"เด็กๆ เคยไม่ชอบสามจังหวัด และไม่คิดจะมา เพราะเห็นข่าวความรุนแรงตลอด แต่พอโตขึ้นคิดว่าถ้ามีโอกาสเราจะลงมาช่วยชาวบ้าน"
เป็นประโยคบอกเล่าที่สะท้อนทั้งความรู้สึกและความตั้งใจของ อัมภาพร รอดนุช ที่ขึ้นรถทัวร์จาก จ.สุรินทร์ จังหวัดในภาคอีสานของประเทศไทย เดินทางนับพันกิโลฯเพื่อลงมาสอบคัดเลือกเข้าเป็นอาสาสมัครทหารพรานหญิง สังกัดกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้จะมียอดผู้สมัครสูงกว่า 1,000 คน และทางหน่วยรับได้จริงแค่ 15 คน แต่เธอก็ไม่ท้อ และขอร่วมลุ้น
"ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ลงมาในพื้นที่ ครั้งแรกลงมาสมัคร ก็ได้เจอน้องที่ปัตตานีที่มาสมัครด้วยกัน ตอนมาครั้งที่ 2 ออกเดินทางจากสุรินทร์ด้วยรถทัวร์วันที่ 22 ก.ย. ถึงปัตตานีเย็นวันที่ 23 น้องที่มาสมัครด้วยกันมารอรับ และให้ไปพักที่บ้านน้อง เพื่อจะเข้าสอบรอบแรกในวันศุกร์ 25 ก็หวังว่าจะผ่านการสอบเข้าไปได้ ก็พอรู้บ้างว่ารับ 15 คน สมัครเป็นพัน และจะขึ้นบัญชีไว้ 45 คน จะทำให้เต็มที่ เพราะชอบงานนี้มาก ได้ช่วยชาวบ้าน เป็นงานจิตอาสาที่มีศักดิ์ศรี จะภาคภูมิใจมากถ้าได้เป็นหนึ่งใน 15 คน"
อัมภาพร เล่าย้อนถึงความประทับใจในความเป็นทหาร ทั้งๆ ที่มีกระแสโจมตีทหารจากบางฝ่ายอยู่ตลอดเวลา
"ในหมู่บ้าน มีพี่คนหนึ่งที่มาเป็นทหารนาวิกโยธินนราธิวาส (ทหารพรานนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ) เห็นภาพพี่เขาแล้วรู้สึกภูมิใจ อยากมาทำหน้าที่ด้วย เดินทางมาสอบคนเดียว ทางครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ ไม่ได้ห้าม ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกหนักใจ ถ้าสอบได้และต้องมาทำหน้าที่ในพื้นที่นี้ เพราะคิดว่าเรามาช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อน"
ความรู้สึกของหญิงสาวจากนอกพื้นที่ ก็ไม่ต่างอะไรกับหญิงสาวในพื้นที่เองอย่าง รุซมีนา เด่นอุดม ชาว อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ที่ตั้งความหวังอยากเป็นทหารพราน
"พอทราบข่าวการเปิดรับสมัครทหารพรานหญิง ก็รีบชวนพี่มาสมัคร และกลับไปเตรียมร่างกายทุกวัน มีความหวังมากว่าจะได้เป็นทหารพรานหญิง ชอบงานลุยๆ เป็นงานอาสาที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย"
รุซมีนา บอกว่า ด้วยความตื่นเต้นและความตั้งใจที่จะเซอร์ไพรส์คนในครอบครัว การมาสมัครสอบทหารพรานครั้งนี้จึงยังไม่ได้เอ่ยปากบอกใคร
"ทางบ้านยังไม่ทราบ ตั้งใจว่าจะบอกครอบครัวตอนที่สอบได้แล้ว คิดว่าแม่ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นงานที่มีศักดิ์ศรี ส่วนตัวมองว่าการทำหน้าที่เป็นทหารพรานหญิงไม่น่ากลัว และสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจึงชอบงานนี้"
การสอบรอบแรกเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.ย.63 โดยมี พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าที่แม่ทัพคนใหม่ พร้อมด้วย พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บัญชาการกองกำลังทหารพรานชายแดนใต้ มาตรวจเยียมและให้กำลังใจหญิงไทยจากทั่วประเทศที่เข้ารับการสอบคัดเลือก
