"กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ" พร้อมตัวแทนจาก 3 ตำบล บุกยื่น 20,000 รายชื่อถึงนายกฯ จี้ทบทวนมติชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรม ด้าน "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" เตือนรัฐบาลทำตามข้อตกลงอย่างจริงใจ ขู่ถ้าเบี้ยวออกมาเคลื่อนไหวต่อทันที
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 16 ธ.ค.63 นายอัฐนนท์ เส็มยามา ประธานกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ พร้อมผู้แทนชาวบ้านจาก 3 ตำบลของพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ( ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ) จำนวน 18 คน ได้เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.เรื่องการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ พร้อมกับยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ จำนวน 20,000 รายชื่อ โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ
นายอัฐนนท์ เส็มยามา ประธานกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ กล่าวว่า เนื่องจากทางกลุ่มฯเป็นลูกหลานชาวจะนะที่รวมตัวกันเพื่อต้องการเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับคนในชุมชน อันเนื่องจากการที่รัฐบาลมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในพื้นที่ จ.สงขลา ทางกลุ่มฯได้มีการปรึกษาหารือและได้ลงพื้นที่ในการถามความคิดเห็นของชาวบ้านทั้ง 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ซึ่งเป็นพื้นที่ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ และ 2 ตำบลใกล้เคียง คือ ต.จะโหนง ต.บ้านนา มากกว่า 30 เวที ทางกลุ่มฯมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันกับชาวบ้าน จึงได้ข้อสรุปว่า หากการพัฒนาในครั้งนี้ชุมชนได้มีส่วนร่วมด้วย ก็พร้อมจะสนับสนุน แต่หากไม่ได้มีส่วนร่วมก็พร้อมจะคัดค้าน เพราะเป็นส่วนได้ส่วนเสียของทุกคนในพื้นที่
ชาวบ้านจึงได้มีข้อเสนอไปยัง ศอ.บต. เมื่อวันที่ 11 ก.ค.63 ซึ่งเป็นเวทีที่ทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบยื่นขอจัดคู่ขนาน เพราะไม่อยากให้ผู้เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยต้องเผชิญหน้ากัน จึงส่งหนังสือขออนุญาตจัดการประชุมในครั้งนี้ โดยการประชุมในครั้งนั้น ทางคณะชุมชนทั้ง 8,000 คน ที่มาจาก 5 ตำบลของ อ.จะนะ ได้มีข้อเรียกร้องว่า ต้องการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 เมกกะวัตต์ เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในชุมชน และเป็นการเยียวยาในส่วนที่ชุมชนต้องเสียไปอันเนื่องจากการพัฒนาฯครั้งนี้
ต่อมาทาง ศอ.บต.รับปากว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พร้อมกับวาระนำเสนอผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 11 ก.ค.63 และทาง กพต.ก็รับเรื่องที่ ศอ.บต.ได้นำเสนอไว้ และมีมติว่า ให้ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 เมกกะวัตต์ (ตามหนังสือที่ นร 5202/3959 ลงวันที่ 14 ส.ค.63) โดยมอบหมายให้ ศอ.บต.ได้ทำงานคู่กับสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เพื่อเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนกับการพัฒนาในขั้นตอนนี้ ทางชุมชนก็ได้ดำเนินการในการจดทะเบียนกลุ่มเป็น บริษัท จะนะชุมชนต้นแบบ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้มีสถานะในการดำเนินกิจการขนาดใหญ่ได้และรองรับสมาชิกมากกว่า 20,000 คน สร้างรายได้ที่มั่นคงแก่คนในชุมชน
ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบจึงเสนอให้ ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพต. นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม กพต.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป
@@จะนะรักษ์ถิ่น ขู่รัฐเบี้ยวจ่อเคลื่อนไหวซ้ำ
วันเดียวกัน ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ทางกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง "รัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อตกลงอย่างจริงใจ เพื่อสร้างทางออกในการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ" โดยมีเนื้อความในแถลงการณ์ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 และได้นำข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเข้าที่ประชุมเพื่อแจ้งให้ ครม.รับทราบผลหารือการแก้ปัญหา ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นประกอบด้วยประเด็นหลักๆ ดังนี้
1.เสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทุกฉบับ และให้คณะกรรมการผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
2.เสนอให้จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จังหวัดสงขลา โดยแต่งตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการที่เหมาะสม ตามที่ภาคประชาชนเสนอ เพื่อร่วมวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งการคัดเลือกผู้ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและนักวิชาการด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้รับทราบรายงานผลการหารือฯ ดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะเดียวกันนี้ได้มีการสั่งระงับการจัดเวทีประชุมคณะกรรมการผังเมือง (ระดับชาติ) ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เตรียมจะจัดขึ้นในวันเดียวกันนี้ (15 ธ.ค.) ออกไปก่อน และตัวแทนรัฐบาลได้ประสานให้บริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยกเลิกเวทีศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 ม.ค.64 ออกไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ และมีการดำเนินการตามกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
พวกเรา “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญกับปัญหาประชาชนที่เกิดขึ้นใน อ.จะนะ จ.สงขลา ในกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะและขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและพี่น้องประชาชนทั่วไป รวมถึงองค์กรภาคี เครือข่ายต่างๆ และสื่อมวลชนที่ได้ออกมาสนับสนุนพวกเราในทุกรูปแบบไว้
โอกาสเดียวกันนี้พวกเราจะติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหากการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ พวกเราพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวตามแนวทางสันติวิธีอย่างเต็มกำลัง และจะยกระดับข้อเสนอให้มีการ "ยกเลิก" โครงการนี้ในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยจะร่วมกับองค์กรภาคีทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย ที่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเราต่อไป