มีประเด็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแค่ใน อ.ยะหา จังหวัดยะลา ท้องที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย
ประเด็นที่ว่านี้ก็คือ กรณีที่ตำรวจยะหาออกประกาศว่าหากพบวัยรุ่นมั่วสุมกัน หรือกระทำอนาจาร กระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ จะถูกจับกุม และถูกส่งให้คณะกรรมการอิสลามเพื่อเข้าพิธีแต่งงานตามหลักศาสนา
"ประกาศเจ้าปัญหา" ที่นำมาสู่กระแสวิจารณ์ เนื้อหาในประกาศเขียนเอาไว้แบบนี้...
"ชาย/หญิง ที่มิใช่สามีภรรยา มีพฤติกรรมจับคู่กัน กระทำการใดๆ ลักษณะเชิงชู้สาวในที่สาธารณะหรือในที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหา และคณะกรรมการมัสยิด จะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม 'ยุติธรรมทางเลือก' หรือ 'ฮูกมปากัต' 4 ฝ่าย ดังนี้
1. นำส่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เรียกผู้ปกครองเพื่อทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาให้ถูกต้อง
2. ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในข้อหา "กระทำอนาจาร" หรือ "กระทำชำเรา" และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ลงชื่อ สถานีตำรวจภูธรยะหา"
งานนี้มีเสียงค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากคนนอกพื้นที่ และนักสิทธิมนุษยชน บ้างก็ว่าเป็นการ "บังคับแต่งงาน" ละเมิดสิทธิ์ฝ่ายหญิง เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำยังสร้างปัญหาสังคมตามมา เพราะเป็นการแต่งงานหรือมีชีวิตคู่โดยที่ยังไม่พร้อม คู่สมรสยังอายุน้อย หากในอนาคตเกิดการหย่าร้าง ฝ่ายหญิงก็ต้องรับกรรม อาจจะต้องรับดูแลบุตร หรือฝ่ายชายอาจไปมีภรรยาคนอื่นอีก เพราะศาสนาอนุญาตให้มีได้ถึง 4 คน ทำให้ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดอยู่แล้วในปัจจุบัน
ที่สำคัญหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ตำรวจใช้อำนาจอะไรไปจับกุม โดยเฉพาะหากไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย ไม่มีการกระทำอนาจารหรือล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เช่น กรณีเป็นนักเรียนนักศึกษา หรือเป็นแฟนกันธรรมดา เพราะข่าวลือและกระแสวิจารณ์ไปไกลถึงขั้นว่า หากวัยรุ่นชายหญิงลักลอบอยู่กันสองต่อสอง ก็ต้องถูกจับแต่งงานกันเลยทีเดียว
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า มาตรการที่ทำกันอยู่นี้เรียกว่า "ฮูกมปากัต" แปลว่า "กฎสังคม" หรือ "กฎของชุมชน" มีใช้กันอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยกฎที่ว่านี้มาจากชุมชนเอง ได้รับความเห็นชอบจาก "เสาหลักชุมชน 4 ฝ่าย" คือ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำทางธรรมชาติ เรียกว่า "ผู้นำ 4 เสาหลัก"
แต่ "กฎชุมชน" หรือ "ฮุกมปากัต" ที่ อ.ยะหา ไปไกลกว่านั้น เพราะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจากความเห็นชอบของทุกฝ่ายมากถึง 43 คน มีทั้งตัวแทนตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบพื้นที่มาร่วมด้วย นอกเหนือจากผู้นำ 4 เสาหลัก
เรื่องนี้ทำท่าจะบานปลาย เพราะเสียงวิจารณ์หลายๆ เสียงมาจากคนต่างศาสนา ทำให้มีการตอบโต้กันทำนองว่า "คนนอกศาสนาอิสลามอย่ายุ่ง"
"ทีมข่าวอิศรา" จึงเดินทางลงพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อสอบถาม พ.ต.อ.สายูตี กาเตะ ผู้กำกับการ สภ.ยะหา ให้ได้ความจริงที่ชัดเจน
O สิ่งที่ผู้กำกับทำร่วมกับผู้นำศาสนาและผู้นำ 4 เสาหลักในพื้นที่นั้น คืออะไรแน่ แค่ชู้สาวก็จับแต่งงานจริงหรือไม่?
