ผู้ว่าฯปัตตานี เรียกถกทุกหน่วยงานรับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ กักตัวกลุ่มเสี่ยง 100 ราย ใกล้ชิดคนที่เดินทางมาจากสมุทรสาคร สสจ.ตรวจแรงงานประมงปัตตานีไม่พบคนติดเชื้อ ด้านทหารเสริมกำลังป้องกันชายแดน เฝ้าระวังหลบหนีข้ามแดนเข้าไทย
วันที่ 21 ธ.ค.63 นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ในแนวทาง/มาตรการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรน่า2019 หรือ โควิด19 ระลอกใหม่ ที่ห้องประชุม KM ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อรับทราบข้อมูลด้านการประมงของจังหวัดปัตตานี จากหน่วยต่างๆ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลปัตตานี ตำรวจภูธร ประมงจังหวัด แรงงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ทำการปกครองจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับการซื้อขายสินค้าตลาดสัตว์น้ำ จ.สมุทรสาคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ให้มีความปลอดภัยสูงสุด ตามหนังสือด่วนที่สุดของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ทุกจังหวัดได้ตรวจสอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าตลาดสัตว์น้ำ จ.สมุทรสาคร ให้เข้ารับบริการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและมีความกังวลว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที พร้อมแจ้งไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบบุคคลในหมู่บ้าน หากพบว่า เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโรคและกำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ให้การสนับสนุนและดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 ควบคู่กับสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ถือปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับข้อมูลขณะนี้ประมาณ 100 คน ที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่นำสินค้าไปส่ง ณ ตลาดสัตว์น้ำ จ.สมุทรสาคร รวมถึงผู้มีความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องเข้ารับการการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมขอความร่วมมือไปยังด่านตรวจเข้าจังหวัดเพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง รวมถึงคนไทยที่หลบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติและตรวจรถขนส่งสินค้าประมงที่เข้าไปสู่จังหวัดด้วย.
@@สสจ.ตรวจแรงงานประมงปัตตานีไม่พบคนติดเชื้อ
ส่วนที่ท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ทางสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกับทางสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เข้าไปดำเนินการตรวจคัดกรองหาแรงงานประมงกลุ่มเป้าหมายที่เสี่ยง หลังพบการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด19 ระลอกใหม่ โดยได้ทำการตรวจคัดกรองแรงงานที่ท่าเทียบเรือประมงปัตตานีและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคน มีการเข้มงวดในการใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าพื้นที่ท่าเทียบเรือประมง
นายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทีมสาธารณสุขปัตตานีได้วางแผนร่วมกับผู้ประกอบการประมงปัตตานี เพื่อตรวจหากลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงในท่าเทียบเรือประมงปัตตานี เบื้องต้นยังไม่พบกลุ่มบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ในส่วนของแรงงานชาวเมียนมา ยืนยันว่าไม่น่ากังวล จากข้อมูลที่มีคนปัตตานีที่ไปแถวสมุทรสาคร ยังไม่พบข้อมูลความเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวลมากกว่า คือ กลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับจากมาเลเซีย ผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ ส่วนแรงงานต่างชาติในพื้นที่ปัตตานีส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานเก่าที่อยู่กันมานานๆไม่ใช่คนที่เพิ่งเข้ามา ทำให้ควบคุมง่ายกว่ากลุ่มคนที่ลักลอบเข้ามาทางด่านธรรมชาติ ซึ่งบ้านเราจะกังวลกับคนกลุ่มนี้มาก เพราะคนปัตตานีที่ไปอยู่ในมาเลเซียมีมากและที่มาเลเซียก็มีการระบาดหนัก
นายแพทย์ชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า โดยรวมเราก็มีมาตรการที่จะให้ทางผู้ใหญ่บ้าน อสม. ช่วยเป็นหูเป็นตา ให้นำตัวมาคัดกรอง สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เราก็ให้กักตัวเพื่อสังเกตอาการที่ปะนาเระ ที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ตอนนี้ก็มีอยู่ 100 กว่าคน ที่กักตัวอยู่
อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท เราได้มีการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็อยากขอให้ผู้ที่ที่กลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง ขอให้เข้ามารายงานตัว เพื่อจะดูว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ก็จะได้ดูแลให้อีกทางหนึ่ง ขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบคนแปลกหน้า แรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ก็ประสานเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่และสาธารณสุขก็จะไปคัดกรองให้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน รวมทั้งขอให้ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มคนที่กลับจาก จ.สมุทรสาคร ให้เข้ามารายงานตัวด้วย
นายสุรัตน์ รัตนศิธร เจ้าของเรือประมง เรือ น. ลาภประเสริฐ กล่าวว่า การตรวจโควิด ที่ สสจ.ปัตตานีร่วมกับสมาคมประมงปัตตานี มีผู้ที่เดินทางไป จ.สมุทรสาคร จำนวน 2 คนและได้เข้าตรวจทั้ง 2 คนแล้ว ซึ่งปกติจะมีรถขึ้นไปส่งปลาที่มหาชัย วันล่ะไม่กี่คัน แต่ถ้าเป็นเรือจากจังหวัดอื่น ทางผู้ประกอบการเขาจะมีรถจากต่างจังหวัดมาขนถ่ายกันเอง ซึ่งจะไม่ใช่รถจากจังหวัดปัตตานี สัตว์น้ำของมหาชัย ก็ไม่มีการขนส่งลงมาปัตตานีอยู่แล้ว ในส่วนของ 2 รายที่ทำการตรวจไปนั้นจะรู้ผลพรุ่งนี้ จากข้อมูลทราบว่าทั้ง 2 รายที่มาตรวจ ไม่ใช่คนขับรถไปส่งปลา แต่เป็นคนที่ไปประชุมที่มหาชัย
ตอนนี้ในส่วนของท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาจังหวัดปัตตานี ได้เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ แรงงานต่างชาติ แต่ในภาคประมงเองเราก็เพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น มีการสนธิกำลังจาก สสจ.ปัตตานี ในระบบการแจ้งตรวจแจ้งเข้าด้วยและหลังจากองค์การสะพานปลา สั่งปิดสะพานปลา สมุทรสาคร-สมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดโควิด19 รอบใหม่ ผู้ซื้อปลาจากปัตตานีที่ไปขายปลาที่มหาชัย ได้ประกาศปิดรับซื้อสัตว์น้ำแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลเรื่องราคาสัตว์น้ำบ้างแต่ก็ไม่มาก
ขณะที่ผู้ประกอบการ "แพปลาขวัญข้าว" ที่รับซื้อปลาจากปัตตานีไปขายที่มหาชัย กล่าวว่า แพขวัญข้าว อาจจะปิดรับซื้อสินค้า เนื่องจากด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร เริ่มขยายเป็นวงกว้าง ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.63 ทางชมรมผู้ขายปลาสมุทรสาคร มีความเห็นว่า ตลาดทะเลไทยของเราควรแสดงความรับผิดชอบและเสียสละต่อส่วนรวม โดยการหยุดการซื้อ-ขายสินค้าทุกชนิดในตลาดปลา ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.63 ไปจนถึงวันที่ 3 ม.ค.64
@@ทหารเสริมกำลังป้องกันชายแดน เฝ้าระวังหลบหนีข้ามแดนเข้าไทย
ด้าน พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 กล่าวว่า กรณีแรงงานต่างชาติที่ข้ามด่านธรรมชาติ เราสามารถควบคุมบริเวณพื้นที่ทั้งหมดที่รับผิดชอบ โดยล่าสุดได้เพิ่มเติมกำลังอีก 1 กองกำลังไปควบคุมใน 2 พื้นที่ ส่วนที่รับผิดชอบเรามีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านไทย-เมียนมา ชุมพร ระนอง และไทย-มาเลเซีย พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตอนนี้เราส่งกำลังเพิ่มเติมอีก 1 กองร้อยทั้ง 2 พื้นที่ มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ตามนโยบาย ผบ.ทบ.และ แม่ทัพภาคที่ 4 หลังจากที่เรามีกำลังตระเวนชายแดน กองกำลังชุดเข้าตรวจเขตแดน กองกำลังเทพสตรี ที่เรามีอยู่แล้ว เรายังส่งกำลังไปเพิ่มอีกตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา เราพยายามสกรีนป้องกันไม่ให้มีการข้ามมาถ้ามีการข้ามมาเราต้องจับกุมให้ได้ ในห้วงที่ผ่านมาเรามีการจับกุมได้ต่อเนื่อง 4-5 วันที่ เราจับกุมได้ 7 คนบ้าง 13 คนบ้าง 8 คนบ้าง จับกุมได้ก็ประสานสาธารณสุขตลอด ในส่วนของชาวต่างชาติ หลังจากดำเนินตรวจคัดกรองโควิดแล้ว ไม่มี เราก็ส่งต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป
ในส่วนของการผลักดันเป็นหน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เขาจะผลักดันช่องทางไหนก็จะมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเป็นคนเมียนมา ก็ใช่ช่องทาง จ.ระนอง คนลาวก็จะผลักดันฝังทั้งภาคอีสาน เรามีขั้นตอนในการผลักดันอยู่ โดยรวมเราสกัดกั้นเต็มขีดความสามารถ ซึ่งช่องทางธรรมชาติ ตลอด 2 ช่องทางทั้งตอนบน 254 กม. ทางตอนล่าง 647 กม.รวมแล้วร่วม 1,000 กิโลที่อยู่ในความรับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นช่องทางธรรมชาติที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่เป็นช่องทางที่สามารถข้ามได้ ลำน้ำบางครั้งถ้าหน้าแล้งเขาก็สามารถเดินข้ามได้ อย่างในส่วนของลำน้ำโก-ลก ตอนนี้น้ำเยอะเขาก็ต้องใช้เรือข้ามมาก็ถือเป็น การสกัดกั้นอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบเข้ามา
