เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงรอยต่อปลายเดือน ม.ค. กับต้นเดือน ก.พ.64 กลายเป็นสัญญาณที่ร้องดังเตือนให้สังคมได้ทราบว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขเพื่อดับไฟใต้ยังคงดำเนินการอยู่ แม้จะเงียบหายไปนาน และมีโควิด-19 ระบาดหนักจนเป็นอุปสรรคก็ตาม
เพราะหลังเกิดเหตุรุนแรงเพียงไม่กี่วัน ก็มีแถลงการณ์ยืนยันการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ของคณะพูดคุยฯฝั่งตัวแทนรัฐบาลไทย ตามด้วยถ้อยแถลงของผู้แทนบีอาร์เอ็น ซึ่งอยู่ในคณะพูดคุยฯเช่นกัน
หนำซ้ำล่าสุดยังมีคลิปแถลงของผู้แทนบีอาร์เอ็น ในฐานะ 1 ในคณะพูดคุยฯ แถลงขอบคุณความร่วมมือของรัฐบาลมาเลเซียและไทย ที่ทำให้เกิดการพูดคุยเจรจาครบรอบ 1 ปีอีกต่างหาก
บรรยากาศดูชื่นมื่นเคล้าเสียงปืนเสียงระเบิดในลักษณะที่ทำให้เชื่อได้ว่า การพูดคุย ฯ หนนี้เป็นกระบวนการของ "ตัวจริง" และมีกลุ่มที่ไม่ต้องการตกขบวน เปิดปฏิบัติการเรียกร้องความสนใจด้วย
แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับข้อมูลจากอดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ที่ศึกษาโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างแตกฉาน จนได้รับการยอมรับว่าเป็น "กูรู BRN" โดยอดีตนายทหาร "บิ๊กเนม" รายนี้มองว่า การพูดคุยเจรจาไม่มีอะไรคืบหน้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยคลิปขอบคุณ เป็นการไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร ; Information Operation) เพื่อให้เอ็นจีโอยุโรปเห็นว่า บีอาร์เอ็นให้ความสำคัญในการเจรจา
นอกจากนั้น ยังเป็นการ "ไอโอ" เพื่ออำพรางบทบาทของผู้นำบีอาร์เอ็น ที่ยังคงใช้การก่อการร้ายของอาร์เคเค (นักรบจรยุทธ์) รุ่นใหม่เข้าปฏิการทดแทนรุ่นเก่า
อดีตนายทหารเจ้าของฉายา "กูรู BRN" ตั้งข้อสังเกตถึงคลิปขอบคุณผ่านถ้อยแถลงของ นายวาเหะ ยะยีอาแซ เอาไว้อย่างน่าสนใจ (อ่านประกอบ : บีอาร์เอ็นอัดคลิปลง YouTube ขอบคุณ 1 ปีพูดคุยสันติสุข)
"นายวาเหะไม่ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อหลายวันที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ก.พ.) นอกจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นการไอโอ ให้ นายกัสตูรี่ พูโล เป็นแพะในเรื่องการก่อการร้ายในอนาคตได้ง่ายด้วย" เป็นมุมมองของอดีตนายทหารบิ๊กเนม
เจ้าของฉายา "กูรู BRN" ยังวิพากษ์บทบาทของรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงไทย ที่ไม่ได้ฉวยโอกาสที่สถานการณ์การต่อสู้สุกงอมเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะในฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อพลิกเกมจบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
"บีอาร์เอ็นสุกงอมเต็มทีแล้ว...
1. แกนนำมีความเห็นต่างกัน ได้ถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ราย
2. แกนนำอายุมาก มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
3. แกนนำที่ไม่ต้องการกลับมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะปักหลักอยู่ในมาเลเซียแล้ว เริ่มไม่ใส่ใจต่ออุดมการณ์
4. การเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่ออำพรางแกนนำตัวจริงของบีอาร์เอ็นไม่ให้เป็นที่สนใจของโลกสากล โดยเฉพาะยุโรป
5. ปัญหาเรื่องเงินที่บีอาร์เอ็นสะสมไว้จำนวนมากเป็นปัญหาค้ำคออยู่ว่า เมื่อเปลี่ยนผ่านแกนนำใหม่แล้ว ใครจะได้ครอบครอง เพราะตัวอย่างเมื่อครั้งบีอาร์เอ็นครองเกรสสลายตัวไปเมื่อ 40 ปีก่อน ก็หอบเอาเงินไปหมด
6. แกนนำระดับทำงาน (ปฏิบัติการ) ส่วนใหญ่อยู่ในสายทหาร แต่ก็แตกแยกกัน ระหว่างสายพีเอ็นวายเอส (นักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสงขลา) และสายเมล์ 20 (ทหารของบีอาร์เอ็นที่ผ่านการฝึกรุ่นแรก จังหวัดละ 20 คน สามจังหวัดรวมเป็น 60 คน) จนปัจุบันสายพีเอ็นวายเอส เป็นผู้บัญชาการทางทหารของบีอาร์เอ็น ส่วนสายเมล์ 20 ที่เหลืออยู่ในขบวนการ มักจะเป็นคนใกล้ชิดกับผู้นำเท่านั้น
7. สายเมล์ 20 ที่ไม่ร่วมในขบวนการ แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
- ตาย
- ติดคุก
- ยุติบทบาท อยู่บ้าน ประกอบอาชีพปกติ บางคนเป็นผู้นำท้องที่
- หันมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
"ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นสุกงอม แต่น่าเสียดายที่ฝ่ายรัฐบาลกลับเกินสุกงอมไปเสียอีก คือ 'เน่า' และเน่าในทุกระดับ ยกตัวอย่างในระดับรัฐสภา ส่วนกลาง ยังไม่เชื่อว่ามีขบวนบีอาร์เอ็นเป็นผู้ปฏิบัติการความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนเน่าในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดน คือเน่าในเรื่องโครงการของข้า งบของข้าใครอย่าแตะ" กูรู BRN กล่าว
และสุดท้ายการแก้ปัญหาไฟใต้ก็เอวังด้วยประการฉะนี้!