ตั้งแต่รัฐบาลอนุมัติให้มีวันหยุดยาว โดยนำวันหยุดสงกรานต์มาชดเชยให้ หลังจากปลดล็อกมาตรการสกัดโควิด เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คลาคล่ำไปด้วยผู้คน รวมไปถึงวัดวาอารามต่างๆ ที่พี่น้องประชาชนเลื่อมใสศรัทธา
หนึ่งในนั้นคือ "วัดช้างให้" วัดเก่าแก่คู่เมืองปัตตานี อายุอานามหลายร้อยปี และเป็นส่วนหนึ่งของตำนาน "หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด" อันลือลั่น
ช่วงสถานการณ์ความไม่สงบกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวห่างหายไปจากวัดช้างให้ จากที่เคยมีคลื่นมหาชนมากราบไหว้บูชาวันละนับร้อยนับพันคน ก็เหลือเพียงหลักสิบ บางวันหลักหน่วย ขณะที่อีกหลายๆ วันมีเพียงทหารที่ถูกส่งลงมาประจำการเดินทางมาขอพรและขอเครื่องรางของขวัญเป็นกำลังใจในสมรภูมิที่ปลายด้ามขวานเท่านั้น
ความเงียบเหงาปกคลุมยืดเยื้อยาวนาน กระทั่งประเทศไทยและทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด จนความคึกคักของเศรษฐกิจและการเดินทางต้องหยุดชะงักลง ผู้คนล้วนต้องการกำลังใจ ทำให้ในช่วงโค้งสุดท้ายของโรคระบาด เมื่อรัฐบาลค่อยๆ ประกาศคลายล็อกมาตรการคุมเข้ม ปรากฏว่า ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดช้างให้ ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคน
ห้วงวันหยุดยาวช่วงต้นเดือนกันยายน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ถัดๆ มา วัดช้างให้ราษฎร์บูรณารามเนืองแน่นไปด้วยประชาชน เหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวต่างอุ้มลูกจูงหลานและพาครอบครัวเข้าวัดเพื่อทำบุญ กราบไหว้ และขอพรต่อหลวงปู่ทวด เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด และภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งขอให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นโดยเร็ว
สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ ก็ร่วมกันบริจาคเพื่อบูรณะปฏิสังขณ์ยอดพระเจดีย์ของวัด ด้วยหวังให้สำเร็จเสร็จสิ้นในเร็ววัน
ตามตำนานที่บันทึกไว้ที่วัด เรียกได้ว่าเป็น "ต้นกำเนิด" ของวัดช้างให้ เริ่มจากพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิษฐานปล่อยช้างออกเดินไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไป ตั้งจิตอธิษฐานว่าหากช้างหยุดตรงไหนก็จะสร้างเมืองที่ตรงนั้น
จนมาถึงวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ สถานที่ที่เป็นวัดช้างให้ปัจจุบันนี้ แล้วร้องขึ้นสามครั้ง พระยาแก้มดำจึงถือเป็นนิมิตที่ดี เตรียมใช้พื้นที่สร้างเมือง แต่น้องสาวกลับไม่ชอบ พระยาแก้มคำจึงให้สร้างวัดขึ้นแทน ให้ชื่อว่า "วัดช้างให้" แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า "ท่านลังกา" หรือ "สมเด็จเจ้าพะโคะ" หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปมาระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างให้ และได้สั่งลูกศิษย์ไว้ว่า เมื่อท่านมรณภาพ ขอให้นำสรีระสังขารของท่านมาฌาปนกิจที่วัดช้างให้ ซึ่งเมื่อท่านมรณะภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ก็ได้นำศพท่านมาทำการฌาปนกิจที่วัดช้างให้ อัฐิของท่านส่วนหนึ่งฝังไว้ที่วัด อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปเมืองไทรบุรี และภายหลังได้สร้างสถูปบรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ด้วย
สอบถามหลายคนที่เพิ่งมีโอกาสมาเยือนวัดช้างให้เป็นครั้งแรก ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกประทับใจ และสามารถเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมา ทำให้มีความมั่นใจที่จะสู้ชีวิตอีกครั้ง เพราะความศรัทธาและเชื่อในบารมีของหลวงปู่ทวด
จร แก้วหาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 2 จ.ยะลา บอกว่า พาลูกหลานเข้ามานมัสการกราบไหว้หลวงปู่ทวด เพราะรู้สึกผูกพันกับวัดช้างให้ ที่นี่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน
"ทุกคนต้องมาที่นี่ครับ ผมพาครอบครัวมาบ่อยมาก วันนี้ก็มากราบไหว้และขอพรตามปกติ เพื่อขอให้บารมีหลวงปู่ทวดช่วยเหลือ คุ้มกัน คุ้มครอง และทำให้เกิดความสุข ขอให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและสบายใจ ขอในสิ่งที่เป็นไปได้ ขอในสิ่งที่เป็นจริง จะทำให้สุขกายสบายใจ ชีวิตเราก็จะดีขึ้นครับ"
วิลาวัลย์ หมีไทย เดินทางมาไกลจาก จ.จันทบุรี และเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาปัตตานี เพราะบอกว่าจังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่น่าทึ่ง
"ปัตตานีเป็นจังหวัดที่ครบทุกรส ทุกเรื่อง เป็นเมืองที่น่าอยู่และพร้อมสำหรับต้อนรับแขกเหรื่อ อาคันตุกะ แขกบ้านแขกเมือง ถือว่าสมคำร่ำลือ ผู้คนน่ารัก รอยยิ้มจริงใจ อบอุ่น เป็นเมืองที่น่าสนใจและสวยงามมาก ที่สำคัญวิถีชีวิตผู้คน 2 ศาสนา อยู่กันอย่างรักใคร่ กลมเกลียว มีความสุขมากๆ ที่ได้มาสัมผัส ไม่เหมือนที่เห็นในข่าวเลย"
การเดินทางเยือน อ.โคกโพธิ์ ทำให้เห็นร่องรอยอารยธรรมของพุทธศาสนา ที่กลมกลืนกับวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม
"ได้เห็นร่องรอยอารยธรรม จากหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ และวัดทรายขาว โชคดีมากๆ ที่ได้ชมวิหารหินอ่อนของวัดทรายขาว ที่นี่มีเรื่องราววิถีชุมชน 2 ศาสนาที่ร่วมแรงร่วมใจสร้างมัสยิดโบราณควนลางา 300 ปี ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในชีวิต ไม่เคยรู้เลยจริงๆ ว่ามีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ใครที่มาท่องเที่ยวต้องประทับใจแน่นอน ปัตตานีมีดีจริงๆ"
ถือเป็นบทสรุปที่ไม่ต้องการถ้อยคำแต่งเติมใดๆ...