แม่ทัพภาค 4 ไม่ยืนยันป่วนใต้ช่วงนี้ฝีมือพูโล ระบุแค่กลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่กำลังติดตามแกะรอยอยู่ ขณะที่ผู้ช่วยผบ.ทบ.ลงพื้นที่ศรีสาครเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ด้านกลุ่มเปอร์มัสเคลื่อนไหวอ้างวันมนุษยธรรมปาตานี รำลึกเหตุยิงครอบครัวเจะมุ ทั้งที่ในทางคดีเป็นเหตุแก้แค้นส่วนตัว
ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะที่ บ้านไอร์กาแซ ม.6 ต.ศรีสาคร ที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.ศรีสาคร ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย และรถยนต์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา
วันที่ 3 ก.พ.64 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุก็ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติให้เพื่อความระมัดระวัง เพราะยังมีความพยายามในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และในห้วงที่ผ่านมาก็ได้มีการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการพิสูจน์ทราบบนป่าเขา ที่ อ.จะแนะ และ อ.ศรีสาคร ซึ่งเป็นปฎิบัติการเชิงรุกที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเหตุที่เกิดขึ้นก็ต้องมาทบทวนว่า มีข้อบกพร่องและจุดอ่อนอย่างไร ที่จะต้องมีวิธีการปฎิบัติที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามก็จะมีวิธีการก่อเหตุที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดเช่นกัน ส่วนที่มีข่าวว่า กลุ่มพูโล ออกมายอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุนั้น ตนเองไม่ได้บอกว่า กลุ่มพูโลหรือไม่พูโล แต่ก็เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวานก็ได้มีการวิเคราะห์กันถึงความเชื่อมโยงของหลาย ๆ เหตุการณ์ นอกจากการที่ได้เปิดปฎิบัติการเชิงรุก ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเปิดพื้นที่ เพื่อที่จะมีช่องว่างในการเคลื่อนไหว เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการแขวนป้ายผ้า การก่อกวนต่าง ๆ ทำให้เกิดการหันเหความสนใจ
ส่วนเหตุเผาป้อม ชรบ.ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็คงจะเป็นการสั่งการครั้งเดียวของแกนนำ คือลักษณะของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะมีสามลักษณะคือ เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม กลุ่มนี้จะเลือกปฎิบัติเช่นนี้ ซึ่งในพื้นที่ศรีสาคร มีอยู่ 2 กลุ่ม ที่กำลังแกะรอย หลบซ่อนอยู่บนป่าเขา ที่เป็นกลุ่มเดิมที่กำลังติดตามเพื่อบังคับใช้กฎหมาย
@@ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ศรีสาครเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่
วันเดียวกันนี้ ( 3 ก.พ.64) ที่ฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4906 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 บ้านไอร์กาแซ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกพร้อมด้วย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.ศรีสาคร โดยได้ประชุมรับฟังสรุปสถานการณ์
จากนั้นทางพล.อ.พรศักดิ์ และคณะได้เดินทางไปตรวจจุดเกิดเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมาเยี่ยมพบปะให้กำลังใจชุดปฏิบัติการจรยุทธ์พร้อมชื่นชมการปฏิบัติที่ผ่านมา โดยให้ยึดมั่นทำหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท เฝ้าตรวจตราปรับเปลี่ยนวิธีการให้เท่าทันผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ และร่วมรับประทานอาหารเที่ยงนั่งล้อมวงกลางป่าอย่างเป็นกันเองกับกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์
พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ทาง ผบ.ทบ. มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงให้ลงมาเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่เกิดเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการแสดงตัวตนว่า ยังคงเคลื่อนไหวอยู่มาพื้นที่ จากที่ได้ฟังสรุปสถานการณ์ก็ได้สั่งให้ปรับแผนแก้ไข ปรับปรุงในจุดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ จะต้องเดินลาดตระเวนเส้นทางให้ชาวบ้านได้เห็นว่า เข้า-ออก ดูแลอยู่ในหมู่บ้าน หากมีอะไรผิดสังเกตก็จะได้เข้าไปตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ต้องเพิ่มความละเอียด ในการตรวจสอบพื้นที่ เส้นทางล่อแหลม จุดเสี่ยง ต้องเพิ่มการตรวจตรา โดยเฉพาะจุดท่อลอดต่าง ๆ ที่ไม่คิดว่าจะสามารถใช้เป็นที่ก่อเหตุได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด
@@กลุ่มเปอร์มัสเคลื่อนไหวอ้างวันมนุษยธรรมปาตานี รำลึกเหตุยิงครอบครัวเจะมุ
วันที่ 3 ก.พ.64 ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ( PerMAS ) ออกแถลงการณ์ครบรอบ 7 ปี วันมนุษยธรรมปาตานี โดยมีเนื้อหา ระบุว่า สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ( PerMAS ) เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานี โดยยึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งวันที่ 3ก.พ. ของทุกปี ทาง PerMAS สถาปนาขึ้นเป็นวันมนุษยธรรมปาตานี ( PATANI Humanitarian Day ) เพื่อให้คู่สงครามและประชาชนทุกคนตระหนักถึงการคุ้มครองพลเรือนและการเคารพหลักมนุษยธรรมและกฎกติกาสงคราม (International Humanitarian Law) และยิ่งในบรรยากาศที่มีการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินการอยู่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คู่ขัดแย้งหลักต้องทบทวนปฏิบัติการทางทหารและการปฏิบัติการต่าง ๆ ที่มีผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการใช้อาวุธและเพื่อสร้างหลักประกันตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนปาตานีต่อกระบวนการพูดคุยเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่
ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS จึงถือโอกาสนี้ เพื่อกระตุ้นหนุนเสริมต่อการสร้างสันติภาพและขอเสนอเพื่อนำไปสู่สันติภาพปาตานีดังต่อไปนี้ 1.ขอให้คู่ขัดแย้งตระหนักถึงพลเรือนและเคารพกฎหมายมนุษยธรรมสากล IHL ( International Humanitarian Law ) 2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้อย่างเสรี 3.การพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการอยู่นั้นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและออกแบบกระบวนการเพื่อไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเอง ( Self To Determination )
สำหรับวันมนุษยธรรมปาตานี ทางกลุ่มเปอร์มัสได้ประกาศกำหนดขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สังหารสมาชิกครอบครัวมะมัน ที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่บ้าน ในวันที่ 3 ก.พ.57 จนทำให้ ด.ช.มูยาเฮด อายุ 11 ปี ด.ช.บาฮารี อายุ 9 ปี และด.ช.อิลยาส อายุ 6 ปี เสียชีวิต ขณะที่นายเจ๊ะมุ มะมัน ผู้เป็นพ่อและน.ส.พาดีละห์ แมยู ภรรยาได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุการณ์นั้นทางชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษาเชื่อว่า เป็นฝีมือของทางเจ้าหน้าที่
แต่ภายหลังทางเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ 2 คน คือ อส.ทพ.มะมิง บินมามะ และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ ทั้งสองเป็นทหารพรานสังกัด ฉก.ทพ.46 ซึ่งได้รับสารภาพว่า เป็นผู้ร่วมกับเพื่อนอีก 1 คน ที่กำลังหลบหนีอยู่ ก่อเหตุยิงนายเจ๊ะมุ จนทำให้ลูกทั้ง 3 คนเสียชีวิต สาเหตุสืบเนื่องจากเชื่อว่า นายเจ๊ะมุ เป็นผู้ก่อเหตุยิงนายอับดุลเลาะ บินมามะ พี่ชายของอส.ทพ.มะมิง และนางรอกีเยาะ สะระโอ พี่สะใภ้ จนเสียชีวิตทั้งคู่ในปี 2556
จากการจับกุมผู้ก่อเหตุได้ จึงทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแก้แค้นส่วนตัวระหว่าง อส.ทพ.มะมิง กับนายเจะมุ โดยทางนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ได้ระบุว่า คดีนี้มีมูลเหตุจากความโกรธแค้นส่วนตัว ไม่ใช่คดีความมั่นคง ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ม.ค.58 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อส.ทพ.มะมิง บินมามะ และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