ชมรมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลามฯ เข้าให้กำลังใจ ผกก.สภ.ยะหา หนุนใช้ "ฮูกมปากัต" แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุมต่อไป ขณะที่กรรมการมัสยิด ยัน ยังไม่เคยจับแต่งงานจริง มีแค่ตักเตือน ด้าน "อังคณา" โอดถูกล่าแม่มด ทั้งที่ออกมาเตือนด้วยความหวังดี ห่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน รองเลขาจุฬาราชมนตรี แนะใช้ "กฎชุมชน" ต้องไม่กระทบกฎหมายหลัก
จากกรณีทาง สภ.ยะหา ได้ร่วมกับผู้นำศาสนานำมาตรการทางสังคม "ฮูกมปากัต" มาใช้ในการแก้ปัญหาเยาวชนชาย - หญิง มีพฤติกรรมเชิงชู้สาวในที่สาธารณะและที่ลับตา โดยการจับแต่งงานและดำเนินการตามกฎหมายข้อหากระทำอนาจารและกระทำชำเรา จนเกิดกระแสในสังคมโซเชียลมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่ถูกนำมาใช้
ล่าสุดเวลา 11.00 น.วันที่ 5 ม.ค.64 ทางชมรมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลามจังหวัดยะลา และสมาคมนักศึกษาศิษย์เก่าประเทศคูเวต ภาคใต้ ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอยะหา จ.ยะลา ขอเข้าพบกับ พ.ต.อ.สายูตี กาเต๊ะ ผกก.สภ.ยะหา เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจ พร้อมทั้งขอสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการทางสังคม (ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย) มาใช้ในพื้นที่
โดยทางชมรมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลามจังหวัดยะลาและสมาคมนักศึกษาศิษย์เก่า ประเทศคูเวต ภาคใต้ ได้มองว่า การนำมาตรการทางสังคม ฮูกมปากัต 4 ฝ่ายมาใช้ จะเป็นแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาเยาวชนประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
@@ ใช้มา 1 ปี ยังไม่เคยจับแต่งงานจริง แค่ตักเตือน
ร.ต.อ.อนุชา แวดอยี กรรมการมัสยิดกลาง อ.ยะหา กล่าวว่า กฎระเบียบ 4 ฝ่าย ฮูกมปากัต ทางมัสยิดกลาง อ.ยะหา ได้เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมรวมกลุ่มจับคู่โดยที่ไม่ใช่สามีภรรยากันนั้น สร้างความลำบากใจให้ชุมชน ผู้ปกครองและผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยใช้แนวคิดหลักยุติธรรมทางเลือก กฎระเบียบชุมชนเป็นกรณีพิเศษ ใช้ 4 ฝ่ายเข้าร่วมเป็นต้นแบบ จึงรวมกลุ่มประชุมหลายครั้งๆ นานกว่า 6 เดือน เพื่อหาข้อสรุป ที่จะทำเยาวชนอยู่ในระเบียบจารีตประเพณีศาสนา ห่างไกลยาเสพติด ลดแรงเสียดทานการชักนำของผู้ไม่หวังดี ลดการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงได้ร่างกฎบทลงโทษของ “ฮูกมปากัต” ขึ้น เริ่มใช้เมื่อ 28 ธ.ค 2562
มาตรการ "ฮูกมปากัต" จะมีการจับมาไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่ายก่อน ครั้งแรกให้คำตักเตือน เรียกผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอีหม่าม เพื่อมารับทราบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเสียชื่อเสียง ซึ่งตั้งแต่ใช้มาตราการดังกล่าวมา 1 ปี ยังไม่มีการจับหนุ่มสาวคู่ใด แต่งงาน ส่วนวัยรุ่นต่างศาสนิกก็จะใช้กฎเดียวกันนี้ด้วย
ร.ต.อ.อนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ยืนยันทางเราไม่ได้ละเมิดสิทธิ ถ้าพูดคุยอย่างน้อยต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วย ส่วนข้อบังคับนี้ก็ได้กำชับหนักแน่น ระเบียบนี้ใช้กับมุสลิมเท่านั้น เพื่อปรามการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม ผลตอบรับที่ผ่านมา ชาวบ้านบอกว่า ดีขึ้นมากเกิน 50% การมั่วสุมหรือแอบอยู่กันตามลำพัง ลดลงจนแทบจะไม่มี
ส่วนที่หลายคนเป็นห่วงว่า อาจจะมีผู้แอบแฝงและผู้ไม่หวังดี นำมาตรการดังกล่าวไปข่มขู่เรียกทรัพย์ผู้ที่ฝ่าฝืนนั้น ทางคณะกรรมการที่กำหนดมาตรการดังกล่าว มีรายชื่ออยู่ชัดเจน หรือสามารถสอบถามไปยังสถานีตำรวจภูธรยะหา ได้ว่า ผู้ที่แอบอ้างนั้นมีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการหรือไม่ และหากพบหรือมีเบาะแสว่า ผู้ใดแอบอ้าง ก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้นั้นทันที
มาตรการดังกล่าวถือเป็นการนำร่องในพื้นที่ ซึ่งมีการขอคำแนะนำจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาแล้วและเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเหมาะสมได้ โดยตลอดปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศและประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ปกครอง ผู้นำท้องที่ ให้รับทราบโดยทั่วกัน ก่อนนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบสังคม อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในพื้นที่คอยสอดส่องดูแลด้วยเช่นกัน
@@ยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ แค่ให้มุสลิมอยู่ในกรอบศาสนา
นายสุทธิมาตร มาหามัด อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่มีการผิดประเวณีบ่อยครั้งและการทำผิดประเวณีเป็นเรื่องสำคัญของศาสนาอิสลาม จึงมานั่งคิดวิธีที่จะแก้ปัญหานี้ให้หมดไปจากพื้นที่เขตความรับผิดชอบในเขตบ้านเรา และจากที่ได้เห็นตามสื่อต่างๆว่า ในพื้นที่บ้านเรามีการทำผิดประเวณี มีการเอาเด็กแรกเกิดไปทิ้งถังขยะ ทิ้งโถส้วม ทำให้ทางกรรมการมัสยิดอำเภอยะหา ไม่สบายใจมากๆ จึงร่วมกันคิดว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้หมดไปจากพื้นที่รับผิดชอบของเราได้อย่างไร จึงปรึกษากันโดยให้ทุกฝ่ายที่มีกำลังและศักยภาพอย่างทางอำเภอ เทศบาล ทหารพราน 47 และตำรวจ มาร่วมประชุมหารือจนเกิดเป็น ฮูกมปากัตขึ้น
หลังจากปิดป้ายประกาศข้อปฏิบัติและการลงโทษได้ 15 วัน จึงดำเนินการตามที่ประกาศ ผลที่เกิดขึ้นพอใจมาก ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองก็ออกมาช่วยสนับสนุนการดำเนินการ ทำให้ตอนนี้ปัญหาการทำผิดประเวณีและการมั่วสุมกันเริ่มหายไปจากพื้นที่ ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้จับใครเลย แค่ปรามและได้เรียกผู้ปกครองมาอบรม แนะนำมาให้การศึกษา ให้ความรู้ในการดูแลลูกหลานให้ดี ซึ่งเราเป็นคนกลางจัดการให้เขาปรึกษาเคลียร์กันเองก่อน ถึงจะมีการแต่งงาน ไม่ใช่เจอปุ๊บจับแต่งงานเลย เราไม่ทำอย่างนั้นเป็นการบังคับจิตใจและเป็นเรื่องที่อิสลามไม่ประสงค์ด้วย
อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง อ.ยะหา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ทางนักสิทธิมนุษยชนต่างๆ มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ ก็ขอย้ำว่า เป็นการเข้าใจผิด เราไม่ได้ละเมิดสิทธิใครเลย เพียงแต่ว่าเราออกมาตรการที่อยากจะให้บรรดาประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในกรอบของศาสนาแค่นั้นเอง ซึ่งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่จะต้องร่วมกันทำในสิ่งดีๆและอยากให้ชาวบ้านได้รู้และสำนึกตลอดเวลาว่า เราไม่ใช่จะอยู่ในโลกนี้อย่างเดียว เราจะต้องไปหาโลกหน้าด้วย เพราะฉะนั้นเราจะต้องอบรมลูกหลานดูแลลูกหลานให้ดีๆด้วยการศึกษาไม่ได้ไปบังคับ เพื่อเราจะได้อยู่อย่างมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย
@@ "อังคณา" โอดถูกล่าแม่มด แค่ห่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า อยากชี้แจงว่าการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวจากโพสต์ของ ผกก.สภ.ยะหา เรื่องการนำตัวเด็กหรือเยาวชนที่ทำผิดกฎฮูกมปากัตให้ผู้นำศาสนา ซึ่งในกฎฮูกมปากัตที่มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลที่จะนำมาใช้กับเยาวชน ส่วนตัวมีความกังวลและห่วงใยต่อหลัก 4 ข้อ เช่นการใช้คำว่า “การกระทำส่อทางชู้สาว” “เชิงชู้สาว” หรือ “ส่ออนาจาร” ซึ่งไม่มีความชัดเจนและต้องใช้การตีความ เช่น การใช้คำว่า “อนาจาร” ซึ่งไม่มีนิยามตามกฎหมายไทย หรือกฎหมายอิสลาม หรือ “ส่ออนาจาร” หมายถึงการกระทำอย่างไร แค่ไหน เป็นต้น
ทั้งนี้ในการให้ความเห็น ได้ให้ความเห็นทางวิชาการในฐานะคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เพราะกฎที่ประกาศใช้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน อีกทั้งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลคุ้มครองเด็ก จึงท้วงติงด้วยความห่วงใยต่อสวัสดิภาพเด็กและครอบครัว เช่น การรักษาความลับหรือชื่อเสียงของเด็ก แต่กลายเป็นการถูกล่าแม่มด มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลด้วยถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือด้อยค่า ซึ่งน่าเสียดายที่ผู้แสดงความคิดเห็นไม่ได้มองถึงเจตนาในการที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน อีกทั้งกรรมการที่ตั้งขึ้นก็ไม่มีผู้ที่ทำงานด้านเด็กและผู้หญิงหรือสหวิชาชีพ
อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวอีกว่า สรุป คือ ส่วนตัวมองในมิติการแก้ไข คุ้มครองและให้โอกาสเด็ก ไม่ได้ปฏิเสธหลักการอิสลาม ไม่ได้มองในแง่การปราบปรามหรือการลงโทษเพียงอย่างเดียว เช่น การให้ต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจหรือการแต่งงานเด็กเป็นต้น จึงมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับกลไกในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวเด็ก การสอบสวนหรือการกำหนดความผิด เป็นต้น
@@รองเลขาจุฬาราชมนตรี แนะใช้ "กฎชุมชน" ต้องไม่กระทบกฎหมายหลัก
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีใครถูกจับแต่งงานจากกรณีกฎฮูกมปากัต ของ อ.ยะหา เป็นการพูดคุยในลักษณะปรามมากกว่า ผมคิดว่าเรื่องนี้สังคมต้องกลับมาตรวจสอบตัวเองนอกเหนือกฎบังคับที่ว่า หรือว่าการใช้มาตรการทางสังคมที่ว่ามันใช้ได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือต้องไม่ไปกระทบกับกฎหมายที่เป็นกฎหมายหลักของรัฐ
เรื่องค้าประเวณีในพื้นที่ เราไม่ทราบว่า มีหรือเปล่า แต่คงมีทั้งเด็กมุสลิมและพุทธ เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียในหลายๆที่ ก็มีการค้าประเวณี ตรงนี้มันเป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นและหากไม่เกิดขึ้นวันนี้ วันหนึ่งก็ต้องเกิดขึ้น อันนี้เราจะจัดการยังไง ผมคิดว่า ในแง่หนึ่งก็ต้องกลับไปที่ผู้ปกครองว่าจะจัดการกับปัญหาของตนเองยังไง คิดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน ครอบครัว ชุมชน ผู้รับผิดชอบ
นายซากีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการค้าประเวณีผิดกฎหมายอยู่แล้วในประเทศไทยก็มีการค้าประเวณี เราจะมาโทษว่าหน่วยงานไม่ทำหน้าที่ จะพูดในลักษณะนั้นไม่น่าจะได้ แต่เพียงว่าองค์กรที่จะต้องรับผิดชอบ การทำหน้าที่อบรมในการให้ความรู้กับชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นอิหม่าม ไม่ว่าใครก็ตามแต่ ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการอยู่ห่างจากความเชื่อความศรัทธาของศาสนา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดทุกมุมโลก
สิ่งที่มันเกิดขึ้นคิดว่า ไม่ใช่สำนักจุฬาอย่างเดียว ทุกหน่วยงานจะต้องทำ อบรมจริยธรรม อบรมก่อนแต่งงาน ถ้าไม่มีการอบรมก็ไม่มีการเตรียมพร้อมก่อนมีครอบครัว การอบรมจากโรงเรียนที่เด็กเรียนอยู่ในระดับการศึกษา ทุกคนต้องร่วมทำ