พล.ต.ศานติ กล่าวอีกว่า เราทำงานอย่างเต็มที่นอกจากนี้เรามีการสร้างความตระหนักรับรู้และมีกำลังภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านชรบ.ต่างๆ โดยเฉพาะ อสม. ได้สร้างความตระหนักรู้ให้รับทราบว่าโควิด นั้นเป็นภัยร้ายแรงขนาดไหน เกิดขึ้นแล้วผลมันเป็นอย่างไร ถ้าสมมุติว่า มีการหลุดรอดเข้ามาได้ ก็จะมีกำลังเหล่านี้ ที่เป็นหลักที่สามารถช่วยแจ้งเตือนกับเราได้ ที่เคยเจอในครั้งที่ มีการหลุดรอดไปได้สัก 10 คน แล้วหลบอยู่ตามชายป่า เพื่อรอใครมารับหรือรอรถมารับ ได้มีชาวบ้านมาเจอ ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ดำเนินการมาแจ้งมาที่เรา เราก็จะดำเนินการจับกุม ซึ่งกรณีอย่างมีเราจับได้เยอะมาพอสมควร ทั้งหมดเป็นการร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชน เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
@@EU ดึง 6 หมู่บ้านชายแดนใต้ นำร่องโครงการรับมือโควิด19
วันที่ 21 ธ.ค.63 ที่ห้องประชุมพญาอินทิรา ชั้น 2 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี นายแพทย์อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดกิจกรรมโครงการสร้างความเข้าใจ 6 พื้นที่เป้าหมายเตรียมพร้อมรับมือและฟื้นฟูผลกระทบ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้ โดยมีสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สหภาพยุโรป (EU) ร่วมสนับสนุน
ว่าที่ ร.ต.อิสมาแอ มาหะ ผู้จัดการโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก "เซฟเดอะชิลเดร์น" ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป หรือ EU ในการดำเนินงานโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด19 ในกรณีฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน และเพื่อเตรียมความพร้อมชุมชนให้มีความสามารถรับมือกับภัยพิบัติการแพร่ระบาดโควิด19 ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ จำนวน 22 เดือน เริ่มวันที่ 1 ก.ย.63 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.65 มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 6 พื้นที่ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 1.บ้านศาลาสอง ม.4 ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 2.บ้านโสร่ง ม.3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 3.บ้านบาโงยซิแน ม.2 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา 4.บ้านแยะ ม.3 ต.จอเบาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส 5.บ้านกรือซอ ม.4 ต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส และ 6.ชุมชนยะกัง ม.2 ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส
นายอดินันต์ นือเร็ง ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทางสมาคมฯ ได้เลือกหมู่บ้านเป็นพื้นที่นำร่องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด19 เพราะที่ผ่านมา ในพื้นที่ ม.2 บาโงซิแน เคยเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านต่างตกใจกับตัวเลขผู้ป่วย 40 คนที่เครื่องตรวจโควิดตรวจพบในวันเดียว แต่สุดท้ายทุกคนก็โล่งใจเมื่อพบว่า เครื่องตรวจมีปัญหา ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดในพื้นที่ ม.2 มีการปิดพื้นที่ ห้ามเข้าออกพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน มีประสบการณ์ในการจัดหาวิธีการรับมือ สถานการณ์ในตอนนั้นได้
แต่ครั้งนี้จะได้มาเรียนรู้ในการรับมือกับสถานการณ์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ไม่ใช่เฉพาะโควิด เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า ในอนาคตจะมีอะไรระบาดอีก อย่างที่โควิด19 ระบาด ก็ไม่มีใครคาดคิด ในเบื้องต้นเราควรมีวิธีจัดการปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นได้ จะนำพาชาวบ้านรอดจากสถานการณ์ได้
นายอดินันต์ กล่าวอีกว่า ก็มีความหวังว่า ทางเราจะได้รับความรู้ในการเฝ้าระวังและสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้หากเกิดการระบาดอีกในพื้นที่ รวมทั้งสามารถนำ ความรู้มาใช้ได้จริง โดยเฉพาะการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนที่กลับจากมาเลเซียที่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งเชื่อว่า ทุกพื้นที่ประสบกับปัญหานี้ และต่างต้องการการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