สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายลักลอบเข้าไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งสู่ตอนกลางของประเทศ และส่งต่อชายแดนด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามนั้น เป็นวิกฤติที่ "ทีมข่าวอิศรา" เปิดโปงเป็นสื่อแรกๆ และชี้ให้เห็นถึงอันตรายของขบวนการนี้
การลักลอบข้ามแดนในลักษณะนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มแรงงานเถื่อนทั่วๆ ไป เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือ ทำงานในประเทศมาเลเซีย มีเงินทุนสำหรับเดินทางพอสมควร แต่จำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา เพราะมาเลย์ประกาศภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่วิกฤติหนัก
แรงงานกลุ่มนี้จึงมีเงินจ่ายสำหรับการเดินทางและเคลื่อนย้ายที่เป็น "ไพรเวท" พอสมควร เช่น ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถตู้จ้างเหมาไม่ประจำทาง มีบ้านเช่าที่มีคุณภาพสำหรับเข้าพัก อยู่ในเชตเมือง หรือตามรีสอร์ทริมทะเล โรงแรมชั้่นดี ฯลฯ ฉะนั้นการสกัดจับจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
แรงงานกลุ่มนี้แห่เข้าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แทบทุกวัน และที่ผ่านมาไม่เคยมีการประกาศสถิติการจับกุมต่อสาธารณะมาก่อน แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้เกาะติดปัญหานึ้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ม.ค.64 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดสถิติจับกุมทั้งหมด
ข้อมูลจากแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ปีที่แล้วเป็นต้นมา นับถึงวันที่ 21 ม.ค.64 รวมเวลาไม่ถึง 4 เดือน มีสถิติการจับกุมแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้แล้วจำนวน 86 ครั้ง จับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 624 คน แยกเป็น สัญชาติเมียนมา 408 คน ลาว 76 คน กัมพูชา 64 คน เวียดนาม 45 คน มาเลเซีย 21 คน จีน 2 คน บังคลาเทศ 1 คน และอื่นๆ 26 คน
พื้นที่ที่จับกุมได้ มีทั้งพื้นที่ชายแดนระหว่างการข้ามแดน บริเวณด่านตรวจ จุดสกัดในระหว่างการเคลื่อนย้าย และจากการพิสูจน์ทราบพื้นที่หลบซ่อนพักพิง
นอกจากนั้นยังสามารถจับ "ผู้นำพา" ได้ 15 คน ขยายผลตรวจค้นจับกุมอีก 13 ครั้ง ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช
ข้อมูลของแม่ทัพภาคที่ 4 ยังระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อพาเดินทางออกจากประเทศมาเลเซีย ไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นขบวนการนำพาแรงงานสัญชาติกัมพูชา เวียดนาม ลาว จะมีการประสานงานกันระหว่างนายหน้าฝั่งไทยและนายหน้าฝั่งมาเลเซีย เพื่อรวบรวมบุคคลต่างด้าวในมาเลเซียที่ต้องการข้ามแดนมายังประเทศไทย พร้อมนัดหมายการเดินทาง ก่อนลักลอบเข้าประเทศโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำโก-ลก โดยจะมีการนัดเรือยนต์รับจ้างล่วงหน้า เมื่อข้ามมาแล้วจะมีรถยนต์มารับ เพื่อเดินทางต่อ โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถตู้สาธารณะไม่ประจำทาง
ช่วงที่ข้ามมาแล้ว ถ้าทางสะดวก ไม่มีด่าน ก็จะเดินทางต่อเลย แต่ถ้าทางไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม ก็จะส่งเข้าที่พักพิง ไม่ว่าจะเป็น บ้านเช่า รีสอร์ท หรือโรงแรม เพื่อรอการส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ปลายทางคือตอนกลางของประเทศไทย ไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สำหรับชาวกัมพูชา เวียดนาม หรือชายแดนทางภาคอีสาน เพื่อลักลอบข้ามแดนกลับไปประเทศลาว หรือต่อไปเวียดนาม
กลุ่มที่ 2 เป็นขบวนการนำพาแรงงานสัญชาติเมียนมา วิธีการจะเหมือนกับกลุ่มแรก แต่ "จุดพักหลัก" ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา ก่อนจะมี "กลุ่มนำพา" รับไปส่งอีกทอดหนึ่ง ไปยังพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อเดินทางไปประเทศเมียนมาต่อไป
จะเห็นได้ว่า สายของขบวนการนำพา ถ้าเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา จะใช้เส้นทางเดียวกันกับที่เคยขนแรงงานชาวโรฮิงญาและแรงงานพม่ากลุ่มอื่นๆ คือใช้เส้นทางจากภาคใต้ตอนล่างสู่จังหวัดอันดามัน แล้วจึงข้ามแดน ส่วนแรงงานขาเข้า ก็จะมาจากฝั่งอันดามัน ลงใต้ พักที่หาดใหญ่ สะเดา แล้วรอเข้ามาเลเซีย
ข้อมูลตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้บอกเอาไว้ คือนอกจากเจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับแรงงานต่างชาติได้หลายร้อยคนในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังสามารถจับ "ขบวนการนำพา" ได้อีกด้วย ทำให้สามารถต่อจิ๋กซอว์ขบวนการนำพาในกลุ่มที่ขนแรงงานกัมพูชา ลาว เวียดนาม จากชายแดนใต้ส่งกลับประเทศบ้านเกิดได้อย่างค่อนข้างชัดเจน
เริ่มจาก "นายหน้าใหญ่" คือ นายโชติแอล ชาวกัมพูชา มีภรรยาเป็นชาวกัมพูชาเช่นกัน เป็นผู้ติดต่อประสานงานเอเย่นต์ทั้งฝั่งมาเลย์ ไทย และกัมพูชา
เมื่อมีแรงงานหรือบุคคลต่างด้าวต้องการลักลอบข้ามแดนจากมาเลเซียผ่านไทย เพื่อมุ่งหน้ากลับประเทศบ้านเกิด นายโชติแอล จะติดต่อ "บังโย" ซึ่งเปิดบริษัทรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง โดย "บังโย" พำนักอยู่ในอำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี ใช้รถตู้ในเครือข่ายของตนเองเป็นพาหนะส่งแรงงานเข้ากรุงเทพฯ หรือจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อส่งต่อแรงงานให้กับเครือข่ายชาวกัมพูชารับพาข้ามแดนไป
หนึ่งใน "สารถี" ที่ถูกจับกุมได้แล้ว คือ "นายนิพล" ถูกจับที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะขับรถไปส่งแรงงาน และซัดทอดว่าเป็นทีมงานของ "บังโย" ทำให้ "บังโย" ถูกตำรวจเชิญตัวไปสอบปากคำ และให้การซัดทอดถึงชื่อบุคคลที่เป็นนายหน้าอีกอย่างน้อย 2 คน
"สารถี" หรือคนขับรถอีกคนหนึ่งที่ถูกรวบตัวได้ คือ นายนาซูรี ถูกรวบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขณะกำลังรับแรงงานต่างชาติ 7 คนขึ้นจากเรือ เพื่อต่อรถ โดย นายนาซูรี สารภาพว่าอยู่ในขบวนการนำพา และซัดทอดไปถึง "เจ๊เปา"
"เจ๊เปา" เปิดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี มีแคมป์คนงานอยู่หลังห้างดังในตัวเมือง ที่ผ่านมาใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จึงสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวพันอยู่ในเครือข่ายด้วย โดย "บังโย" ยังให้การพาดพิงถึง "เจ๊เปา" ว่ามีพฤติการณ์เปิดคิวรถตู้บังหน้า ที่แท้ใช้รถบางส่วนในการขนแรงงาน
"เจ๊เปา" ถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้านและสำนักงาน แต่ยังไม่ยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ทั้งๆ ที่สามีของเจ๊เปา คือ "นายสมชาย" เพิ่งถูกจับกุมที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ขณะขับรถพาแรงงานต่างชาติไปส่งในพื้นที่ภาคกลาง โดยนายสมชายเป็นสามีใหม่ของ "เจ๊เปา" และยังเคยรู้จักกับนายโชติแอลมาก่อนด้วย
จากการตรวจสอบขบวนการนี้ พบว่า ค่าจ้างเฉพาะการขนบุคคลต่างด้าว จากชายแดนใต้ไปยังพื้นที่ภาคกลาง คิดเป็นที่นั่งในรถตู้ ที่นั่งละ 1,500-2,500 บาท ไม่รวมค่านายหน้าหรือ "หัวคิว" สำหรับผู้ติดต่อประสานงานอีกคนละ 300-500 บาท ส่วนค่าจ้างรถตู้และคนขับ อยู่ที่เที่ยวละ 25,000 บาท
สำหรับค่าใช้จ่ายที่แรงงานต่างชาติแต่ละคนต้องเสียให้กับขบวนการนี้ อยู่ที่คนละ 15,000-30,000 บาท นับเฉพาะตั้งแต่ลงเรือข้ามแดนเข้ามายังฝั่งไทย โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายฝั่งมาเลย์ และไม่รวมค่าใช้จ่ายในส่วนของประเทศทื่สาม หลังข้ามแดนจากไทยออกไปแล้ว