มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ประจำปี 2563 จำนวน 792 อัตราแล้ว โดยตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเปลี่ยนทั้งหมดทุกเหล่าทัพ เป็นนายทหารที่อยู่ในแคนดิเดตตามคาด
ได้แก่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ
ในส่วนของกองทัพบก มีการปรับทัพ "แม่ทัพ" ทุกภาค ได้แก่ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ท.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นแม่ทัพภาคที่ 2, พล.ต.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
สำหรับกองทัพภาคที่ 4 มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าแม่ทัพคนปัจจุบัน คือ "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ได้ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หลังนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 ครบ 2 ปี รอเกษียณอายุราชการในปีหน้า
ขณะที่ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ "บิ๊กเกรียง" ซึ่งเป็นรองแม่ทัพ และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ "บิ๊กเดฟ" มาโดยตลอด จะรับไม้ทำหน้าที่แม่ทัพดับไฟใต้ต่อไป รวมถึงภารกิจใหญ่เรื่องปราบปรามยาเสพติดซึ่งเป็นนโยบายที่ "บิ๊กเดฟ" ขับเคลื่อนมาตลอด 2 ปี
ประวัติของ พล.ต.เกรียงไกร เป็นชาว จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.06 อายุราชการยาวถึงปี 66 หรืออีก 3 ปีจึงจะเกษียณ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22) และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 33 (จปร.33) ติดยศร้อยตรีเมื่อปี 29 บรรจุครั้งแรกที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25 (ร.25 พัน 3) ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี
จากนั้นชีวิตราชการเติบโตอยู่ในกองทัพภาคที่ 4 เคยเป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 42, เสนาธิการจังหวัดทหารบกปัตตานี, รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15, รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5, ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 62 ก่อนผงาดขึ้นเป็นแม่ทัพในปี 63
พล.ต.เกรียงไกร ถือเป็นนายทหารสายบู๊ ถึงลูกถึงคน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง อย่างล่าสุดกับปฏิบัติการปิดล้อมและยิงปะทะ 7 ศพที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 14-16 ส.ค.63 "บิ๊กเกรียง" ก็ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง (อ่านประกอบ : ยะรังยังปะทะต่อเนื่อง คาดดับเพิ่มอีก 3 โยงทีมบึ้มเงือกสมิหลา!, จบปฏิบัติการปิดล้อมที่ยะรัง วิสามัญฯ 7 ศพ!)
ขณะเดียวกัน "บิ๊กเกรียง" ยังมีจุดเด่นเป็นมือประสานสิบทิศ มีคอนเนคชั่นหลากหลายวงการ และยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขดับไฟใต้ ตั้งแต่ยุค "บิ๊กเมา" พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จนถึงยุคปัจจุบันที่มี "บิ๊กลภ" พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯด้วย
นอกจากนั้น พล.ต.เกรียงไกร ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม แถมยังเข้าถึงง่าย เป็นกันเอง ไม่ถือตัว จึงถือว่าเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับจากแทบทุกภาคส่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คอรีเยาะ หะหลี ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งปัจจุบันช่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ พล.ต.เกรียงไกร ที่ผ่านมาก็ได้เคยร่วมงานกันตั้งแต่เป็นผู้การกรม จนถึงเป็นรองแม่ทัพ เห็นว่า พล.ต.เกรียงไกร มีบุคลิกเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย และทำงานจริงจัง แต่หลังจากเป็นแม่ทัพแล้วก็ต้องรอวัดใจดูว่าจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปปฏิบัติจริงแค่ไหน ซึ่งก็ต้องให้เวลาได้ทำงาน เพราะเชื่อว่า พล.ต.เกรียงไกร ก็ทราบปัญหาดีอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่มานาน
ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังดับไฟใต้ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 13 นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 เป็นต้นมา
------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหต : ภาพที่ 3 ให้การต้อนรับผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ตันสรี อับดุลราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย