"คนเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะศาลยังไม่ตัดสิน การที่เอารูปไปประจานทำให้คนตีตราไปแล้วว่าเขาทำผิด และมันก็ไม่ได้กระทบแค่ต่อคนพวกนี้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ปัญหาคือครอบครัว ทำให้มีปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กๆ เวลาเด็กไปโรงเรียน คนก็จะล้อ"
นี่คือทัศนะของ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีต่อป้ายไวนิลขนาดใหญ่ติดภาพผู้ต้องหาคดีความมั่นคงตามริมถนนสายหลัก สี่แยก และบริเวณด่านความมั่นคง รวมทั้งด้านหน้าฐานปฏิบัติการของฝ่ายกองกำลังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ป้ายเหล่านี้มีจำนวนมาก และประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ที่สัญจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เห็นกันจนชินตา ทั้งหมดเป็นภาพใบหน้าบุคคลที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง โดยภาพบุคคลแต่ละคนนั้น มาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร หรือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้ายที่ติดแต่ละพื้นที่มีจำนวนและภาพบุคคลแตกต่างกันไปตามบัญชีรายชื่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่นั้นๆ
การจัดทำป้ายประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงติดตั้งตามที่สาธารณะต่างๆ มีมาตั้งแต่ปี 59 โดยคดีแรกๆ เป็นภาพผู้ต้องหาสำคัญ 2 ราย คือ นายซอบือรี เจะหะ กับ นายมะหะมะ สาอิ ติดตั้งบริเวณตลาดปาลัส อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี รวมทั้งพื้นที่สาธาณะอื่นๆ เช่น สถานีจอดรถโดยสาร สถานีรถไฟ หน้าโรงเรียน และหน้าร้านสะดวกซื้อ
สาเหตุที่เลือกติดภาพประกาศจับ 2 รายนี้ เพราะเป็นผู้ต้องหาในคดียิง ครูสุณิสา บุญเย็น เสียชีวิต และ ครูชฎพร ศรีเส้ง ครู กศน.ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ต.ค.59 ซึ่งถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจับภาพเอาไว้อย่างชัดเจน โดยทั้ง 2 คนยังเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียิง น.ส.สายใจ ทองดี ได้รับบาดเจ็บสาหัส และ น.ส.รัตติกาล จ่าวัง หญิงท้องแก่ใกล้คลอด เสียชีวิตพร้อมลูกในท้อง ที่ตลาดปาลัส เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ปีเดียวกันด้วย (อ่านประกอบ : จับเพิ่ม "ก๊วนบูดูบอมบ์" ญาติโวยหิ้วหาย ใต้ขึ้นป้ายประกาศจับยิงครู-คนท้อง)
ต่อมา นายซอบือรี เจะหะ เสียชีวิตจากเหตุยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันอังคารที่ 10 เม.ย.61 โดยก่อนถูกวิสามัญฆาตกรรม นายซอบือรี เคยขับรถสวนกับรถเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และมี อส.คนหนึ่งจำหน้านายซอบือรีได้ จึงเคยยิงปะทะกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เจ้าตัวหลบหนีไปได้ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ฝ่ายความมั่นคงเห็นความสำคัญของการติดตั้งป้ายประกาศจับผู้ต้องหาคดึความมั่นคง เพราะช่วยให้คนจำหน้าได้ และแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นตัวผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย
แต่อีกด้านหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชนและคนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย และมีการวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องกันมานาน โดยเฉพาะข้อมูลบนป้ายที่ไม่อัพเดท ผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกจับกุมหรือเสียชีวิตจากการปะทะไปแล้ว แต่กลับไม่มีการลบข้อมูล
เสียงเรียกร้องล่าสุดมาจาก นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ได้เขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียว่า ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ให้มีการนำป้ายหมายจับของผู้ต้องหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากจุดที่ติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นด่านตรวจ หรือตามจุดแยกริมถนน โดยให้ความเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และระบุว่ากำลังตรวจสอบคำสั่งการสั่งปลดป้ายดังกล่าว
