"วันนี้ศาลตัดสินแล้วจากที่สู้มาตลอด รู้สึกดีใจมาก"
"เราต่อสู้มาสามศาล ชนะทุกศาล ดีใจที่พอจะได้เห็นความเป็นธรรมบ้าง จากที่ตอนแรกผู้บาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาแค่สี่แสนห้า ศาลสั่งจ่ายเพิ่มก็รู้สึกดีใจ"
นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวความรู้สึกของ ซอบรี บือราเฮง หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ และ รอพีฮะ ดอเลาะ แม่ของซอบรี และยังเป็นลูกสาวของ ผู้เฒ่ามะแอ ดอเลาะ ที่บาดเจ็บเช่นกันจากเหตุการณ์กราดยิงที่ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อปี 55 หลังจากต่อสู้คดีฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บมาอย่างยาวนานเกือบ 9 ปี เรียกว่าสู้จนถึงฎีกา (อ่านประกอบ : ฟังเสียงชาวบ้าน-เทียบข้อมูลทหาร...คลี่ปมเหตุการณ์"ฆ่า 4 ศพที่ปุโละปุโย")
โศกนาฏกรรมครั้งนั้นเป็นข่าวใหญ่สะเทือนประเทศ และเขย่าสถานการณ์ไฟใต้ให้คุกรุ่นร้อนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.55 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการของกองร้อยทหารพรานที่ 4302 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถกระบะของชาวบ้าน ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในรถถึง 9 คน ขณะกำลังเดินทางออกจากหมู่บ้านกาหยี หมู่ 1 ต.ปุโละปุโย เพื่อไปละหมาดศพ (การละหมาดให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ 4 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากหมู่บ้านกาหยีเพียง 500 เมตร บนถนนสายรองช่วงทางวนก่อนจะขึ้นสู่ทางหลวงแผ่นดินสายหลัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 4 ราย รอดคมกระสุนได้ 1 คน
ผู้เสียชีวิตประกอบด้วย นายสาหะ สาแม อายุ 67 ปี นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี และ นายหามะ สะนิ อายุ 56 ปี
ส่วนผู้ได้บาดเจ็บ 4 ราย คือ นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 74 ปี นายซอบรี บือราเฮง อายุ 20 ปี นายมะลูดิง แวกาจิ อายุ 15 ปี และ นายยา ดือราแม อายุ 58 ปี ส่วน นายอับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล) อายุ 15 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ไม่ได้รับบาดเจ็บ
กลุ่มผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายละ 7 ล้านบาทเมื่อวันที่ 29 พ.ค.55 ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เม.ย.55 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นเป็นประธาน ขณะที่เลขาธิการ ศอ.บต.คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ส่วนผู้บาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาเพียงคนละ 450,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายรู้สึกไม่พอใจ เพราะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่ม
คดีนี้เป็นคดีแพ่ง นายยา ดือราแม กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ซึ่งระหว่างการพิจารณามีการต่อสู้คดีว่า ในรถกระบะของชาวบ้านมีอาวุธปืนและปลอกกระสุน รวมทั้งมีการยิงใส่เจ้าหน้าที่ 2 นัดด้วย แต่ศาลเชื่อว่าปืนที่พบในรถกระบะไม่ได้เป็นของชาวบ้าน ประเด็นที่อ้างว่ามีการยิงใส่เจ้าหน้าที่จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุและผล ไม่อาจรับฟังให้เป็นที่ยุติได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารจึงเป็นการกระทำในลักษณะละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 5 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินใหม่ทดแทน ให้จำเลยทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์
สุดท้ายศาลฎีกามีคำพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ (ชาวบ้านผู้เสียหาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หรือสินไหมทดแทนจากกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเงินทั้งสิ้น 5,633,000 บาท โดยแบ่งสัดส่วนให้กับโจทก์ทั้ง 5 คนไม่เท่ากัน ขึ้นกับความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับ
คดีนี้เริ่มต้นฟ้องที่ศาลปกครองสงขลา แต่ต่อมามีการโอนคดีไปยังศาลจังหวัดปัตตานี เริ่มดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 58 กระทั่งคดีมาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.63
ส่วนคดีอาญา "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากผู้เกี่ยวข้อง พบว่า มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 โดยศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ก.ค.56 สรุปว่า จากพยานหลักฐานทำให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ สาเหตุเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากมีคนร้ายยิงฐานปฏิบัติการกองร้อย 4302 บ้านน้ำดำ หมู่ 2 ต.ปุโละปุโย เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้ออกติดตามผู้ก่อเหตุ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุพบรถกระบะที่ผู้เสียชีวิตโดยสารมา ต่อมาได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวและป่าข้างทาง จากนั้นมีหน่วยทหารเข้ามาสมทบ และมีการใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวอีก
ศาลเห็นว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามผู้ต้องสงสัย เมื่อนำมาประกอบกับรายงานชันสูตรบาดแผลศพของผู้ตายทั้ง 4 ที่ระบุว่าผู้ตายทั้ง 4 เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิง และพบรูกระสุนปืนทะลุรถกระบะหลายแห่ง เชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ถูกกระสุนปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร
ขณะนี้คดีอาญายังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกัน
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้เสียหายและครอบครัวเดินทางไปฟังคำพิพากษา