บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอยุติการผลิตแล้ว หลังจากตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้เพียง 1 ปีเศษ
ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือน คือช่วงราวๆ ต้นเดือน ต.ค.63 ทางผู้บริหารบริษัทฯ ได้เคยออกมาส่งสัญญาณถึงรัฐบาล โดยให้ข่าวว่าเตรียมย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่ไปยังแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพราะแบกรับส่วนต่างค่าขนส่งไม่ไหว ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการตัดสินใจลงทุนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐบาลรับปากว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการซื้อที่ดิน 211 ไร่เพื่อขยายโรงงาน แต่เป็นที่ดินในเขตผังเมือง "สีเขียว" ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ ทางบริษัทฯ จึงขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และรัฐบาล เร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงผังเมืองให้เป็น "สีม่วง" เพื่อลงทุนและขยายการผลิตในเฟสต่อไป
ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้บริษัทฯต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มมานานนับปี แต่ก็ยังพยายามคงกำลังการผลิตต่อไป เนื่องจากได้จ้างงานคนพื้นที่เอาไว้กว่า 200 ชีวิต
แต่หลังจากบริษัทฯ ส่งสัญญาณว่ากำลังจะแบกรับต้นทุนไม่ไหว จนกลายเป็นข่าวใหญ่โต ปรากฏว่าก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐบาล และ ศอ.บต.อยู่ดี ทำให้ล่าสุดทางบริษัทฯ จึงตัดสินใจยุติการผลิต และส่งหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
@@ เปิดไทม์ไลน์ปัญหา รัฐบาลรับปากแต่ไม่ช่วยอะไร
หนังสือที่ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการบริษัทฯ ลงวันที่ 24 ธ.ค.63 เนื้อหาแจกแจงรายละเอียดที่มาที่ไปของปัญหาอย่างละเอียด ดังนี้
ตามที่ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มาลงทุนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำชักชวนจาก ศอ.บต. ตามนโยบาย "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยบริษัทฯ ได้เริ่มทำการผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมี่ยมส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือน ก.ย.62 ปัจจุบันมีการจ้างงานแรงงานในพื้นที่แล้วกว่า 205 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อ.หนองจิก และพื้นที่ใกล้เคียงนั้น
ในเอกสารชักชวนการลงทุน ได้กล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทฯ และประเด็นปัญหาในการลงทุน รวมถึงเงื่อนไขที่จะทำให้โรงงานสามารถดำเนินกิจการได้ ซึ่งจัดทำโดย ศอ.บต. ถึงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สำหรับข้อเสนอดังกล่าวได้รับการอนุมัติเห็นชอบ ประกอบด้วย
1. ขออนุมัติเป็นหลักการโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์พื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดนในพื้นที่เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน) ที่ นร 5201.2/137 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2562
2. รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์พื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดนใต้ในพื้นที่เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน) ที่ นร 5203.1/6230 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562
ซึ่งข้อเสนอตามที่รัฐบาลได้เชิญชวนให้บริษัทฯ เข้ามาลงทุนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจูงใจ ดังนี้
1. การสนับสนุนค่าขนส่งในส่วนต่างของต้นทุนค่าขนส่ง จำนวน 500 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ (เมื่อเทียบกับค่าขนส่งเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี) จนกว่าจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้วเสร็จ
2. การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น เช่น น้ำ ไฟฟ้า ถนนที่เชื่อมต่อกับโครงการ และระบบการขนส่งต่างๆ ทั้งระบบ
3. การพิจารณาปรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของผังเมือง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทฯ เนื่องจากที่ดินของบริษัทฯ เป็นพื้นที่สีเขียวคาดขาว แต่อยู่ติดกับพื้นที่เขตอุตสาหกรรมสีม่วง
4. การขอเช่าที่ดินและอาคารโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (โอท็อป ฮาลาล) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารรกร้างและไม่ได้ใช้งานมานานจากกรมธนารักษ์ จ.ปัตตานี โดยบริษัทฯมีแผนดำเนินการที่จะซ่อมแซมปรับปรุงอาคารดังกล่าว เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมผีมือแรงงานเพิ่มเติม เพื่อรองรับการจ้างงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
5. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)
6. กำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่
7. ดำเนินการฝึกอบรมทักษะแรงงานวิชาชีพ แรงงานฝีมือ
บริษัทฯ ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน มาลงทุนในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. มีความมั่นใจในการสนับสนุนของ ศอ.บต. และรัฐบาลไทย
2. ต้องการสนับสนุนภาครัฐในการสร้างงานให้แก่ชาวบ้าน เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
3. มุ่งหวังให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สูงขึ้น สร้างความมั่นคงในสังคม
4. ชาวบ้านในพื้นที่มีทักษะและความสามารถ มีวินัยในการทำงาน แต่ขาดโอกาส
5. ต้องการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและสินค้าอื่นๆ ในท้องถิ่น เช่น ไม้ยางพารา ไม้อัด โฟม ลาเท็กซ์ และกาว
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน ในพื้นที่เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ลงวันที่ 18 กันยายน 2563 ด้วย
ต่อมาในวันที่ 17 ต.ค.63 บริษัทฯ ได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ ศอ.บต. จังหวัดยะลา และท่านได้แจ้งบริษัทฯ ว่าทางรัฐบาลมีความเป็นห่วง และแนะนำว่าการจ้างงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่สำคัญ
และในวันที่ 29 ต.ค.63 บริษัทฯ ได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ในที่ประชุม และท่านได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และให้หัวหน้าหน่วยราชการหลายหน่วยงานเร่งดำเนินการ และแจ้งว่าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งให้เห็นผลความคืบหน้าโดยเร็ว นอกจากนี้ จะมีการแจ้งความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปัจจุบันเวลาได้ล่วงมา 2 เดือนแล้ว บริษัทฯยังไม่เคยได้รับเอกสาร แม้แต่รายงานการประชุมข้างต้น หรือรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานแม้แต่ประเด็นเดียว รวมถึงเรื่องการสนับสนุนค่าขนส่งก็ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนเลย ตั้งแต่เริ่มการผลิตมาประมาณ 15 เดือน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ มีเจตนาที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สูงขึ้น โดยบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะช่วยให้มีการจ้างงานขนาดใหญ่ เพื่อมุ่งหวังให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงในสังคม เพื่อสันติสุขในชายแดนใต้อย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับนโยบายพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นในเวลาที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ที่บริษัทฯ ได้เข้ามาทำงานและลงทุนอย่างจริงจังในพื้นที่ ทางบริษัทฯได้แสดงให้เห็นว่าคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นคนที่มีวินัยในการทำงาน มีความสามารถ เพียงแต่ด้อยโอกาสในการทำงานเท่านั้น
อนึ่ง ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ทำการผลิตระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตามที่ได้เชิญชวนได้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ดังนี้
1. ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการส่งออกแล้วกว่า 200 ตู้ คิดเป็นส่วนต่างค่าขนส่งที่สูงขึ้นกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ
2. มูลค่าการลงทุนในที่ดิน 211 ไร่ ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
3. เสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้
4. สูญเสียเงินลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท
ทางบริษัท ซูเพิร์บฯ มีความเสียใจที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องย้ายการผลิต และการลงทุนออกจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งทางบริษัทฯ เสียใจที่ไม่สามารถจ้างงาน และมีส่วนร่วมในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งด้อยโอกาสในการทำงานได้อีกต่อไป
@@ กรรมการบริษัทฯ รับ "หมดหวังแล้ว"
นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการ บริษัทซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ทางบริษัทฯหมดความหวังแล้ว คาดว่าจะยุติสายการผลิตทั้งหมดในช่วงเดือน ม.ค.64 ระหว่างนี้จะต้องเคลียร์ทรัพย์สินและเครื่องจักรทั้งหมดก่อนจะยุติในช่วงหลังปีใหม่
ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและ ศอ.บต.เร่งแก้ไขปัญหา ช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุเมธ ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้ว่า "เราเจ็บมาก ฝากบอกคนอื่นอย่ามาลงทุนที่ภาคใต้ เพราะมาแล้วจะเจออย่างนี้ เราโดนขนาดนี้แล้วใครจะกล้ามาอีก"