สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในมาเลเซีย ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
มาเลเซียมีพื้นที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โควิดเข้าขั้นวิกฤติถึงกับต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 รวมทั้งมีการใช้มาตรการควบคุมการเดินทาง หรือ MCO (Movement Control Order) ไปจนถึงวันที่ 26 ม.ค. ใน 5 รัฐ ได้แก่ ปีนัง สลังงอร์ ซาบาห์ มะละกา ยะโฮร์ กับ 3 เขตปกครอง คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปุตราจายา และดินแดนสหพันธ์ลาบวน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย
แน่นอนว่าการควบคุมที่เข้มงวดย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายสัญชาติที่ทำงานอยู่ในมาเลเซีย ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ จนต้องหาวิธีหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย เพื่อใช้เป็นทางผ่านในการเดินทางกลับภูมิลำเนา
ส่วนแรงงานชาวไทยในมาเลเซียก็มีสภาพไม่ต่างกัน เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ส่วนใหญ่ก็เลือกที่เดินทางกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของตนเองในสภาพตกงาน ไม่มีรายได้ ทำให้มีบางรายถูกชักชวนจากพรรคพวกหรือคนรู้จักในมาเลเซีย ให้หันมาทำงานผิดกฎหมาย โดยการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว อย่างกรณีของ ฮารง ดอเลาะ ผู้นำพาแรงงานต่างด้าวที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมได้
ฮารง เคยให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เหตุผลที่ต้องมาขนแรงงานต่างด้าว เพราะไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องปิดร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียจากพิษโควิด แล้วกลับมาอยู่เมืองไทย
แต่ที่เมืองเปิงกาลังฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับพรหมแดน อ.เบตง จ.ยะลา ยังมีผู้ประกอบการร้านอาหารชาวไทยที่ยังคงกัดฟันเปิดขายตามปกติ ท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบเหงาของตัวเมือง
นางแยะนะ ผู้ประกอบการร้านอาหารชาวไทย ในเมืองเปิงกาลังฮูลู เล่าว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงโควิด-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ค้าขายค่อนข้างลำบาก ยิ่งมาเจอรัฐบาลบังคับใช้คำสั่งควบคุมการเดินทาง หรือ MCO เพื่อจำกัดการเดินทางเข้าไปอีก ทำให้รายได้รวมของทางร้านลดลง จนถึงขั้นไม่พอจ่ายค่าเช่าร้านและรายจ่ายอื่นอีกจำนวนมาก
"ทุกวันนี้ต้องใช้วิธีการให้ลูกค้าเดินทางมาสั่งอาหารเอง แล้วรับนำกลับไปทานที่บ้าน ทางร้านไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้านเด็ดขาด เพราะต้องทำตามมาตรการในป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิดของรัฐบาล"
นางแยะนะ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายตนก็อาจจะเลือกเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน เพราะคิดถึงครอบครัวมาก
ในย่านการค้ารัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่บังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทาง หรือ MCO บรรยากาศโดยรวมเงียบเหงา ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของกันค่อนข้างน้อย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารชาวไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นายซาฮารี ปุโรง ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในรัฐสลังงอร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แค่ปัญหาเศรษฐกิจก็ถือว่าแย่แล้ว ตอนนี้มาเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไปอีก ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกที่มีการระบาดอย่างรุนแรง ไม่มีผู้คนออกมาเดินตามท้องถนนเลย ช่วงหลังๆ มานี้ยังพอมีคนเริ่มออกมาบ้าง แต่ก็ไม่มากนับคนได้
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ในรัฐสลังงอร์ ได้จับมือกับผู้ประกอบธุรกิจภาคเอกชน ร้องขอไปยังภาครัฐให้ขยายเวลาการปิดร้าน จากเดิม 06.00-20.00 น เป็น 06.00-22.00 น โดยเริ่มวันที่ 22 ม.ค.เป็นวันแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่" นายซาฮารี เล่าให้ฟังถึงการคิดหาแนวทางพยุงธุรกิจ
แต่เขาก็ยอมรับว่า แม้จะได้รับการขยายเวลา แต่ทางร้านต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นเดิม โดยลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่สามารถนั่งทางในร้านได้ ต้องซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น และต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม
"ผมคิดถึงบ้านที่ จ.ยะลา อยากกลับไปหาครอบครัว แต่กลัวกลับบ้านแล้วจะตกงาน และไม่รู้จะได้กลับมาทำงานที่มาเลเซียได้อีกเมื่อไหร่ เพราะมีเพื่อนๆ หลายคนที่กลับไปก่อนหน้านี้ ร้านที่เช่าโดนยึดเพราะค้างค่าเช่า หลายคนก็ต้องยอม เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าร้าน เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันหมด"
จากเสียงของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย สะท้อนว่าทางเลือกในการเผชิญวิกฤติของพวกเขามีแค่ 2 ทางเท่านั้น คือกัดฟันเปิดร้านต่อไปแม้จะขาดทุน กับยอมทิ้งกิจการ แล้วกลับบ้านเกิดเมืองนอนในสภาพคนตกงาน...
ถือเป็นสัญญาณร้ายในยุคโควิดที่ทุกคนอยากให้จบลงเสียที!