงแรกในยามเช้า คลื่นทะเลหมอก และแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับของฟ้า เพราะยอดเขาแห่งนี้มีลานหินกว้างไร้สิ่งบดบัง มองเห็นได้ทั้งทิวทัศน์ฝั่ง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งทั้งสองอำเภอเป็นเขตติดต่อกับ อ.ยะหา เพียงแต่อยู่คนละฝั่งกัน และเมื่อดวงตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว ยังมีอันซีนในภาคกลางคืนให้ได้ชมกัน นั่นก็คือแสงจันทร์ แสงดาว และแสงไฟจากบ้านเรือนชาวบ้านในชุมชนเชิงเขา ทั้งบ้านบ้านเจาะกลาดี บ้านตาชี และบ้านหาดทราย
หากท่านใดที่สนใจอยากไปสัมผัสแสงแรง แสงสุดท้าย และทะเลหมอกบนหินล้านงาม สามารถติดต่อกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเกะโต๊ะบีแด หินล้านงาม ได้ที่เพจ "หินล้านงาม : บูเกะโต๊ะบีแด" หรือที่ติดต่อโดยตรงได้ที่ นางสาวรอกีเยาะ อาบู ประธานกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบูเก๊ะโต๊ะบีแด 086-4407260
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่่อนโดยชุมชนว่า การท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นนโยชบายที่กำลังดำเนินการ ซึ่งล่าสุดได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการดำเนินการที่จะผลักดันป่าชุมชนให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ หลายพื้นที่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว และเกิดเป็นรูปธรรม อย่างที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
ตามนโยบาย พื้นที่ป่าชุมชนที่จดทะเบียนถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ โดยพื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ต้องอนุรักษ์ไว้และสามารถทำเชิงท่องเที่ยวได้ ขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากป่าได้ เก็บผลไม้ได้ หรือปลูกพืชเสริมเข้าไป เพื่อใช้ประโยชน์ ตรงนี้ถือเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสทำมาหากิน พร้อมรักษาป่าอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นตรงไหนที่จดทะเบียนถูกต้องเราจะเร่งดำเนินการ
"มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อย่างป่าที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ป่า 500-600 ไร่ พื้นที่ตรงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเขาก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นำออกมาขายได้ ประชาชนก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ พื้นที่ยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ และในเชิงของการท่องเที่ยวก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นตรงไหนที่มีพื้นที่ทำเป็นพื้นที่ป่าชุมชน จดทะเบียนได้ ก็สามารถพัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ เป็นนโยบายที่จะให้ประชาชนแสวงประโยชน์จากป่า และได้ร่วมกันอนุรักษ์อย่างถูกต้อง" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอันซีนอย่างหินล้านงาม บูเก๊ะโต๊ะบีแด พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า จะขอคุยกับป่าไม้ และส่วนที่เกี่ยวข้องว่าพื้นที่ตรงนี้จะสามารถเปิดเป็นแปล่งท่องเที่ยวได้ด้วยวิธีไหน จะหาโอกาสลงไปดูพื้นที่สักครั้ง เบื้องต้นขอคุยกับเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน