ปี่กลองเลือกตั้งท้องถิ่นเชิดกันสนุก ผ่านไปแค่วันแรกสำหรับการเปิดสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ. ก็เริ่มพอเห็นเค้าลางว่าพื้นที่ไหนใครจะคว้าชัย หลังจากห่างหายจากบรรยากาศแบบนี้ไปมากกว่า 6-7 ปี
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน แม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อยาวนาน แต่เวทีเลือกตั้งท้องถิ่นดุเดือดเลือดพล่านทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยดีกรีความร้อนแรงน่าจะไม่แพ้พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
2 พ.ย.63 ที่ จ.ปัตตานี มีผู้สมัครเข้าชิงนายก อบจ.แล้ว 2 ราย นั่นก็คือ นายรุสดี สารอเอง อายุ 48 ปี อดีตสมาชิกสภา อบจ.เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.สายบุรี กับ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี อดีตนายก อบจ.ปัตตานี 3 สมัย โดยทั้งสองไปถึงสถานที่รับสมัครก่อนเวลา 08.30 น.ทำให้ต้องมีการจับฉลากเพื่อยื่นใบสมัคร และเลือกหมายเลขผู้สมัคร ปรากฏว่า นายรุสดี ได้หมายเลข 1 ขณะที่ นายเศรษฐ์ แชมป์เก่า ได้หมายเลข 2 ท่ามกลางผู้สนับสนุนและฝนที่ตกโปรยปรายมาตั้งแต่ช่วงเช้า
พื้นที่ จ.ปัตตานี มีเขตเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. หรือ ส.อบจ. ทั้งสิ้น 30 เขต มีสมาชิกได้เขตละ 1 คน แบ่งเป็น อำเภอเมืองปัตตานี 5 เขต อ.ยะรัง อ.ยะหริ่ง อำเภอละ 4 เขต อ.โคกโพธิ์ อ.สายบุรี อ.หนองจิก อำเภอละ 3 เขต อ.ปะนาเระ อ.มายอ อำเภอละ 2 เขต และ อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน อ.ทุ่งยางแดง อ.ไม้แก่น อำเภอละ 1 เขต
ศึกชิง นายก อบจ.ปัตตานี วัดบารมี "เด่น โต๊ะมีนา"
การลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.ปัตตานีในครั้งนี้ นักสังเกตการณ์การเมืองประเมินว่าน่าจะดุเดือดมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของประเทศเลยทีเดียว หาก นายเศรษฐ์ พลาดพลั้ง ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ "ล้มช้าง" เนื่องจากเจ้าตัวผูกขาดตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานหลายสมัย ถึงแม้ผู้ท้าชิงดูแล้วกระดูกคนละเบอร์ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะดีกรีเป็นถึงแกนนำหาเสียงของผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย จนสามารถฝ่าด่านหินเข้าไปเป็น ส.ส.ได้สำเร็จ (นายอับดุลบาซิม อาบู) และยังช่วยให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ลูกสาวของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทยด้วย
ว่ากันว่าศึกเลือกตั้งหนนี้ นายเด่น โต๊ะมีนา ก็มีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์ และสนับสนุนนายรุสดีด้วย ผลของการหย่อนบัตรจึงเท่ากับเป็นการวัดบารมีนายเด่นด้วย
ขณะที่ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ยังคงมีฐานเสียงที่แข็งแกร่ง แถมมีสายป่านยาว เพราะมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก ยากที่ผู้ท้าชิงจะเทียบได้ ซ้ำยังมีเครือข่ายผู้นำระดับตำบล หมู่บ้าน ค่อยให้การสนับสนุน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ แต่หากนายเศรษฐ์ประมาทเพราะคิดว่า "นอนมา" ก็มีสิทธิ์บอกศาลาได้เหมือนกัน
"มุขตาร์ มะทา" ตัวแทนบ้านใหญ่ลุ้นรักษาเก้าอี้
ที่ จ.ยะลา มีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.ในวันแรกเพียงคนเดียว คือ นายมุขตาร์ มะทา อดีตนายก อบจ.ยะลา ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่มายื่นใบสมัคร เป็นการสมัครรับเลือกตั้ง ส.อบจ. ซึ่งมีมากกว่า 30 ราย บางเขตมีผู้สมัคร 2 คนแล้ว
อบจ.ยะลา มีเขตเลือกตั้ง 30 เขต แบ่งเป็น อำเภอเมืองยะลา 10 เขต อ.เบตง 3 เขต อ.รามัน 5 เขต อ.กรงปินัง 2 เขต อ.ยะหา 4 เขต อ.ธารโต 1 เขต อ.บันนังสตา 4 เขต และ อ.กาบัง 1 เขต
สำหรับ นายมุขตาร์ สมัครในนาม "ทีมยะลาพัฒนา" เป็นน้องชายของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยนายวันมูหะมัดนอร์ และ ตระกูล "มะทา" ถือเป็น "บ้านใหญ่" ที่มีฐานเสียงหนาแน่นใน จ.ยะลา และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ปีที่แล้ว สามารถพาพรรคประชาชาติกวาด ส.ส.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากถึง 6 คน จากทั้งหมด 11 คน ถือว่าครองแชมป์ (อ่านประกอบ : ประชาชาติ-พปชร.ครองเก้าอี้ ส.ส.ชายแดนใต้ ปชป.พ่ายยับ!)
เหตุนี้เอง นายมุขตาร์ จึงมีแต้มต่ออย่างมากในการเลือกตั้งหนนี้ และยังไม่ชัดว่าจะมีใครหาญกล้ามาเป็นคู่แข่ง เพราะนอกจากจะเป็นน้องชาย "บ้านใหญ่" แห่งยะลาและดินแดนปลายสุดด้ามขวานแล้ว เขายังเป็นอดีตนายก อบจ.อีกด้วย เรียกว่าศึกครั้งนี้เป็นนัดรักษาเก้าอี้ของนายมุขตาร์
"กูเซ็ง ยาวอหะซัน" นอนมาที่นราธิวาส?
อีกหนึ่งจังหวัดที่ผ่านวันแรกด้วยการมีผู้สมัครนายก อบจ.แค่คนเดียว คือ จ.นราธิวาส โดยผู้ที่เดินทางมายื่นใบสมัครแบบเรียบง่าย คือ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ. 4 สมัย
การเลือกตั้งสภา อบจ.นราธิวาส มีจำนวน 30 เขตเลือกตั้งเช่นกัน มีผู้มีสิทธิ์หย่อนบัต 548,192 คน จากจำนวนประชากรทั้งจังหวัด 808,020 คน
นายกูเซ็ง เคยนั่งเก้าอี้นายก อบจ.ติดต่อกัน 4 สมัย ต่อเนื่องยาวนาน 16 ปี มีฐานเสียงใหญ่ที่สุดในจังหวัด ทั้ง ส.อบจ.เดิมที่สนับสนุนอยู่แล้ว รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ทั้งเทศบาล และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ขณะที่การเมืองระดับชาติ ก็มีลูกชายเป็น ส.ส.นราธิวาส ถึง 2 คน ได้แก่ นายกูเฮง ยาวอหะซัน กับ นายวัชระ ยาวอหะซัน แต่แยกกันอยู่คนละพรรค โดยนายวัชระผู้พี่ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วนนายกูเฮงผู้น้อง สังกัดพรรคประชาชาติ ถือเป็นการเมืองแบบ "บาลานซ์" ตามสไตล์ยาวอหะซัน
แต่เดิมตระกูลนี้มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคชาติไทย ตั้งแต่ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา หลังจากพรรคชาติไทยเดิมถูกยุบ กระทั่งระยะหลังจึงเริ่มขยับไปลงสมัครในสีเสื้อพรรคอื่นสำหรับสนามการเมืองระดับชาติ ทั้งพรรคประชาชาติ และพลังประชารัฐ
ส่วนผู้ที่มีข่าวว่าจะเปิดตัวท้าชิงกับนายกูเซ็ง มีชื่อ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.หลายสมัย และปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคประชาชาติ แต่จะลงสมัครในนามอิสระ อีกคนคือ นายรำรี มามะ อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง นายแพทย์ แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ "หมอแว" อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว.นราธิวาสคนดัง ได้คะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยก่อนลงเล่นการเมือง เขาเคยถูกซัดทอดว่าเป็นแกนนำขบวนการก่อการร้าย เคยถูกจับกุมและถูกคุมขังนานนับปี แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง
เมื่อแคนดิเดตผู้สมัครเป็นเบอร์ใหญ่ระดับนี้ ต้องดูว่าถ้าพวกเขาตัดสินใจก้าวสู่สนามจริง อดีตนายก อบจ.นาม "กูเซ็ง ยาวอหะซัน" จะยัง "นอนมา" อยู่อีกหรือไม่?