แม่ทัพ 4 สั่งปลดภาพโปรโมทนาย - เก็บป้ายประกาศจับ
การเคลื่อนไหวของ ส.ส.อดิลัน เป็นช่วงที่มีข่าวแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สั่งปลดป้ายประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงพอดี โดยจากการตรวจสอบล่าสุดของ "ทีมข่าวอิศรา" เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 ปรากฏว่าไม่มีป้ายประกาศจับเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว
พ.อ.วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 ต.ค. 63 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้ทยอยปลดป้ายเรื่อยมา แต่เหตุผลของคำสั่งปลดป้าย ไม่ได้มาจากการเรียกร้องของ ส.ส.อดิลัน เท่านั้น
"ป้ายไวนิลติดภาพบุคคลที่มีหมายจับ เป็นความรับผิดชอบในส่วนของกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดทำขึ้น โดยท่านแม่ทัพได้สั่งการเรื่องนี้ในการประชุมประจำสัปดาห์เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พ.ย. ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ ส.ส.อดิลัน มาเรียกร้องโดยตรง แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อีก ซึ่งท่านได้สั่งการรวมไปถึงป้ายไวนิล และคัทเอาท์ต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในพื้นที่ด้วย ซึ่งท่านให้เน้นว่าป้ายคัทเอาท์และภาพไวนิล ให้เน้นข้อความตัวอักษรเป็นสำคัญ ไม่ต้องเน้นภาพผู้บังคับบัญชา พื่อเป็นการสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าที่จะนำเสนอภาพผู้บังคับบัญชา"
"จากนั้นท่านก็เลยพูดรวมไปถึงป้ายประกาศบุคคลตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ จ.ยะลา เท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้ง 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้ปลดให้หมด เนื่องจากตรวจพบว่าตามภาพประกาศนั้น บางจุดในบางประกาศ บุคคลที่อยู่ในภาพบางคนเสียชีวิตไปแล้ว บางคนก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และบางคนศาลพิพากษายกฟ้องเรียบร้อยแล้ว แต่ยังปรากฏภาพอยู่ จึงกระทบต่อความรู้สึกของญาติพี่น้อง ครอบครัว และบุคคลที่ปรากฏตามภาพ ท่านจึงสั่งให้ปลดลงก่อน และสั่งการไปที่กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พิจารณาปรับปรุงให้มีความทันสมัย ไม่ต้องมีบุคคลทั้งหมดที่มีหมายจับ ซึ่งมีเยอะในพื้นที่ แต่ให้ขึ้นป้ายเฉพาะรายละเอียดสำคัญ เพื่อเกิดประโยชน์กับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่สามารถรับรู้ได้เวลาผู้ต้องหาผ่านด่าน" รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุ
พ.อ.วัชรกร บอกด้วยว่า ในพื้นที่่มีด่านความมั่นคงทั้งหมด 23 ด่าน และตามทางแยกหลักๆ ในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันให้ปลดลงทั้งหมดแล้ว สำหรับในส่วนของผู้ที่มีหมายจับ แต่ยังไม่ถูกจับ และคดียังไม่ถึงที่สุด แม่ทัพภาคที่ 4 ก็มอบหมายให้กองกำลังตำรวจพิจารณาว่าจะทำอย่างไร โดยจะประชุมเพื่อหาข้อยุติอีกครั้งว่าจะติดตั้งอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ที่ท่านสั่งแน่ๆ คือให้ปลด และให้ปรับปรุง" พ.อ.วัชรกร กล่าวย้ำ
กำลังพลขานรับ - ลั่นไม่กระทบกับการปฏิบัติงาน
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ตรวจสอบด่านตรวจที่เป็น "ด่านความมั่นคง" พบว่าทุกด่านได้ปลดป้ายประกาศจับลงทั้งหมดแล้ว
เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านความมั่นคงรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปลดป้ายมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว และคิดว่าคงไม่มีผลอะไรกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะมีแฟ้มข้อมูลอยู่ทุกพื้นที่ว่าใครเป็นใคร และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ก็มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณด่านต่างๆ เพื่อตรวจสอบบุคคลที่ผ่านด่านอย่างละเอึยด
"โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่ก็มีเทคนิคของเราที่ทำให้รู้ได้ว่าใครเป็นใคร สมมติว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดใหม่มาปฏิบัติงานแทน ก็สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใคร เพราะเรามีแฟ้มข้อมูลอยู่ มีแผนปฏิบัติงานที่รัดกุม สามารถทำงานต่อเนื่องได้" เจ้าหน้าที่ทหาารยืนยันเรื่องผลกระทบการทำงานว่าไม่มีแน่นอน ส่วนเรื่องบรรยากาศ เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นบวก
"ผมคิดว่าปลดป้ายแล้วดีขึ้นนะ บรรยากาศดีขึ้น สายตาของผู้ขับขี่ที่มองเจ้าหน้าที่ก็ดีขึ้น โดยเฉพาะญาติพี่น้องของบุคคลในภาพประกาศจับ คงรู้สึกสบายใจขึ้นกว่าเดิม"
ทหารรายนี้บอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตามด่านต้องทำงานหลายมิติ ที่สำคัญต้องพบปะผู้คนตลอด ต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชนที่ผ่านไปมา มีจิตวิทยา มีไหวพริบที่ดี ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่ตามด่านทุกคนก็มีความสามารถ มีความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่มากพอสมควร และด่านความมั่นคงไม่ได้ทำงานแค่ความมั่นคงอย่างเดียว แต่ยังต้องตรวจสอบทุกเรื่อง ทั้งยาเสพติด ภัยแทรกซ้อน อุบัติเหตุ รวมไปถึงงานมวลชนด้วย เรียกว่าทำทุกอย่างตามที่ได้รับการร้องขอมา และที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ
นักสิทธิฯกังวลอัพเดทข้อมูลแล้วขึ้นป้ายใหม่ ชี้ละเมิดสิทธิ์
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเคยเรียกร้องให้ปลดป้ายประกาศจับมานานหลายปี กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เท่าที่ติดตามมาตลอด เหมือนกับว่า กอ.รมน.ภาค 4 ติดรูปผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไว้เพื่อประจานและทำให้อับอายมากกว่าที่จะติดตามหาตัวจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีรูปไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ออกนอกประเทศไปแล้ว และเคยมีชาวบ้านไปร้องเรียนด้วยว่า มีการเอารูปพ่อไปติด ลูกๆ เดินไปโรงเรียนแล้วจะถูกล้อ แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่เคยใส่ใจ ทั้งๆ ที่มีผลกระทบอย่างมาก
คนเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าศาลยังไม่ตัดสิน การที่เอารูปไปประจานทำให้คนตีตราไปแล้วว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิด และมันก็ไม่ได้กระทบต่อคนพวกนี้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ปัญหาคือครอบครัวของเขายังอยู่ ทำให้มีปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กๆ เวลาเด็กไปโรงเรียน คนก็จะล้อ
"ก็ต้องบอกว่าเห็นด้วยที่เอาป้ายไวนิลที่มีรูปคนออกทั้งหมด ถือว่าเป็นไปตามสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาทุกคน เพราะก่อนที่ศาลจะตัดสิน ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์" อังคณา กล่าว
แต่ประเด็นที่อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความกังวลก็คือ แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้สั่งยกเลิกการติดป้ายแบบถาวร แต่แค่อัพเดทข้อมูลให้ทันสมัย แล้วก็จะติดตั้งป้ายใหม่ขึ้นมาอีก
"แม่ทัพออกมาบอกว่าบางคนตายไปแล้ว บางคนอาจจะถูกวิสามัญฯ ให้เอาออก แล้วทำให้เป็นปัจจุบัน แล้วเอามาติดใหม่ ก็บอกเลยว่ามันก็ยังเหมือนเดิม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ละเมิดต่อบุคคลนั้นคนเดียว ครอบครัวและเด็กได้รับผลกระทบอย่างมาก"
อังคณา เสนอว่า เจ้าหน้าที่ควรใช้ความสามารถในการสอบสวนและนำคนเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ไปติดป้ายประกาศจับ เพราะเป็นลักษณะของการประจานและทำให้อับอาย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หนำซ้ำยังใช้ภาพจากบัตรประชาชน เป็นภาพถ่ายหน้าตรงด้วย ฉะนั้นจึงต้องรอดูกันต่อไป
------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายประกาศจับที่เคยติดอยู่ตามด่านความมั่นคง ริมถนน ทางแยกต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2 ป้ายประกาศจับป้ายแรกๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3 ประกาศจับ นายซอบือรี เจะหะ ซึ่งยังคงมีอยู่ก่อนถูกสั่งรื้อถอน แม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปแล้ว
4 บรรยากาศบริเวณ "ด่านความมั่นคง" ที่รื้อถอนป้ายประกาศจับออกไปแล้ว