ณ แพปลา น.ลาภประเสริฐ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในขณะที่แรงงานประมงต่างชาติหลายคน กำลังง่วนอยู่กับการซ่อมเรือและเตรียมอุปกรณ์ในการที่จะออกทำการประมงตามปกตินั้น แต่ละคนต่างก็มีความกังวลใจและรู้สึกไม่ดีนัก หลังจากที่มีข่าวแรงงานต่างชาตินำเชื้อโควิคเข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสาคร
ทั้งที่ในจังหวัดปัตตานี มีการยืนยันผลการตรวจผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรสาครและผู้ใกล้ชิด ทั้ง 56 คน ไม่มีผู้เชื้อโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้แรงงานต่างชาติเหล่านี้คลายกังวลใจแต่อย่างใด
นายฮือ เอม วัย 47 ปี ชาวกัมพูชา ช่างซ่อมบำรุงเรือ น.ลาภประเสริฐ บอกด้วยความเป็นกังวัลว่า ทุกคนต่างก็รักชีวิตตัวเอง ตอนนี้เชื่อว่า ทุกคนกังวลกับสถานการณ์โควิด ที่กำลังระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่สมุทรสาคร รู้สึกไม่ดีเลยที่หลายคนมองว่า แรงงานต่างชาติเป็นแรงงานที่นำเชื้อโรคมา ทั้งที่เรามาทำงานเหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่เราเป็นคนต่างชาติ
"ตอนนี้เวลาไปไหนมาไหนก็ต้องใส่หน้ากากต้องป้องกันตัวเองเวลา เวลาเรือเข้าฝั่งก็ต้องอยู่บริเวณจำกัด ไม่ได้ไปไหน เพราะไม่อยากออกไปไหน ถ้าติดมามันทำให้เราลำบากป้องกันอย่างเต็มที่ เพราะไม่อยากติดโควิด ตอนนี้เช้ามาทำงานเสร็จกับที่พักแล้วก็อยู่ที่พักจนกว่าเช้า ก็ออกมาทำงาน"
นายฮือ กล่าวด้วยความคิดเห็นส่วนตัวอีกว่า "การที่เขามองว่าแรงงานต่างชาติเป็นผู้นำเชื้อให้ประเทศไทย ก็คิดว่าไม่ถูก เราห้ามเขาไม่ได้และรู้สึกไม่ดีเลย เราพยายามดูแลเต็มที่ เราก็รักชีวิตเรา ในส่วนคนต่างชาติอยากบอกว่า ถ้าเราติดเชื้อก็ไม่ต้องมา มาแล้วไม่ดี ทำให้คนอื่นติดเชื้อ ผิดกฎหมายด้วย ให้อยู่เฉพาะเราคนเดียว อย่ามาให้ติดคนอื่น อย่าให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าคนอื่นติดจากเรามันจะลำบาก ทุกคนรักชีวิต ขอให้ทุกคนแข็งแรงรอดปลอดภัยจากโควิด ไม่อยากให้ติดโควิดอย่างเดียวต้องป้องกันและดูแลสุขภาพ"
"ก็ไม่ขออะไรมาก แค่นี้ก็ดีอยู่แล้ว ให้มีงานทำก็พอแล้ว ขอให้ค่าแรงคุ้มกับแรงที่เราทำ ไม่ขออะไรมากสวัสดิการตอนนี้ก็ดีแล้ว ดีมากๆมีประกันสังคม" หนุ่มชาวกัมพูชากล่าว
นายชาลี เอซะ อายุ 30 ปี ชาวพม่าจากรัฐยะไข่ แรงงานประมงบนเรือ น.ลาภประเสริฐ เล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่เขาได้พบเจอตอนเข้าที่มาทำงานในประเทศไทยใหม่ๆ ว่า ครั้งแรกมาประเทศไทย มาแบบผิดกฎหมาย ตอนนั้นอายุ 15 ปี นั่งเรือจากยะไข่ข้ามมาเกาะสอง จังหวัดระนอง นั่งรถกระบะแบบเบียดเพราะต้องหลบ ลงมาถึงชุมพร จากนั้นไปเปลี่ยนรถที่ชุมพร นั่งรถกระบะอีกรอบจนมาถึงปัตตานี ลำบากมากกว่าจะมาถึง และพอมาถึงการใช้ชีวิตก็ต้องแอบๆ หลบๆ ซ่อนๆ ไปไหนไม่ได้ อีกอย่างถูกโกงค่าแรงด้วย เขาใช้เราทำงาน 3-4 เดือน ไม่ยอมจ่ายค่าแรง เขาทำกับเราไม่ดีเลย นอกจากต้องอยู่หลบๆแล้ว ความเป็นอยู่ของเราไม่เหมือนเป็นคนเลย ทำงานหนัก เขาทำกับคนพม่าเหมือนไม่ใช่คน ใช้ให้เราทำงานแต่ไม่จ่ายเงินก็ไม่ดี
