ควันหลงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป "โครงการโซลาร์เซลล์" ที่หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยจาก "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" เป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายค้านหยิบขึ้นมาซักฟอก
เน้นไปที่พื้นที่ภาคเหนือ เพราะเคยมีข่าวใหญ่จากกรณี "พิมรี่ พาย" ยูทูบเบอร์ชื่อดังไปจัดกิจกรรมจนนำมาสู่การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายค้านมีการเก็บข้อมูล แต่ไม่ได้อภิปรายชัดเจนนัก
แต่ก็มีแกนนำฝ่ายค้านที่ไม่ได้เป็น ส.ส. คือ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ และอดีต รมว. พลังงาน ออกมาอภิปรายต่อนอกสภา
นายพิชัย ระบุว่า จากการตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2561 ปรากฏว่า "กองทุนอนุรักษ์พลังงาน" ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดสรรเงินกองทุนให้กับกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และ ศอ.บต. (ศูนยอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท แต่เฉพาะ กอ. รมน. และ ศอ. บต. ที่เป็นหน่วยงานภายการกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (นายกฯเป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่งของทั้ง 2 หน่วยงาน) มีจำนวนเงินถึง 1,232 ล้านบาท
จากข้อมูลที่ได้รับพบว่ามีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้า งและปัญหาของอุปกรณ์ ตลอดจนปัญหาการตรวจรับโครงการเป็นจำนวนมาก ตามที่ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในสภา ซึ่งเชื่อได้ว่าจะต้องมีการทุจริตอีกเป็นจำนวนมาก จึงขอเรียกร้องให้ สตง. หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และ ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบทุกโครงการที่มีการใช้เงิน โดยเฉพาะโครงการของ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ที่ปรากฏการทุจริตอย่างเห็นได้ชัดแล้ว
จากควันหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งในและนอกสภา "ทีมข่าวอิศรา" จึงลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ ซึ่งมีทั้งไฟส่องสว่าง และตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่าโครงการที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ ไม่สามารถตอบโจทย์การช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ บริเวณหมู่ 2 ต.ลำพญา อ.เมือง จ.ยะลา และเสาไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในท้องที่ หมู่ 1 บ้านเหนือ ต.ลำพญา อ.เมือง จ.ยะลา พบว่าทั้งไฟส่อลงสว่างและตู้กรองน้ำ ใช้งานไม่ได้มานานร่วม 2 ปีแล้ว
จากการสอบถามชาวบ้านหลายรายในพื้นที่ ได้ข้อมูลตรงกันว่า ตู้กรองน้ำใช้งานไม่ได้มานานมากแล้ว จำไม่ได้ว่านานแค่ไหน รู้แต่ว่าไปทุกครั้ง เสียทุกครั้ง มีแค่ช่วงแรกที่ติดตั้งใหม่ๆ เท่านั้นที่ใช้ได้จริงๆ ซึ่งก็ถือว่าประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปได้บ้าง เพราะมีน้ำดื่มฟรี แต่ใช้ได้ไม่ถึงปีก็เสียมาตลอด
"ช่างก็ไม่เห็นเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่องเหมือนตอนที่บอกแรกๆ ว่าจะมีช่างดูแล ขณะที่ทาง ศอ.บต.ก็ไม่ดูแลหลังการใช้ มีมาดูบ้างก็ไม่ตรงตามที่สัญญากับชาวบ้าน เบื่อที่จะพูด พอเป็นข่าวก็แห่กันมาทีหนึ่ง ข่าวเงียบก็หายไป" ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว
ส่วนไฟส่องสว่าง ชาวบ้านอีกรายเล่าว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ดับหมดทั้งหมู่บ้าน จำนวน 11 เสา ดับมานานหลายปีแล้ว และไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลรักษา
"ชาวบ้านอยากได้แสงสว่าง เพราะมันมืดแล้วก็อันตราย จริงๆ ในพื้นที่มีเสาไฟโซลาร์เซลล์เยอะมากที่ติดตั้งแล้วใช้ไม่ได้ รู้สึกเสียดาย ทั้งที่ถ้ามันสามารถใช้งานได้ ก็ทำใหเชาวบ้านอุ่นใจได้บ้าง โดยเฉพาะเดียวนี้โจร มีเยอะ ทั้งเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบ เรื่องยาเสพติด เรื่องทะเลาะวิวาท มีเต็มไปหมด ถ้าไฟฟ้าสว่าง ชาวบ้านก็จะอุ่นใจ อยากให้สำรวจทั้งหมดในพื้นที่ ทำให้มันสว่างทั้งหมด ให้ได้จริงตามโครงการที่วางไว้"
จาก จ.ยะลา ข้ามไป จ.ปัตตานี ก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน โดยชาวบ้านที่นั่นเล่าว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์เสียทั้งหมู่บ้าน ใช้การไม่ได้ สอบถามเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าถูกขโมยแบตเตอรี่บ้าง สายไฟถูกขโมยบ้าง แต่ไม่รู้ว่าถูกขโมยจริงทุกจุดตามที่บอกหรือไม่ หรือเป็นการชำรุดเสียหายเพราะอุปกรณ์ไม่มีคุณภาพ แต่ที่แน่ๆ คือเสียทั้งหมด
"มันไม่ได้เสียแค่ต้นสองต้น แต่มันเสียทั้งหมู่บ้าน เสียหมด แถวสะดาวา อ.ยะรัง ยาวเข้าไปทั้งสาย แถวข้างในเยอะมาก บางเสาตั้งแต่ติดตั้งมาก็ไม่เคยเห็นว่าสามารถใช้งานได้เลย ชาวบ้านเขาคุยกันเสาไฟทั้งหมด 100% ถ้าลงพื้นที่ไปสำรวจ จะพบเสียเยอะกว่าใช้ได้จริง" ชาวบ้านจาก จ.ปัตตานีกล่าว
@@ ย้อนโครงการโซลาร์เซลล์พันล้าน ชำรุดกว่า 70%
สำหรับโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ของ ศอ.บต. ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559 เท่าที่ตรวจสอบพบจากเอกสาร มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน คือ
1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท
2.โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท
3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท
4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท
5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท
6.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
รวมงบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท โดยเป็นการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ 14,849 ชุด ราคาโดยเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท มีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และทั้งหมดเป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ
ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการชำรุดเสียหาย พบว่าการจัดซื้อจัดหามีความหละหลวม ตัวโครงการไม่คุ้มค่า อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย และใช้การไม่ได้ถึง 70% (อ่านประกอบ : ศอ.บต.รับ "เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน" ผิดพลาด หละหลวม, เสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ชำรุดเสียหายกว่า 70% ละลายงบพันล้าน?)
@@ ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน...ใช้การไม่ได้!!
ขณะที่โครงการติดตั้ง "ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ทั้ง 2 สัญญา
งวดแรกตั้งงบเอาไว้ 11,500,000 บาท ติดตั้ง 19 จุด ราคากลางอยู่ที่จุดละ 610,000 บาท โดยเลือกพื้นที่เป้าหมายทางความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และพื้นที่เป้าหมายด้านการพัฒนาตามภารกิจของ ศอ.บต.
ส่วนงวดที่ 2 ตั้งงบเอาไว้ 45 ล้านบาท เป้าหมายติดตั้งอีก 82 จุด ราคากลางจุดละ 549,000 บาท (ราคาตู้ละกว่า 500,000 บาท จึงถูกขนานนามว่า "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน")
จากโครงการที่ตั้งเอาไว้ และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว พบว่าเฉพาะปีงบประมาณ 2560 ศอ.บต.มีแผนติดตั้ง "ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" 101 จุด เตรียมงบไว้รวมๆ 56,500,000 บาท แต่เมื่อดำเนินโครงการจริง องค์กรตรวจสอบในพื้นที่พบว่า ศอ.บต.ติดตั้ง "ตู้กรองน้ำ" ไปแล้ว 91 จุด ราคาจุดละ 549,000 บาท ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นราว 51 ล้านบาท
ข้อสังเกตขององค์กรตรวจสอบในพื้นที่ก็คือ เหตุใด ศอ.บต.จึงต้องแตกสัญญาจัดซื้อออกเป็น 2 สัญญา หรือต้องการเลี่่ยงมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นช่องทางในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ (ไม่ต้องมีการประกวดราคา) และที่สำคัญคือ งบประมาณถึง 51 ล้านบาทนี้นำมาจากที่ไหน
นอกจากนั้นยังมีการตั้งคำถามว่า พื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการงวดแรก ไม่มีพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เลย แต่ไปติดตั้งที่ จ.สตูล กับ จ.สงขลา ทั้งหมด เพราะแม้พื้นที่ จ.สตูล และสงขลาจะเป็น 2 ใน 5 จังหวัดที่ ศอ.บต.รับผิดชอบเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ความมั่นคงตามเป้าหมายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ส่วนโครงการติดตั้งล็อต 2 ถูกระงับไป หลังจากถูกสื่อมวลชนเปิดโปงความไม่โปร่งใสของโครงการ (อ่านประกอบ : สรุปผลสอบ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" โปร่งใส คุ้มค่า แต่สั่งชะลอจัดซื้อล็อต 2)
และจากการตรวจสอบคุณภาพของตู้กรองน้ำ ภายหลังใช้งานได้ประมาณ 1 ปี พบว่าชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้จำนวนมาก แถมค่าซ่อมก็แพง เพราะหมดระยะเวลาประกันแล้ว หนำซ้ำยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยไหนรับผิดชอบค่าซ่อมแซมและปรนนิบัติบำรุง (อ่านประกอบ : "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน"ชำรุดหลังหมดประกัน ชาวบ้านผวาค่าซ่อมแพงลิบ)