ผู้การตำรวจภูธรปัตตานี ชี้ชัด แรงงานต่างชาติถูกจับที่กะพ้อ - ซุกรีสอร์ทยะหริ่ง ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกัน รวบผู้นำพาได้ 5 ราย เวียดนาม-กัมพูชารวม 52 ชีวิต ส่งตัวเข้ากักกันเฝ้าระวังโควิด แฉเป็นกลุ่มมีเงิน เป้าหมายกลับประเทศบ้านเกิด ไม่ใช่ค้าแรงงานสะพานปลา ด้านเจ้าของรีสอร์ทโอด พิษต่างด้าวทำปิดกิจการ-ขาดรายได้ ส่วนที่เบตงพบติดเชื้อผ่านพรมแดน 3 คน คุมเข้มหวั่นแรงงานทะลัก ขณะที่สงขลาเฝ้าระวังเชิงรุก หลังติดเชื้อเพิ่มจากมาเลย์ 5 ราย
จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารพรานและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พร้อมฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบบุคคลต่างด้าวที่ดาโต๊ะ บีช รีสอร์ท หมู่ 4 บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง หลังรับแจ้งจากทางผู้จัดการรีสอร์ทว่า มีบุคคลต่างด้าวมาเข้าพัก ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลต่างด้าวสัญชาติเวียดนามและสัญชาติกัมพูชาได้รวมทั้งหมด 37 รายตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันที่ 19 ม.ค.64 พล.ต.ต.พิชญ์วุฒิ สงวนสมบัติศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวทั้ง 37 ราย เป็นชุดเดียวกันกับกลุ่มที่ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาจากมาเลเซีย (ด้าน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) และถูกชุดปฎิบัติการเคลื่อนที่เร็วร่วมกับ อส.ชคต.ตะโละดือรามัน จับกุมได้ จากการปฏิบัติตามแผน “อาชาพิทักษ์กะพ้อ 01” ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด (POP UP) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบเขตรอยต่อระหว่าง บ้านไชยา (ดูซงพาลอ) ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กับ บ้านกัวลอกาลี หมู่ 8 ต.ตะโละดือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี โดยสามารถควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามได้ 6 คน และสัญชาติกัมพูชา 9 คน รวมทั้งหมด 15 คน โดยสารมากับรถยนต์จำนวน 4 คัน
พล.ต.ต.พิชญ์วุฒิ อธิบายว่า แรงงาน 37 คนที่ถูกจับคารีสอร์ท อ.ยะหริ่ง เป็นชุดที่หลบหนีจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ที่ อ.กะพ้อ ไปได้ และได้เข้าไปหลบซ่อนตัวที่รีสอร์ทดังกล่าว จนเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบและสามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมด รวมแล้วมีแรงงานต่างชาติลักลอบเข้ามา 52 ราย ขณะนี้ได้ส่งไปกักตัวที่สถานกักกันโรค อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
ส่วนความคืบหน้าด้านคดีนั้น เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวกลุ่มขบวนการที่นำแรงงานต่างชาติเข้ามาได้ 5 ราย พร้อมของกลางรถยนต์ 4 คัน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ประกอบด้วย 1.นายอาบูไมโซร์ หะดอเลาะ อายุ 39 ปี 2. น.ส.รุสตาวานี สะแลแม อายุ 33 ปี 3.น.ส.สารีนา เจะมะ อายุ 39 ปี 4.นายฮารง ดอเล๊าะ และรายที่ 5 เป็นหญิงอายุ 18 ปี ทางเจ้าหน้าที่ได้พาเข้าศูนย์กักกันโรคพร้อมทั้งดำเนินคดีทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด
พล.ต.ต.พิชญ์วุฒิ กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุก สภ.ในพื้นที่ ดำเนินการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เพื่อป้องกันและสกัดจับการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาจากประเทศมาเลเซียในช่วงนี้ โดยเฉพาะแรงงาน 4 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