ยอดสมัครทั้งสิ้น 1,261 คน เข้าสอบจริง 1,077 คน ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี และมีปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ 2 คน วันแรกเป็นการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่ สถานีวิ่ง, ดันพื้น และลุกนั่ง ตามลักษณะที่ถูกต้องและตามเกณฑ์ที่กองทัพบกกำหนด หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็จะถือว่าไม่ผ่านการทดสอบ จะถูกตัดสิทธิ์ในการสอบภาควิชาการ และการสอบสัมภาษณ์ รวมทั้งจะมีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดในร่างกายด้วย (อ่านประกอบ : หญิงไทย 1,261 คนแห่สมัครทหารพรานใต้ รับได้จริงแค่ 15)
พล.ต.เกรียงไกร กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีน้องๆ ผู้หญิงมาสมัครกว่า 1 พันคน ถือเป็นปรากฏการณ์ และน้องๆ คงเห็นว่าการทำหน้าที่เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภารกิจร่วมกันของทุกภาคส่วน น้องๆ ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งถ้ามีส่วนร่วมได้ก็จะใช้โอกาสนี้ในการเข้ามาสร้างสันติสุข ถือเป็นความกล้าหาญ เพราะเป็นผู้หญิง แต่อาสามารับหน้าที่ตรงนี้
ขณะที่ พ.อ.คมกฤช กล่าวว่า รอบแรกจะคัดเลือกเหลือ 135 คน ทั้งหมดนี้จะสอบขั้นที่ 2 ในวันที่ 29 ก.ย. รับจริง 15 คน ส่วนตัวเลข 45 คนคือขึ้นบัญชีเอาไว้ การสัมภาษณ์จะดูความพร้อมและความสามารถที่น้องๆ ทำได้ แต่คนที่จบด้านนิติศาสตร์จะพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนคนที่จบปริญญาโท 2 คนด้านวิศวะที่มาสอบด้วยนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกติกา
ด้านรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่เป็นทหารพรานหญิง อส.ทพ.หญิงซัมซูนี แวสาเหาะ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 กล่าวว่า หน้าที่ของทหารพรานหญิงคือ "ทำทุกอย่าง" ทั้งทำความสะอาด ดูแลนาย ออกงานพบปะชาวบ้าน ทำกิจกรรมชาชัก หรือทำขนมแจก ปิดล้อม ตั้งด่านตรวจ ที่สำคัญคือทำหน้าที่ตรวจค้นผู้หญิง และเข้าไปพูดคุย ซึ่งผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ดีมากกว่า
"การทำหน้าทีตรงนี้ได้มารักษาชาติ ดูแลประเทศ ทหารพรานหญิงทำได้ทุกอย่าง เป็นครู เป็นพยาบาล เป็นแม่ครัว ตามที่ชุมชนต้องการให้เป็น ถือเป็นความอ่อนหวานซ่อนความแข็งแกร่ง แม้เราจะต้องเต็มที่กับหน้าที่ แต่ด้านศาสนกิจเราก็สามารถปฏิบัติได้เต็มที่เหมือนกัน"
สำหรับ อส.ทพ.หญิงซัมซูนี ด้วยความที่เป็นมุสลิม และจบนิเทศศาสตร์ บทบาทหน้าที่จึงเน้นงานด้านการประชาสัมพันธ์ การพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวบ้านบางคนฟังภาษาไทยไม่ออก การสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่น หรือภาษายาวี จะทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารและเข้าใจต่อกิจกรรมต่างๆ ได้มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ให้ให้ความร่วมมือและสามัคคีเป็นอย่างมาก เวลามีกิจกรรมต่างๆ ก็จะมาร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คนอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง
"สิ่งที่ประทับใจจากได้เข้ามาเป็นทหาร คือได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังพล ถึงแม้จะมาจากต่างถิ่น มาจากหลายพื้นที่ หลายภูมิภาค แต่ทุกคนมาใช้ชีวิตในรั้วทหาร เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คืออยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและปกป้องประเทศชาติ อยากทำให้พื้นที่ตรงนี้มีแต่ความสันติสุข"