"แต่เดี๋ยวนี้ รู้สึกเป็นคนมากขึ้นแล้ว อยู่ได้อย่างมีอิสระเสรี เพราะเถ้าแก่คนนี้ เขาทำให้เราถูกกฎหมาย ก็ดีมาก มีสวัสดิการทุกอย่าง ไม่สบายก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ อยากไปไหนก็ได้ จะทำอะไรก็ได้หมด มาอยู่กับเถ้าแก่คนนี้ 7 ปี เป็น 7 ปีที่รู้สึกเป็นคน แล้วก็รู้สึกมีศักดิ์ศรี ได้มีความเป็นธรรมเหมือนคนทั่วไปในโลกนี้" หนุ่มพม่าวัย 30 ปี กล่าวด้วยความภูมิใจ
"ส่วนแรงงานผิดกฎหมายจากเกาะสอง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี เพราะนายจ้างคนไทยเขาทำให้เข้าระบบและทำให้คนเกาะสองมาทำงานอย่างถูกต้อง ไม่มีใครอยากมาถ้าไม่ถูกกฎหมาย เพราะถ้าหากว่าผิดกฎหมายอยู่ยาก"
เมื่อถามถึงกรณีที่มีหลายคนมองว่า แรงงานต่างชาติอย่างพวกเขานำเชื้อมาให้คนไทยนั้น หนุ่มชาวพม่ารายนี้ กล่าวว่า "ก็รู้สึกไม่ดี ทำให้คนที่ดูแลตัวเองอีกจำนวนมากได้รับผลกนะทบ เพราะเป็นแบบนี้หางานยาก ทำงานก็ยาก จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก ถ้าไม่อยากเป็นโควิด เราก็ต้องดูแลตัวเองอย่างดี รู้สึกไม่ดีและจะเกิดความหวาดระแวงกันเองอีกด้วย ญาติกันยังกลัว สมมุติผมกลับบ้านผมก็กลัว ไม่รู้ว่าจะติดโควิดจากเขาหรือไม่ และเขาเองก็กลัวผม เราต่างระแวง เพราะต่างไม่มีใครอยากติดโควิด"
"สำหรับคนไทยคิดว่า มีข้อดีที่ทำให้ประเทศไทยไม่ค่อยมีคนติดโควิด เพราะคนไทยบอกอะไร เขาจะรู้เรื่อง บอกให้อยู่ในบ้านเขาก็อยู่ในบ้าน แต่ว่าที่พม่าบอกให้อยู่บ้านเขาก็ไม่อยู่ ก็เลยทำให้เกิดการระบาดมากที่พม่า"
นายสุรัตน์ รัตนศิธร เจ้าของเรือประมง เรือ น.ลาภประเสริฐ กล่าวว่า แรงงานประมง จ.ปัตตานี 80 เปอร์เซ็นต์ คือแรงงานต่างชาติ ซึ่งในส่วนของตน มีแรงงาน 260 คน ถือว่าอยู่ในช่วงโควิด ถ้าไม่ติดเรื่องสถานการณ์โควิด น่าจะมีร่วมๆ 400 คน โดยส่วนใหญ่ถือเป็นแรงงานคนละกลุ่มกับแรงงานที่มาจากตอนบนของของพม่า เป็นพม่าแท้ ส่วนแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในโซนรัฐยะไข่ มอญ
"คนไทยมองว่าแรงงานต่างด้าวเป็นกลุ่มนำเชื้อ จริงๆแล้วแรงงานที่ตั้งใจทำมาหากิน เพื่อจะเอารายได้กลับเลี้ยงดูครอบครัวทางบ้านก็ยังมีอีกเยอะ คนที่พฤติกรรมไม่ดีเป็นแค่ส่วนน้อยที่เป็นปัญหา มีเพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยมาก อย่าไปเหมารวม เพราะเป็นแรงงานคนละกลุ่มที่ อย่างแรงงานของเราที่นี่ เราก็ควบคุมได้ ขอให้เขาอยู่แต่บนเรือในช่วงที่มีการเฝ้าระวัง และเขาก็ไม่ได้ขอกลับบ้าน ซึ่งถ้าตรงกับจังหวะที่เรือไม่ได้ออก เราก็ให้เขาไปอยู่ที่บ้านพัก เพราะเรามีบ้านพักให้เขา" นายสุรัตน์ กล่าว
ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนและความรู้สึกจากใจของแรงงานประมงต่างชาติ ที่ไม่อยากให้หลายคนเหมารวมมองว่า เป็นต้นตอของโควิดระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย