กลายเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ นั่นก็คือกรณีเจ้าหน้าที่ ตม. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จับกุมชาวลาวที่ไปเป็นแรงงานประมงในประเทศมาเลเซีย ขณะลักลอบเข้าประเทศไทย โดยหลบเลี่ยงการตรวจคัดกรองโควิด-19 แล้วใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดที่ประเทศลาว
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ เจ้าหน้าที่ ตม.จับกุมชาวลาวลักลอบเข้าเมืองได้ที่สถานีขนส่ง ทั้งสถานีขนส่งปัตตานี และสถานีขนส่งหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยที่ปัตตานี เจ้าหน้าที่จับกุมชาวลาวลอบเข้าเมืองได้ 2 คน ขณะกำลังรอขึ้นรถตู้โดยสารเตรียมเดินทางไปหาดใหญ่ การจับกุมชาวลาว 2 คนนี้เป็นการขยายผลจากการจับกุมชาวลาวอีก 20 คนที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ ช่วง 2-3 วันก่อนหน้า โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มลักลอบเข้าเมืองโดยใช้เสันทางธรรมชาติ จึงไม่ผ่านด่านคัดกรองโควิด-19 ซึ่งจะต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการของทางการไทย
ที่สำคัญชาวลาวเหล่านี้น่าจะเข้ามาเลเซียแบบผิดกฎหมาย ฉะนั้นขาออกจึงไม่สามารถเดินทางผ่านด่านศุลกากรซึ่งเป็นช่องทางปกติได้ ต้องใช้วิธีลักลอบข้ามแดนผ่านไทยเพื่อกลับมาตุภูมิ
สอบปากคำชาวลาวที่ถูกจับกุมได้ความว่า ทำงานเป็นลูกเรือประมงอยู่ในประเทศมาเลเซีย เมื่อมีสถานการณ์โควิดระบาด ทางการมาเลย์ปิดประเทศ ทำมาหากินยากขึ้น และมาเลเซียก็มีการระบาดใหญ่หลายรอบ จึงต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดที่ประเทศลาว โดยมีขบวนการรับจ้างช่วยเหลือในการเดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางการตรวจคัดกรองโควิด-19 แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ "ขบวนการนำพา" คนละ 30,000 บาท ใช้เส้นทางธรรมชาติบริเวณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้วต่อรถมาเป็นทอดๆ ปลายทางที่หาดใหญ่
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า หลังจากมาเลเซียและไทยพร้อมใจกันปิดด่านพรมแดนทุกด่านตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในส่วนของทางการไทยได้เปิดด่านพรมแดนเป็นกรณีพิเศษเพื่อรับเฉพาะคนไทยที่ต้องการกลับภูมิลำเนา และตรึงกำลังตามแนวชายแดน เน้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นพิเศษ เนื่องจากมีช่องทางธรรมชาติที่กลุ่มลักลอบข้ามแดนนิยมใช้ เพราะมี "ท่าข้าม" ที่เป็นท่าเรือข้ามฟากของชาวบ้านถึง 14 แห่ง บางจุดเป็นร่องน้ำตื้น สามารถลุยน้ำข้ามได้ (อ่านประกอบ : เส้นทางสายชีวิต หนีทุกข์โควิด...ถูกหลอกจากมาเลย์ถึงขอบแผ่นดินไทย, ภาพประทับใจ...ทหารพรานแบ่งข้าวให้แรงงานไทยข้ามฝั่งจากมาเลย์)
ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนไทยเดินทางกลับจากมาเลเซียแล้ว เพราะที่ผ่านมากลับมากว่าหมื่นคนขณะนี้จึงเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ เช่น ลาว เมียนมา และโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่ข้ามไปเป็นแรงงานประมงในประเทศมาเลเซีย และต้องการกลับบ้าน
วิธีการจะมี "ขบวนการนำพา" จากฝั่งมาเลเซีย พาเดินทางมาส่งที่ชายแดนด้านที่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ระยะหลังมุ่งไปที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพราะด้าน อ.สุไหงโก-ลก กับ อ.แว้ง มีการวางกำลังตลอดแนวแล้ว
เมื่อ "ขบวนการนำพา" ฝั่งมาเลเซีย นำชาวลาวมาส่งที่ฝั่งตรงข้าม อ.ตากใบ ก็จะมีเครือข่ายที่เป็นคนไทย พาลงเรือข้ามแม่น้ำตากใบมาขึ้นฝั่งไทย ด้าน ต.ตาบา และตำบลใกล้เคียง
จากนั้นจะมีรถจักรยานยนต์มารับ เพื่อขี่ไปส่งที่ท่ารถในตัวเมืองนราธิวาส ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อไปถึงนราธิวาส ก็จะมีคนแนะนำให้ขึ้นรถต่อไปที่ปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางรถตู้โดยสารของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อหารถตู้ต่อไปยังหาดใหญ่ จ.สงขลา
ที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ จะมีเครือข่ายมารอรับ และพาไปต่อรถทัวร์หรือรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เพื่อนั่งรถ บขส.ต่อไปยังจังหวัดชายแดนที่จะข้ามไปฝั่งลาวอีกที ซึ่งมีทั้่งจังหวัดทางภาคเหนือ และอีสานของไทย
แต่ละจุดที่เป็นจุดพักชาวลาว จะมีนายหน้าและเครือข่ายรับ-ส่งเป็นทอดๆ ใช้รถจักรยานยนต์บ้าง รถปิคอัพบ้าง ตลอดเส้นทาง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาทต่อหัวต่อคน ผู้ที่เกี่ยวข้องมีทั้งชาวมาเลเซีย ชาวไทย และเจ้าหน้าที่นอกแถวที่รู้เห็นเป็นใจ หรือคอยเปิดทางให้ลักลอบข้ามแดนและเดินทาง
ส่วนชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน จ.สงขลา ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ ก็มีขบวนการนำพาลักษณะนี้เช่นกัน แต่เส้นทางลำบากกว่า และมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลย์ เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีเหตุยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่มาเลย์กับกลุ่มลำเลียงใบกระท่อม ทำให้ตามแนวชายแดนต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ (อ่านประกอบ : เปิดพฤติการณ์แก๊งขนกระท่อมข้ามแดน หลังยิงปะทะ-ดับ จนท.มาเลย์)
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า แรงงานที่หลบหนีเข้ามา เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยที่หลุดมาถึงหาดใหญ่ ส่วนใหญ่เข้าประเทศไทยทาง จ.นราธิวาส เมื่อเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านเห็นก็จะแจ้งให้ทางราชการทราบ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มีการลักลอบเข้าเมือง โดยจะมีคนไทยในพื้นที่คอยให้ความช่วยเหลือด้วย
ล่าสุดได้มีการประชุมสั่งการกำชับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นแบ่งการเฝ้าระวังเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกตามเขตชายแดน ก็เพิ่มความเข้มงวดอย่างเต็มที่ โดยมีกำลังทหารปฏิบัติหน้าที่เป็นหลัก ส่วนเขตแดนในแต่ละพื้นที่ ทางอำเภอและชาวบ้านจะร่วมกันเฝ้าระวัง
ขณะที่ฝ่ายตำรวจ ได้มีวิทยุสั่งการให้ทุก สภ.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มการลาดตระเวน และเน้นตรวจสอบตามสถานีขนส่ง รถตู้ และรถบัสโดยสาร เพื่อสกัดการลักลอบข้ามแดน ซึ่งเสี่ยงนำโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทย
--------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ปัตตานีรวบ 2 แรงงานหนีตรวจโควิดเข้าไทย ขยายผลจากหาดใหญ่จับอีก 20
ขอบคุณ : ภาพกราฟฟิกโดย เกม เนชั่นทีวี