จริงๆเรื่องนี้มีผู้ดำเนินการหลายฝ่าย แต่จุดที่ทำให้มาร่วมกันทำ "ฮูกมปากัต" เริ่มจากผู้นำศาสนา ซึ่งผู้นำศาสนาคือผู้รับผิดชอบสังคมเกี่ยวกับหลักศาสนา แต่ในพื้นที่มีการทำผิดหลักศาสนากันเป็นส่วนมาก ทุกฝ่ายจึงเห็นถึงความจำเป็น
ที่ผ่านมามีการมั่วสุม มีเหตุยิงกันที่ปั๊มน้ำมัน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย มีเหตุรุมโทรมเด็กผู้หญิง มีเหตุอีกหลายเหตุในพื้นที่ ผู้นำศาสนาไม่กล้าออกตัวที่จะดำเนินการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการไปจับกลุ่มวัยรุ่นที่มามั่วสุม เนื่องจากแต่ละคนพกปืนบ้าง พกมีดบ้าง ดื่มน้ำกระท่อมบ้าง ก็เลยประสานมาให้ตำรวจช่วย เราก็เลยร่วมด้วยช่วยกัน แล้วออกมาตราการเขียนเสือให้วัวกลัว ประกาศไปว่าตำรวจจะดำเนินการแล้ว ซึ่งจริงๆ ตั้งใจจะขึ้นป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ จะบอกว่าอย่ามามั่วสุมแถวนี้ ที่นี่เป็นเขตประกาศกฎฮูกมปากัต แต่ตอนนี้สื่อช่วยกันลง ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้แล้ว ก็ไม่ต้องทำป้ายไวนิล
O ผลจากการใช้ "ฮูกมปากัต" เป็นอย่างไร?
หลังจากใช้มาตราการนี้ และมีข่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าในยะหาตอนนี้เงียบเลย ไม่มีกลุ่มวัยรุ่นมามั่วสุม ทุกคนมีความสบายใจ โต๊ะอิหม่ามสบายใจ ในพื้นที่ไม่มีการทำผิดประเวณี ผู้นำในพื้นที่ก็ไม่ต้องมารับบาป
O มีข่าวว่าจับได้ บังคับให้แต่งงาน จริงหรือไม่ และใช้มาตรการนี้มานานหรือยัง?
มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีการประกาศ ซึ่งที่ผ่านมาที่ได้ร่วมกันใช้ฮูกมปากัต สามารถจับกุมได้ทุกคืน แต่ไม่เคยทำสถิติ น่าจะเกิน 100 เคสแล้วนะ แต่เมื่อจับได้ก็จะให้คณะกรรมการมัสยิดเรียกผู้ปกครองมาพูดคุยรับฟังปัญหา พ่อแม่ก็จะบีบหูลูกแล้วก็พากลับไป เราให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรับกลับไปดูแลที่บ้าน
O แล้วเรื่องดำเนินคดี มีบ้างหรือไม่?
อยากบอกว่าตำรวจไม่เคยดำเนินคดีใดๆ แต่ใช้มาตรการเขียนเสือให้วัวกลัว ยังไม่มีการดำเนินคดีกับใคร เพราะไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินการ ตำรวจ สภ.ยะหา ไม่เคยจับกุมใคร ไม่เคยละเมิดสิทธิ์ใคร ไม่เคยหน่วงเหนี่ยวกักขังใคร และตำรวจไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ์ในการจับใครแต่งงานกับใคร เป็นเรื่องของผู้นำศาสนา
O จะเดินหน้ากฎชุมชนต่อไปหรือไม่ หรือจะหยุดแค่นี้?
ก็คิดว่าต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นสังคมก็จะไม่เรียบร้อย อาชญากรรมมันก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องป้องกันป้องปรามอาชญากรรมในพื้นที่อยูู่แล้ว และผมเองก็เป็นมุสลิมที่จะต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบกับเหตุในพื้้นที่ ถ้าไม่ทำก็แสดงว่าเป็นคนหนึ่งที่จะต้องมารับบาปตรงนี้ด้วย
ผมอยากให้กลุ่มเยาวชน วัยรุ่นหนุ่มสาว ได้ศึกษาในเรื่องของหลักศาสนา รู้จักคำว่าบาป รู้จักคำว่า อาคีระ (วันสิ้นโลก) ว่าเป็นอย่างไร และเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
สำหรับเด็กที่จับได้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กในพื้นที่ แต่เป็นเด็กที่มาจากอำเภอใกล้เคียง กรงปินังบ้าง บันนังสตาบ้าง (จ.ยะลา) สะบ้าย้อยบ้าง (จ.สงขลา) อำเภอเมืองยะลาก็มี เป็นเด็กนอกพื้นที่ทั้งหมด ยังไม่มีการจับเด็กที่เป็นคนในพื้นที่เลย ส่วนอายุหนุ่มสาวที่มาร่วมมั่วสุม อยู่ที่ประมาณ 13-18 ปี