สำหรับแรงงานสัญชาติเวียดนาม เดินทางมาจากพอร์ตกรัง ประเทศมาเลเซีย เป็นแรงงานในโรงงานไฟฟ้าและสถานบริการ ส่วนแรงงานสัญชาติกัมพูชาเดินทางมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นแรงงานกรีดยาง ทั้งหมดได้ว่าจ้างนายหน้าให้นำส่งประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา โดยมีการจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงิน 1,000 เหรียญริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 7,500 บาท) และจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 1,000 เหรียญริงกิตมาเลเซีย เมื่อเดินทางถึงปลายทาง ซึ่งได้เข้ามาในประเทศไทยทาง อ.ตากใบ โดยนั่งเรือข้ามเข้ามา และเดินทางต่อโดยรถยนต์เข้ามาในเขต จ.ปัตตานี มีปลายทางที่ท่าเทียบเรือ จ.ปัตตานี
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนรายหนึ่ง กล่าวว่า แรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานที่ต้องการเข้ามาเพื่อผ่านเส้นทางและกลับบ้าน จากการตรวจสอบกลุ่มแรงงานเวียดนามที่ไปพักที่ดาโต๊ะรีสอร์ท ทำงานโรงไฟฟ้า หลายคนทำงานดีๆ เป็นคนมีเงินพอสมควร แต่เขาต้องการกลับบ้านในช่วงโควิด เมื่อตรวจสอบกลุ่มนำพา ก็พบว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน จากข้อมูลเราพบว่า กลุ่มที่ถูกจับที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ผู้นำพาจะนำแรงงานมาส่งไว้ที่ดาโต๊ะ บีช รีสอร์ท เช่นเดียวกันไม่ได้มี เป้าหมายไปที่สะพานปลาแต่อย่างใด
@@เจ้าของรีสอร์ทโอด ต่างด้าวทำปิดกิจการชั่วคราว ขาดรายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ ดาโต๊ะ บีช รีสอร์ท อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นสถานที่จับกุมแรงงานต่างชาติ 37 รายนั้น เป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากสถานประกอบการดังกล่าวได้ประกาศหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราวอยา่งไม่มีกำหนด ส่วนห้องพักที่แรงงานต่างด้าวได้เข้ามาพัก ทั้ง 5 หลังนั้น ทางเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขอำเภอยะหริ่ง ได้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้ว
นายเซ็ง เจ๊ะอุเซ็ง เจ้าของดาโต๊ะ บีช รีสอร์ท กล่าวว่า ตนยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ส่วนแรงงานดังกล่าวเข้ามาพักในช่วงกลางคืน ทำให้ไม่ทราบว่าคนที่มาพักเป็นใครบ้าง โดยได้รับการจองห้องจากครอบครัวหนึ่งว่า จะมีการเข้ามาพัก ทางรีสอร์ทจึงได้เปิดห้องให้ 5 ห้อง เพราะผู้จองบอกว่าจะมาเป็นครอบครัว แต่ก็มาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ตนต้องปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ต้องขาดรายได้ ส่วนพนักงานก็ถูกกักตัว 14 เพื่อป้องกันโรคโควิด 19
@@เบตงพบติดเชื้อผ่านแดน 3 ราย คุมเข้มหวั่นแรงงานทะลัก
วันที่ 19 ม.ค.64 บรรยากาศที่ด่านพรมแดนไทย - มาเลเซีย อ.เบตง จ.ยะลา ทางเจ้าหน้าที่กองอำนวยการร่วมประสานงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำการคัดกรองแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย พนักงานขับรถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรวมถึงคนไทยที่อาจจะลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากประเทศมาเลเซียยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อภายในวันเดียว 4,029 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมถึง 158,434 คน
นายสุริยา บุญพันธ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเบตงรักษาราชการแทนนายอำเภอเบตง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ในพื้นที่ เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตามมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การป้องกันการลักลอบยาเสพติดตามแนวชายแดน พร้อมตรวจตรากำกับดูแลสถานประกอบการ รวมทั้งภาคเอกชนไม่ให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย
ส่วนผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาจากประเทศมาเลเซียผ่านทางด่านพรมแดนอำเภอเบตง ขณะนี้ อ.เบตง ได้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย กลับจากประเทศมาเลเซียและเข้ารับการกักตัว ณ ศูนย์กักตัว local quarantine อ.เบตง เป็นอดีตผู้พ้นโทษจากเรือนจำประเทศมาเลเซีย เพศชายจำนวน 2 คน อายุ 37 ปี และ 38 ปี และเป็นแรงงานไทยในมาเลเซีย เพศหญิง 1 คน อายุ 35 ปี ทั้ง 3 คน เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.64 ที่ผ่านมา
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.64 มีชาวไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 36 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่พ้นโทษ จำนวน 34 ราย และกลุ่มที่กลับมาด้วยระบบปกติ 2 ราย โดยกลุ่มผู้ต้องขังที่ผ่านการกักตัวจาก สถานกักกันเพื่อสังเกตอาการฯ (บาราเต็ก) รัฐเคดาร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้ง 34 ราย มีประวัติตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่ประเทศมาเลเซียผลไม่พบเชื้อ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านเบตง พร้อมคนไทยที่แจ้งความประสงค์กลับประเทศไทยตามระบบปกติ โดยได้นำส่งตัวให้กับศูนย์สังเกตอาการฯ(Local quarantine : LQ) ด้วยรถตู้และรถมินิบัสนำส่งตามสถานที่สังเกตอาการฯแต่ละจังหวัด ได้แก่ LQ อ.เบตง 15 ราย LQ จ.ยะลา 3 ราย LQ จ.ปัตตานี 4 ราย LQ จ.สตูล 4 ราย LQ จ.นราธิวาส 1 ราย และ LQ จ.สงขลา 9 ราย
ทั้งนี้การรายงานผู้ที่อยู่ศูนย์สังเกตอาการฯ (LQ) จะมีการส่งตรวจหาเชื้อ COVID-19 ครั้งที่ 1 ในช่วงวันที่ 3-5 ที่อยู่ศูนย์สังเกตอาการและครั้งที่ 2 ในช่วงวันที่ 11-13 จากกรณีผู้สังเกตอาการใน LQ อ.เบตง (15 ราย) และLQ จ.ยะลา (3 ราย) รวม 18 ราย (เป็นชาวยะลา 4 ราย) เก็บตัวอย่างตรวจและได้รับรายงานผลการตรวจ (ครั้งที่ 1) ดังนี้ ไม่พบเชื้อ 13 ราย รอผล 2 ราย พบเชื้อ 3 ราย (ผู้ป่วยรักษาอยู่รพ.เบตง)
@@สงขลาเฝ้าระวังเชิงรุก หลังพบติดเชื้อจากมาเลย์ 5 ราย
วันที่ 19 ม.ค.64 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมหารือมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ โดยมีรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ ท้องถิ่นจังหวัด ขนส่งจังหวัด นายสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ตัวแทนชมรมร้านยาใน จ.สงขลา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การติดตามผู้ขับขี่ยานพาหนะขนส่งสินค้าจากพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุก และการใช้ระบบเทคโนโลยีในการบริหารจัดการเฝ้าระวังป้องกันโรค ในสถานบริการสาธารณสุขและร้านขายยา
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สงขลา ในวันที่ 17 - 18 ม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมาจำนวน 5 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซียทั้งหมด ผ่านข้ามพรมแดนมาในประเทศอย่างถูกต้อง โดยให้ทำการตรวจหาเชื้อและเข้ารับการกักตัวทันที หลังทราบผู้ติดเชื้อโควิด จึงได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อยังโรงพยาบาล ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ของ จ.สงขลา ทั้งหมด 7 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2 ราย รักษาหายแล้ว และติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 ราย อยู่ระหว่างการรักษา