เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้กลับมาเกิดชุกอีกรอบ ประหนึ่งท้าทายการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ซึ่งทำงานอย่างถึงลูกถึงคน และติดดินสไตล์ลูกทุ่ง
ปฏิบัติการเชิงรุกมีทั้งปิดล้อมไล่ล่าบนป่าเขา และขยายผลโครงการ "พาคนกลับบ้าน" เพื่อลดทอนกำลังของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ
ที่ผ่านมาเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การหวนมาปะทุขึ้นอีกครั้ง จึงน่าจะมีต้นสายปลายเหตุ...
31 ม.ค.64 คนร้ายสร้างสถานการณ์ป่วน 7 จุดในพื้นที่ อ.ศรีสาคร กับ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทั้งแขวนป้ายผ้า วางวัตถุต้องสงสัย ทำลายกล้องวงจรปิด รวมๆ แล้ว 7 จุดด้วยกัน
เหตุป่วนชุดแรก 7 จุดเกิดขึ้นช่วงตี 1 ถึงตี 5 พอรุ่งเช้าตำรวจนำชุดอีโอดีเข้าพื้นที่เกิดเหตุ และถูกดักโจมตีด้วยระเบิดที่ฝังไว้ใต้ผิวถนน แรงระเบิดทำให้รถกระบะพังยับ กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 5 นาย
กลางดึกคืนถัดมาคนร้ายขยายพื้นที่ไปก่อเหตุป่วนเผากล้องวงจรปิด และป้อม ชรบ. ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อ.จะนะ และ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน รวมทั้งมีเหตุยิงด้วยอาวุธปืนในพื้นที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี หลังเพิ่งเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังเกิดเหตุที่ อ.ศรีสาคร แม่ทัพภาคที่ 4 บินด่วนไปติดตามความคืบหน้า พร้อมกำชับเรื่องปฏิบัติการติดตามไล่ล่าคนร้าย จากนั้นก็มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย และพบความเชื่อมโยงกับเหตุฆ่าสองแม่ลูกหมกสวนยางพาราเพื่อชิงเงินล้าน ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านไอร์กาแซ หมู่ 6 ต.ศรีสาคร หมู่บ้านเดียวกับที่เกิดเหตุระเบิดโจมตีรถตำรวจ
แม้เหตุฆ่าสองแม่ลูกชิงเงินล้านจะไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะมุ่งชิงทรัพย์ แต่ผู้ต้องสงสัยมีความเชื่อมโยงเป็นญาติกับมือระเบิดที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีสาคร
และแม้เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค. หรืออีกเกือบครึ่งเดือนต่อมา อาจไม่ได้มีที่มาที่ไปเชื่อมโยงกัน แต่ก็ทำให้พอมองเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง แม้สถานการณ์ภาพรวมจะดีขึ้นบ้างก็ตาม
ส่วนสาเหตุที่มีความพยายามสร้างสถานการณ์ในช่วงนี้ พบการขยับของแกนนำพูโลอย่าง กัสตูรี่ มาห์โกตา ที่เข้าไปคอมเมนท์ใต้ข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนทำให้มีกระแส "ฝีมือพูโล" แต่ต่อมา "ทีมข่าวอิศรา" ได้ส่งข้อความตรงไปสอบถาม กัสตูรี่ เพื่อความชัดเจน เขาตอบว่า ไม่มีรายงานว่าพูโลทำ แต่ก็บอกว่า "ปีนี้เป็นปีแห่งการเอาปาตานีคืน"
และกระแสนี้ก็ถูกนำไปถาม พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่พยายามสร้างสถานการณ์ต่อเนื่อง
ประเด็นที่แม่ทัพให้น้ำหนักเป็นพิเศษ ก็คือ เป็นปฏิบัติการตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการพิสูจน์ทราบบนป่าเขาที่ อ.จะแนะ และ อ.ศรีสาคร ซึ่งเป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
"เราขึ้นไปหมด ปูพรมหมด ทั้งเขาตะเว เมาะแต ทำให้ฝั่งโน้นกดดันมาก" พล.ท.เกรียงไกร กล่าวกับทีมข่าวอิศรา "เมื่อถูกกดดันมากๆ ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเปิดพื้นที่ เพื่อให้มีช่องว่างในการเคลื่อนไหว เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการแขวนป้ายผ้า การก่อกวนต่างๆ ทำให้เกิดการหันเหความสนใจ"
พล.ท.เกรียงไกร ย้ำว่า วิธีการเลือกเป้าเพื่อก่อเหตุยังคงเหมือนเดิม คือ เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม
และเมื่อสโคปเฉพาะ อ.ศรีสาคร แม่ทัพแย้มว่ามี 2 กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ ขณะนี้กำลังแกะรอย เพราะหลบซ่อนอยู่บนภูเขา
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เป็นมุมวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร ประเมิน 3 ประเด็นที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการก่อเหตุรุนแรงระลอกใหม่
1. ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงจ้องโจมตีทหาร ตำรวจ อยู่แล้ว เพราะระยะหลังมีการกำหนดนโยบายมุ่งทำร้ายเฉพาะเจ้าหน้าที่ ไม่ให้กระทบกับประชาชน เพื่ออ้างความชอบธรรมเรื่องการขัดกันด้วยอาวุธ ซึ่งจะสามารถเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทได้ โดยเฉพาะบนโต๊ะเจรจาพูดคุย
2. ความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ของโครงการพาคนกลับบ้าน
3. การแสดงบทบาทของแกนนำพูโล มีการอ้างเรื่องการจัดตั้งกองกำลัง ทำให้น่าพิจารณาว่ามีการว่าจ้างกองกำลังในพื้นที่เพื่อก่อเหตุหรือไม่ เพราะมีบางกลุ่มเป็นมือปืนรับจ้าง ส่วนกองกำลังของพูโลเอง ข้อมูลจากฝั่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ายังไม่มีในระดับที่ก่อเหตุได้อย่างเสรี
ประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนัก อยู่ที่ข้อ 2 กับข้อ 3 ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกันด้วย กล่าวคือมีความคืบหน้าเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งมีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ ภายใต้หัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่นามว่า "หีพนี มะเระ" หรือ "อุสตาซหีพนี" (อ่านประกอบ : เปิดตัว "อุสตาซหีพนี" หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น)
โต๊ะพูดคุยรอบนี้ กลุ่มพูโลถูกลดบทบาท โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่วมอยู่ใน "องค์กรร่ม" ที่ใช้ชื่อว่า "มารา ปาตานี" ซึ่งมีพูโล 2-3 กลุ่มรวมอยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มพูโลอาจก่อเหตุ หรือว่าจ้างก่อเหตุ เพื่อประกาศตัวและยื่นเงื่อนไขขอร่วมโต๊ะพูดคุย
ข้อมูลที่เป็นข้อสันนิษฐานนี้ดูมีน้ำหนักมากที่สุด เพราะการพูดคุยหยุดชะงักไปค่อนข้างนาน หลังจากเปิดตัวพบปะกันระหว่างหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ อุสตาซหีพนี ในชื่อ อาณัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยฝั่งบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 20 ม.ค.63 หลังจากนั้นทั้งไทยและมาเลเซียก็เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนป่านนี้มาเลย์ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้โต๊ะพูดคุยพักยาว แม้จะมีการติดต่อกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ้างก็ตาม
กระทั่งมามีความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนและเป็นทางการ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค.64 และมีการออกแถลงการณ์ของคณะพูดคุยฯฝั่งรัฐบาลไทย เนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 คณะทำงานทางเทคนิค (คณะพูดคุยฯชุดเล็ก) ได้พูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี ตันสรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก
สาะสำคัญของการประชุมทางไกล คือการกำหนดแนวทางการพูดคุยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และประเด็นหัวข้อสารัตถะสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไป คือ การลดความรุนแรง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การพูดคุยในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้มีการปรึกษาหารือร่วมกันผ่านระบบการประชุมทางไกลอย่างสม่ำเสมอ อันจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอยางยั่งยืนต่อไป
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.พ. มีแถลงการณ์จากฝั่งบีอาร์เอ็น อ้างที่มาว่า "สำนักเลขาธิการการเจรจา แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN)" มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ระบุว่า การประชุมทางเทคนิคเสมือนจริงระหว่าง BRN กับคณะผู้แทนรัฐบาลไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. โดยมี ตันสรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และเป็นตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย
วาระหลักของการอภิปรายคือ 1. การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตามแนวคิดการรวมตัวกัน 2. การลดการปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่าย และ 3. การตั้งถิ่นฐานทางการเมืองอย่างสันติในปาตานี โดยตระหนักถึงแรงบันดาลใจของประชาชนและคุณค่าสิทธิมนุษยชนสากล โดยจะมีการหารือรายละเอียดในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับกลไกการหารือระหว่างการระบาดของ COVID-19 ด้วย
ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุ คือพร้อมที่จะจัดการหารือทางเทคนิคเสมือนจริงเป็นระยะตลอดการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด -19 ตามบรรทัดฐานที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ และ BRN หวังว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และดำเนินไปอย่างราบรื่น
ถึงบรรทัดนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส รวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ในช่วงรอยต่อของเดือน ม.ค. กับเดือน ก.พ.64 นั้น ไม่ได้มีนัยแค่โจมตีเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธ หรือปฏิบัติการตามวงรอบ แต่น่าจะมีการส่งสัญญาณเชิงลบต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่มีบีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ
และผู้ก่อเหตุก็น่าจะเป็นคนละพวกกับกลุ่มที่อยู่บนโต๊ะพูดคุย เพราะปฏิบัติสวนกับแนวทางการพูดคุยว่าด้วยการลดความรุนแรงและลดปฏิบัติการทางทหารอย่างชัดเจน